“ทีมโฆษกรัฐบาล” แจง ราคาชุดตรวจATK ช่วงก.ย.จะถูกลง เผย ได้บ.นำเข้า8.5 ล้านชิ้น ราคาประมาณ 70 บาท ยันยาฟาวิพิราเวียร์ มีพอ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล” ถึงเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับราคาชุดตรวจATK ที่มีราคาสูง ว่า เท่าที่สำรวจหลายที่มีราคาถูกลง มีผู้นำเข้าชุดตรวจจำนวนมากขึ้นและขณะนี้องค์การเภสัชกรรมก็รับรองชุดตรวจของหลายยี่ห้อแล้วก็จะทำให้ราคาค่อยๆลดลง และขณะนี้สปสช.อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างเอาผู้ประกอบการที่นำเข้าชุดตรวจ 19 บริษัทเข้ามาเสนอราคาประมูลให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้าง ชุดตรวจโควิด กว่า 8.5 ล้านชุด ให้โปร่งใสที่สุดโดยคาดว่าจะเริ่มนำเข้าและแจกให้ประชาชนได้ช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงแน่นอน นอกจากนั้นกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับองค์การเภสัชกรรมและกระทรวงสาธารณสุข จับราคาชุดตรวจอยู่แต่ต้องยอมรับว่ามีความต่างเรื่องต้นทุนตั้งแต่ 100- 200 บาท และการไปควบคุมหรือกำหนดราคากลาง อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หากมีการประมูลราคากลางจากสปสช. แล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็จะเข้าไปดูราคาจำหน่ายทำได้มากขึ้น

นอกจากนั้นยังมีข่าวดีที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยี ได้คิดค้นชุดตรวจATKมีคุณสมบัติโดดเด่นสามารถตรวจและรู้ผลได้ภายใน 15 นาที มีความแม่นยำจำเพาะสูงกว่าในท้องตลาด ขั้นต่อไปจะพัฒนาเพื่อผลิตออกมาจำหน่ายในประเทศได้อย่างเพียงพอ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ได้บริษัทผู้ชนะการประมูลนำเข้า8.5ล้านชุด ที่จะแจกจ่ายให้ประชาชนในเดือนส.ค.นี้ โดยราคาอยู่ประมาณ 70 บาทต่อชิ้น

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนข้อกังวลเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ จะมีการผลิตและนำเข้าเพียงพอหรือไม่นั่น มีการรายงานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงตัวเลขการใช้โดยคาดการณ์ว่าถ้าผู้ป่วยอยู่ในระดับ 20,000 รายจะใช้ประมาณ 30ล้านเม็ดต่อเดือน โดยในช่วงเดือนส.ค-ก.ย.จะมียาประมาณ 120 ร้านเม็ด และเดือนถัดไปจะหาได้ประมาณ 100 ล้านเม็ดทั้งการผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมในชื่อ ฟาเวียร์ และการนำเข้า ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะมียาใช้เพียงพอแน่นอนทั้งนี้บริษัทเอกชนอื่นต้องการผลิต ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็ยินดีเข้าไปช่วย และมีข่าวดีที่ทางสภากาชาดไทย ก็จะผลิตยาชนิดนี้ด้วย

ด้านน.ส.รัชดา กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม ไม่ได้ปิดกั้นให้บริษัทยาเอกชน เข้ามาเป็นผู้ผลิตยา เพียงแต่กระบวนการผลิตที่เป็นยาตัวใหม่ ต้องมีกระบวนการติดตั้ง จึงยังไม่สามารถทำได้ทันทีและต้องใช้เวลา ดังนั้นอย.จะใช้วิธีเปลี่ยนสายการผลิตยาบางตัวไปให้บริษัทเอกชนผลิตเพื่อทุ่มเททำการผลิตมากขึ้น