นอกจากฟ้าทะลายโจรที่นับได้ว่าเป็นสมุนไพรไทยที่จะมาเป็นยาในการรักษาโควิด-19 แล้ว สมุนไพรไทยที่กำลังเป็นพูดถึงอย่างมากในการรักษาอาการโควิด-19 นั้นก็คือ “กระชาย”

ผ่านไปแล้วหลายวันครับ ในการใช้มาตรการสูงสุดของรัฐบาลโดยการล็อกดาวน์ ในจังหวัดที่มีสีแดงเข้มหลายจังหวัด และมีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยมีแนวโน้มที่จะขยายมาตรการที่เข้มข้นนี้ออกไป ทั้งระยะเวลาและพื้นที่ในการบังคับใช้ อีกด้วย อย่างไรก็ตามผลจากการใช้มาตรการแบบเข้มข้นของรัฐบาลในรอบนี้ ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเห็นทางสว่างที่ปลายอุโมงค์เลย เนื่องจากจำนวนยอดผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นว่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนยอดปัจจุบันมาแตะที่หลักสองหมื่นกว่าแล้ว 

ท่ามกลางกระแสของการแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และความกลัวในเรื่องยารักษาหลักคือ “ฟาวิพิราเวียร์” ที่ไม่เพียงพอ ก็ได้มีการผุดทางออกในเรื่องของการใช้สมุนไพรไทย ในการรักษาและยับยั้งการแพร่ไปสู่อวัยวะที่สำคัญ โดยเฉพาะสมุนไพรไทยที่ชื่อ “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เริ่มมีการศึกษาในระดับการใช้งานในคน และมีการยอมรับแล้วว่า สามารถยับยั้งการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว โดยการออกฤทธิ์คล้ายกับยาฟาวิพิราเวียร์ เลยทีเดียว 

นอกจากฟ้าทะลายโจรแล้ว ก็มีสมุนไพรไทยอีกชนิดหนึ่งที่ได้มีการศึกษาสำหรับใช้ในการรักษาโควิด-19 และผลการศึกษามีแนวโน้มที่ดีด้วยในการออกฤทธิ์ ยับยั้งการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกาย นั่นก็คือพืชสมุนไทยที่คนไทยคุ้นเคยกันดีที่ชื่อว่า “กระชาย” 

สำหรับวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกระชายกันครับ “กระชาย” มีชื่อสามัญว่า Fingerroot หรือ Chainese ginger หรือ Chainese Key หรือ Galingale มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Boesenbergia rotunda (L.) Mansf อยู่ในวงศ์ขิง เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ที่เรียกว่า เหง้า รากของกระชายจะสะสมอาหารจนพองเป็นก้าน เรียกว่า แง่ง กระชายมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกกันว่า ขิงจีน เราจะรู้จักกระชายกันดีในเรื่องของนำมาทำเป็นส่วนประกอบสำหรับทำอาหาร โดยเมื่อนำเหง้าหรือแง่งในปริมาณ 100 กรัม ของกระชายมาวิเคราะห์ พบว่ามีสารอาหารที่สำคัญได้แก่ คาร์โบไฮเดรต 17.8 กรัม เส้นใยอาหาร 2.0 กรัม น้ำตาล 1.7 กรัม โปรตีน 1.8 กรัม โพแทสเซียม 415 มิลลิกรัม โซเดียม 13 มิลลิกรัม ไขมันอิ่มตัว 0.2 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัว 0.2 กรัม วิตามีนบี 6 8% วิตามีนซี 8% แคลเซียม 2% เหล็ก 3% แมกนีเซียม 11% กระชายที่ใช้ประโยชน์กันแพร่หลาย มี 3 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ กระชายแดง และกระชายเหลือง หรือกระชายขาว 

สำหรับสรรพคุณของกระชายนั้น สามารถแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ รักษาโรคปากเปื่อย ปากเป็นแผล แก้อาการวิงเวียนหัว แน่นหน้าอก ได้ และกระชายดำก็มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีว่าช่วยเพิ่มสมรรถนะทางเพศได้อีกด้วย สำหรับกระชายที่มีการศึกษาว่ามีฤทธิ์ที่สามารถยับยั้งการกระจายตัวของไวรัสโควิด-19 เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว คือ กระชายขาว โดยจากผลการวิจัยร่วมกันของคณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และและศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) พบว่า มีสารสำคัญ 2 ชนิด ที่พบในสารสกัดกระชายขาว ซึ่งสามารถช่วยในการยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ เมื่อเข้าสู่ร่างกาย คือ พิโนสโตรบิน (Pinostrobin) และ แพน​ดูราทิน เอ (Panduratin A) 

โดยมีกลไกลทำงาน คือเมื่อร่างกายได้รับสารสกัดที่สำคัญของกระชายนี้ในปริมาณที่เหมาะสม สารดังกล่าวจะไปยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 และทำให้ไวรัสสลายไปในที่สุด โดยพบว่าสามารถลดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถึง 100% เลยทีเดียว โดยผลจากการทดลองในการยับยั้งการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่าสามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อ จาก 100% ไปถึง 0% ได้ และ เมื่อวิเคราะห์ลักษณะการยับยั้งในการผลิตตัวไวรัสออกจากเซลล์ พบว่า สารสกัดจากกระชายขาวสามารถยับยั้งได้ถึง 100% นั่นก็คือเซลล์นั้นไม่สามารถที่จะผลิตตัวไวรัสตัวใหม่ออกมาจากตัวเซลล์ได้เลย  

ทั้งนี้ในกรณีการศึกษาวิจัยในกรณีดังกล่าวนั้น เป็นการศึกษาในระยะเริ่มต้น หรือระดับห้องปฏิบัติการ คือศึกษาในหลอดทดลอง และเริ่มนำมาใช้ในสัตว์ทดลองคือหนูเท่านั้น ยังไม่ได้เริ่มมีการศึกษาโดยทดลองใช้กับมนุษย์จริง และคงมีการศึกษาใช้กับมนุษย์ในระยะต่อไป ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีของฟ้าทะลายโจร ที่เริ่มมีการทดลองใช้กับคนมาระยะหนึ่งแล้ว และได้ผลพบว่าสามารถยับยั้งการแพร่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อ เข้าสู่ร่างกายแล้วได้จริง 

แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนมองว่าเนื่องจาก กระชายเป็นทั้งพืชที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร และยังเป็นสมุนไพรที่คนไทยคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ถ้าเรามีไว้ติดบ้านนอกจากมีสรรพคุณสำหรับรักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปากเป็นแผล หรือเพิ่มสมรรถนะทางเพศ ตามความเชื่อแล้ว ก็ยังอาจเป็นทางออกอีกทางออกหนึ่งหนึ่งที่ สามารถยับยั้งการแพร่ของไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายเรา ในยุคของการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นทางออกว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไรก็ได้ครับ 


เขียนโดย: ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต