"เพื่อไทย" ปัดตีเช็คเปล่าให้ กกต. กำหนดการเลือกตั้ง แจง หากยุบสภาใน 120 วันที่แก้กม.ลูกไม่แล้วเสร็จ จะเกิดปัญหา ยัน ไม่มีกระหนุงกระหนิงกมธ.ซีกรัฐบาล

ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าพรรคเพื่อไทยพยายามนำร่างที่ถูกตีตกไปในวาระที่ 1 ของพรรคพลังประชารัฐกลับเข้ามาสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 อีก ว่า ในชั้นนี้เป็นการพิจารณาในชั้นกมธ.ของร่างรัฐสภาที่ผ่านขั้นตอนการรับหลักการมาแล้ว ขณะนี้จะไม่เรียกว่าร่างพรรคประชาธิปัตย์และต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นร่างของรัฐสภา โดยมีหลักในการแก้ไข 2 มาตราที่เกี่ยวข้องกับระบบเลือกตั้ง ซึ่งคำว่าระบบไม่ได้มีเพียงแค่ 2 มาตราแน่นอน ยอมรับว่ากมธ.มีความหนักใจมากโดยเฉพาะการแก้มาตรา 83 เรื่องระบบบัตรเลือกตั้งจาก 1 ใบมาเป็น 2 ใบ 

เมื่อให้โจทย์มาแบบนี้ทางเสียงข้างมากใน กมธ. มีมติชัดเจนว่าเป็นการแก้ไขจากบัตรเลือกตั้ง 1 ใบเป็น 2 ใบ โดยมีการเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งรัฐธรรมนูญเดิมเขียนไว้ว่ามาตรา 84 , 85 , 86 ,87 , 88 , 89 , 90 , 91 , 92 ,93 และ 94 เขียนรองรับเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่ที่รัฐสภารับหลักการมา คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถือว่าเป็นโจทย์ยากที่เรารับมา ทั้งนี้ ต้องมาดูรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่ และแก้ไขให้สอดรับกับมาตรา 83 และมาตรา 91 โดยเฉพาะมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รองรับและสอดรับกัน จึงจำเป็นต้องแก้มาตราอื่นด้วย และยืนยันว่ารัฐสภามีข้อบังคับอนุญาตให้สามารถดำเนินการได้ แต่ห้ามแก้ไขหลักการ เว้นแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการ 

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นปัญหาและเป็นประเด็นในสังคมกล่าวหาว่ากมธ.พรรคเพื่อไทยเขียนเช็คเปล่าให้กกต.ในเรื่องบทเฉพาะกาล และบอกว่าเป็นการพิจารณาเกินหลักการด้วยนั้น ยืนยันว่าบทเฉพาะกาลเขียนไป 2 มาตรา เพราะหากเราแก้รัฐธรรมนูญได้และมีการประการใช้ เกิดมีการเลือกตั้งซ่อมขึ้นมา ก็มีคำถามว่าเราใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่แก้แล้วในการเลือกตั้งหรือจะใช้รัฐธรรมนูญเดิม ซึ่งตนเห็นว่าถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีการประกาศใช้แล้ว ก็ยังไม่ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปใช้ เพราะจะมีผลใช้กับการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น หากมีการเลือกตั้งซ่อมในช่วงนี้ห้ามนำมาใช้ เพราะจะมีปัญหาในสภาว่า ส.ส.สภาเดียวกันจะมาจาก 2 ระบบ และเกิดการตีความทำให้สภาทำงานไม่ได้ และอาจทำให้สภาล่มได้ จึงเป็นที่มาของการเขียนบทเฉพาะกาลเพื่อป้องกันการตีความว่ายังไม่ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาใช้ และหลังจากฉบับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขประกาศใช้แล้ว รัฐสภาต้องไปทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการประกอบการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 120 วัน นับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ 

เพื่อนำมาใช้ในการเลือกตั้ง และเราเป็นห่วงว่าหากภายใน 120 วันนี้เกิดการประกาศยุบสภาโดยที่กฎหมายลูกยังไม่เสร็จแต่รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว กกต.ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใต้การออกประกาศข้อกำหนดของ กกต. ได้ โดยยึดสิ่งที่รัฐธรรมนูญแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปประกาศเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานได้ แต่พรรคเพื่อไทยกลับถูกหาว่ายัดไส้และทำเกินหลักการ ไปมอบอำนาจให้ กกต. ตนถามว่าหากไม่มอบอำนาจให้ กกต. จะเกิดการเลือกตั้งได้หรือ หรือจะให้ฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนดประกาศให้มีการเลือกตั้ง ถามว่าจะเอาแบบนั้นหรือ ซึ่งเราก็ไม่เอา ระหว่างเลือกกกต.กับฝ่ายบริหาร เราเลือกกกต.มากกว่า

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเขียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ใช้โอกาสยุบสภาเร็วขึ้นนั้น คนพูดไล่พล.อ.ประยุทธ์ทุกวันให้ออกไป แต่พอมาสู้กันในมุมกฎหมายกลับย้อนแย้งเสียเอง ซึ่งตนก็อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภาโดยเร็ว เพราะเป็นสิ่งที่คนต้องการมากที่สุดคือให้พล.อ.ประยุทธ์ออกไป อย่างไรก็ตามยืนยันว่าในกมธ.ไม่มีความขัดแย้งและไม่มีการกระหนุงกระหนิง เพราะทุกความคิดเห็นที่เสนอโดยเฉพาะในส่วนของพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่ใช่ความคิดเห็นของตนเพียงคนเดียว แต่เราผ่านกระบวนการกลั่นกรองจากพรรคมาเพื่อเสนอให้เป็นไปในด้านที่ดีที่สุด ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะให้รัฐสภาตีความเรื่องข้อบังคับที่เราใช้นั้นใช้ไม่ได้ ก็สามารถทำได้ หรือจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาหลักผ่านวาระที่ 3 ก็ทำได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็ต้องรอจังหวะเวลา ยืนยันว่าทุกอย่างไม่ได้พิจารณาอย่างร้อนรน เพราะมีเพียงแค่ 2 มาตรา