“บิ๊กป้อม” ถก “กอนช.” เร่งขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน -น้ำป่าไหลหลาก-ดินโคลนถล่ม-กักเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564  ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยพล.อ.ประวิตร  รับทราบสถานการณ์ฝนและการคาดการณ์ ช่วงสิงหาคม-กันยายน 64 ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุก หนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อน เคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน จำนวน 2-3 ลูก และอาจทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุก และปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยได้ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากการประเมิน พบว่า ช่วงสิงหาคม64-มกราคม65 มีพื้นที่เสี่ยงจำนวน 2,988 ตำบล  630 อำเภอ 71 จังหวัด ทั่วทุกภาคของประเทศ ทั้งนี้ สทนช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก ได้แก่ กรมชลประทาน,กรมเจ้าท่า,กทม.,กรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ได้บูรณาการทำงานร่วมกันแก้ปัญหา มาอย่างต่อเนื่อง และมีความคืบหน้าอย่างน่าพอใจ อาทิ การเตรียมความพร้อมอาคารควบคุมน้ำ คันกั้นน้ำ เครื่องสูบน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำ เป็นต้น รวมถึงการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การจัดเก็บผักตบชวา และการกำจัดขยะในคลอง ซึ่งในห้วงปี63-64 ภาพรวมการเก็บผักตบชวาได้มากถึง 4,944,363 ตัน คิดเป็นร้อยละ 96.09 ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนข้อมูล ปริมาณผักตบชวา จากภาพถ่ายดาวเทียม GISTDA ในการเตรียมรับมือกับฤดูฝนปี64 ปี ซึ่งได้ดำเนินการเก็บผักตบชวาไปแล้ว จำนวน 680,288 ตัน 

พล.อ.ประวิตร  กล่าวกำชับสทนช.,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,กทม.,ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเร่งดำเนินการ ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี64 ให้ทันตามเป้าหมาย เพื่อป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า ได้อีกด้วย รวมทั้ง ต้องมีการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม และสามารถแจ้งเตือนประชาชนให้ทันเวลา ตลอดจน เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ให้มีความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ไว้ตลอดเวลา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ให้รวดเร็วที่สุด และให้ระมัดระวังการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย