ทำไมลูกวัยรุ่นไม่ชอบคุยกับพ่อแม่? พบ 5 สาเหตุหลักที่วัยรุ่นไม่ยอมปรึกษาพูดคุยกับพ่อแม่ พร้อมวิธีปรับตัว เมื่อลูกไม่คุยด้วย

ในช่วงลูกเข้าสู่วัยรุ่น ช่วงอายุประมาณ 15-17 ปี ลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจอย่างรวดเร็ว จนพ่อแม่ปรับตัวตามลูกไม่ทัน บางครั้งทำให้รู้สึกว่า ลูกไม่ยอมปรึกษา และไม่ค่อยเปิดใจรับฟังพ่อแม่เหมือนเมื่อก่อน ยิ่งพ่อแม่พยายามเข้าหาลูกก็ดูเหมือนลูกพยายามตีตัวออกห่าง หนักเข้าก็ไม่คุยด้วย เล่นเอาพ่อแม่หนักใจไปตามๆ กัน เกิดอะไรขึ้นกับลูก ทั้งหมดนี้เกิดจากสาเหตุใด และพ่อแม่ต้องปรับตัวอย่างไร เป็นเรื่องที่พ่อแม่ควรรู้

พบ 5 สาเหตุหลักที่วัยรุ่นไม่ยอมปรึกษาพูดคุยกับพ่อแม่

1. วัยรุ่นมีความมั่นใจ กล้าลองผิดลองถูก และเชื่อมั่นว่าตัวเองมีความสามารถมากพอที่จะจัดการกับปัญหาทุกอย่างได้โดยไม่ต้องปรึกษาใคร เขาต้องการให้พ่อแม่ไว้ใจเขา

2. วัยรุ่นไม่ชอบที่ถูกพ่อแม่บ่นด่าและวิพากษ์วิจารณ์ เรื่องที่เขาคิด พูด ทำ ตามประสาวัยรุ่น บางครั้งพ่อแม่พูดไม่ให้กำลังใจ จ้องจับผิด ถูกตำหนิรุนแรง ยังแสดงออกถึงความไม่ไว้วางใจในตัวเขา บางครั้งออกคำสั่งห้าม หรือไม่ก็ตัดสินใจแทนเขาอีก …วัยรุ่นไม่ชอบสถานการณ์แบบนี้เอามากๆ

3. วัยรุ่นคิดว่าพ่อแม่ไม่พร้อมและไม่มีความถนัดมากพอ อาจเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดี เช่น เคยตั้งใจมาปรึกษาพ่อแม่ แต่เจอจังหวะที่พ่อแม่กำลังยุ่ง เหนื่อย เครียด ไม่พร้อมฟัง เลยสักแต่ฟัง แต่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องที่เขาพูด บางครั้งอาจบอกลูกว่า เอาไว้ก่อน ตอนนี้พ่อกับแม่ไม่มีเวลา

4. วัยรุ่นอาจเล่าเรื่องไม่เก่ง เข้าใจในแบบฉบับของตัวเอง ยังถ่ายทอดได้ไม่ดีเท่าที่ควร พอพ่อแม่ถามคืนมา แล้วตอบไม่เคลียร์ประเด็น พอถูกถามจี้ๆ บางครั้งอาจถูกพ่อแม่ดุ เลยทำให้รู้สึกอึดอัด และรู้สึกไม่ชอบที่ตัวเองดูกลายเป็นคนโง่ 

5. วัยรุ่นกลัวความผิด ถ้าเขาทำความผิด เช่น แอบขับรถมอเตอร์ไซค์ล้ม ทั้งๆ ที่เคยรับปากกับพ่อแม่ไว้ว่าจะไม่ขับ ประกอบกับพ่อแม่เป็นคนดุ เป็นคนน่ากลัว ยิ่งทำให้เขาไม่กล้าพูด อาจนำไปสู่การพูดโกหก และปกปิดความผิดได้

พ่อแม่ควรปรับตัวอย่างไร?

1. รับฟังอย่างลึกซึ้ง วางมือจากธุระ ตั้งใจฟัง และให้เวลากับเขา

2. ลดการตำหนิ ดุบ่นด่า จ้องจับผิด คำพูดดูถูกความคิดของเขา ควรรักษาศักดิ์ศรีให้เขาด้วย เรื่องนี้สำคัญมาก

3. ชื่นชมลูกทุกเรื่อง แม้นเป็นเรื่องที่เขาคิดได้ยังดีไม่พอ ให้ชื่นชมในมุมที่ชื่นชมได้ เช่นชื่นชมในความกล้าคิดกล้าแสดงออกของเขา และชื่นชมทุกครั้งเมื่อเขาคิดและแก้ปัญหาได้ดี

4. พ่อแม่ต้องตั้งสติให้ดี ในตอนที่ลูกเจอปัญหาหนัก เพราะลูกต้องการความปลอดภัย และความมั่นคง พ่อแม่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับลูก 

5. พ่อแม่ต้องเป็นนักสร้างบรรยากาศที่ดีในการสนทนา ช่วงแรกของการพูดคุยพ่อแม่ต้องพูดในเรื่องที่ลูกอยากฟังก่อน เสมือนหนึ่งว่าเรายืนอยู่ในมุมเดียวกับเขา เพื่อให้ลูกเปิดใจเข้ามารับฟังด้วยความเต็มใจ

การสื่อสารในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ควรให้ความสำคัญกับความรู้สึกของคนในครอบครัวเป็นหลัก เป้าหมายของการสื่อสารในครอบครัว ควรเป็นไปเพื่อให้เกิดความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกันสร้าง ความสัมพันธ์ที่ดี (Relationship) และ ความเข้าอกเข้าใจกัน (Empathy) 

เขียนโดย: อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง: https://th.theasianparent.com/gloves-for-newborns