ในยุคที่สมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ทำให้ส่งผลเสียรวมไปถึงอวัยวะร่างกาย “นิ้ว” ก็เป็นอวัยวะหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเล่นสมาร์ทโฟน ศิลปะจึงเป็นศาสตร์ที่เข้ามาช่วยในการรักษาอาการแก้ปวดนิ้วได้

มือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายและใช้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น จากการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานการล้างหน้า การแปรงฟัน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำเป็นประจำทุกวัน เป็นต้น ทุกคนใช้มือเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการประกอบอาชีพ ดังนั้นมือจึงควรได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เมื่อมือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการใช้งาน อาจส่งผลให้มือชาหรืออ่อนแรง เช่น อาการชาจากการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ส่งผลให้ความสามารถในการใช้งานของมือลดลง เช่น การหยิบจับสิ่งของ การฝึกทักษะของมือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูให้มือกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีเช่นเดิม

กิจกรรมฝึกทักษะมือ
โดยปกติแล้วนักกิจกรรมบำบัดมีบทบาทในการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูความสามารถมือ เมื่อพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมือ เช่น ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อติด มีปัญหาการใช้งานของมือหรือการหยิบจับวัตถุ นักกิจกรรมบำบัดใช้กิจกรรมที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาเป็นสื่อในการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูให้เหมาะสมกับปัญหา โดยเริ่มปรับกิจกรรมจากง่ายไปยาก เพื่อพัฒนาความสามารถอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังนี้

1.) การบริหารมือและนิ้วมือ
กำมือ-แบมือ-กางนิ้วมือ-หุบนิ้วมือ-นิ้วตูมเข้าหากัน-พับนิ้วมือ-จีบนิ้วมือ

2.) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังมือและนิ้วมือ
ออกแรงบีบวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกบอล ดินน้ำมัน แป้งโดว์ ตัวหนีบผ้า

3.) การฝึกหยิบจับวัตถุรูปแบบต่างๆ จากวัตถุขนาดใหญ่ไปจนถึงวัตถุขนาดเล็ก

นอกจากนี้สามารถผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา การทำอาหาร มาร่วมในการฝึกทักษะมือ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ทั้งนี้ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นการกระตุ้นให้รู้สึกอยากทำกิจกรรมมากขึ้น 

ศิลปะบำบัดกับการบริหารมือ

1.) กิจกรรมปั้นดินน้ำมัน หรือแป้งโดว์

เริ่มจากออกแรงนวดดินน้ำมันเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อมือ

ใช้นิ้วมือกดดินน้ำมันให้แบน

ใช้ปลายนิ้วบีบดินน้ำมันให้แบน

ปั้นดินน้ำมันเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

2.) กิจกรรมตัวหนีบผ้า

จับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้

ฝึกจับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและด้านข้างของนิ้วชี้

หนีบตัวหนีบผ้าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

3.) กิจกรรมตัวปั๊ม

เลือกตัวปั๊มที่ชอบและออกแรงกดตัวปั๊มลงบนแป้นหมึก

ออกแรงกดตัวปั๊มลงบนกระดาษ
ปั๊มเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

4.) กิจกรรมเสียบหมุดให้เป็นรูปภาพ

ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบหมุด

อาจใช้นิ้วกลางและนิ้วโป้งหรือนิ้วอื่น ๆ หยิบหมุด

เสียบหมุดเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

5.) กิจกรรมระบายสี

เลือกรูปภาพและสีที่ชอบ ระบายสีให้สวยงามตามต้องการ 

.

เขียนโดย : กบ.นิรมล ประทุมรัตน์
นักกิจกรรมบำบัด ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลธนบุรี


ข้อมูลอ้างอิง 
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา. (2531). ปัญหาของมือที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/998/Hand-Exercises