เมื่อเราอายุเริ่มมากขึ้น ก็ต้องดูแลตัวเองให้ดียิ่งขึ้นแต่เรื่องง่าย ๆ ที่หลาย ๆ คนอาจจะมองข้ามไป ”อุบัติเหตุจากการหกล้ม” ซึ่งนอกจากจะเกิดอาการบาดเจ็บแล้วอาจส่งผลถึงระบบภายใน ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

ผู้สูงอายุหมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านคน ซึ่งนับเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด จึงถือว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged society) ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่น, อิตาลี, เยอรมันและสวีเดน

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ, ความแข็งแรงเริ่มถดถอย, การทรงตัวแย่ลง จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การล้มเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องย้ายจากบ้านไปอยู่สถานพักฟื้น รวมถึงสภาพจิตใจและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการล้มมากถึงร้อยละ 28-35 และผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการล้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32-42 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตจากการล้มสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย

ทำไมผู้สูงอายุถึงล้ม

1.) มีปัญหาเรื่องการทรงตัว
2.) มีความบกพร่องทางการมองเห็น
3.) มีปัญหากระดูกสันหลังหรือหลังค่อม ทำให้ไม่สามารถยืดลำตัวตรง
4.) เป็นโรคความดันโลหิตหรือกินยาบางชนิดที่ส่งผลต่อความดันโลหิต
5.) กล้ามเนื้อขาและสะโพกไม่แข็งแรง

วิธีป้องกันและแก้ไขเบื้องต้น

1.) พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินและแก้ไขปัญหาการทรงตัวที่เกิดจากทางกระดูกหูชั้นใน 
2.) แก้ไขปัญหาสายตา เช่น การตัดแว่นสายตาให้เหมาะสม
3.) เปลี่ยนอิริยาบทบ่อยๆ ไม่นั่งหลังค่อมเป็นระยะเวลานาน
4.) ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคความดันโลหิต
5.) ออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาและสะโพก โดยใช้เก้าอี้เป็นอุปกรณ์ช่วยในการออกกำลังกาย ดังนี้

ท่าที่ 1

เขย่งเท้า : ค้าง 10 วินาที ทำซ้ำ 20 ครั้ง

กระดกเท้า : ค้าง 10 วินาที ทำซ้ำ 20 ครั้ง

ท่าที่ 2     

ย่ำเท้า ซ้าย-ขวา สลับกัน

ยกขาขึ้น ค้าง 10 วินาที แล้วสลับข้าง ทำซ้ำ 40 ครั้ง (ข้างละ 20 ครั้ง)

ท่าที่ 3

แกว่งขาไปด้านหน้า ค้างไว้ 10 วินาที แล้วแกว่งไปด้านหลัง ค้างไว้ 10 วินาที ตัวตรง หลังตรง ทำซ้ำข้างละ 20 ครั้ง

ท่าที่ 4 กางขาออกด้านข้าง ซ้าย-ขวาสลับกัน

กางขา ค้างไว้ 10 วินาที แล้วเปลี่ยนข้าง

ตัวตรง หลังตรง ทำซ้ำข้างละ 20 ครั้ง

การออกกำลังกายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อขาและสะโพก เมื่อออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยฝึกการทรงตัวและป้องกันการล้มในผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้ลูกหลานต้องให้ความรัก ความห่วงใย ดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงจิตใจให้ท่านมีชีวิตอยู่กับเราไปอีกนาน

.

เขียนโดย:  กภ. วิชญดา มาเสถียร
นักกายภาพบำบัด ปริญญาตรี วิทยาศาสตร์บัณฑิต กายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล 


ข้อมูลอ้างอิง 
12 Best Elderly Balance Exercises For Seniors to Help Prevent Falls – ELDERGYM®
หกล้มในผู้สูงอายุ อันตรายกว่าวัยอื่นหลายเท่าตัว ปัญหาที่ต้องระวัง • RAMA Channel (mahidol.ac.th)