๑๒ สิงหาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงเป็นพระธิดาองค์ที่ ๓ ของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็น พลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) กับ หม่อมหลวงบัว กิติยากร (สกุลเดิม สนิทวงศ์) เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่บ้านพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ ๑๘๐๘ ถนนพระรามหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร โดย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับพระราชทานนามว่า “สิริกิติ์” มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร”

ทางด้านการศึกษา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เริ่มศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๙ และสอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ และได้ย้ายไปศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ถนนสามเสน และได้ศึกษาที่นี่เป็นเวลา ๘ ปี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓

ในการศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ นอกจากศึกษาวิชาสามัญทั่วไปแล้ว ยังเน้นศึกษาด้านภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และยังศึกษาเปียโนเป็นพิเศษด้วย โดยได้สมัครเข้าเรียนเปียโนตั้งแต่ปีแรกที่เข้าศึกษาที่นี่ พระองค์สามารถเรียนได้ดี เนื่องจากมีพรสวรรค์และความสนใจเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังได้รับการอบรมด้านวิชาการเรือนจึงสามารถประกอบอาหารได้ทั้งอาหารไทยและอาหารฝรั่ง

ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องเสด็จไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ ทำให้ทั้งครอบครัวรวมไปถึงหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ย้ายไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ 
ขณะที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้ศึกษาต่อทั้งวิชาภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส และวิชาเปียโนกับครูพิเศษหลังจากนั้นไม่นาน บิดาย้ายไปประเทศเดนมาร์กและฝรั่งเศสตามลำดับ ขณะที่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ก็ยังคงเรียนเปียโนและตั้งใจจะศึกษาต่อในวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีสจนจบ 

หลังจากนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้พระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) และได้ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”

พระราชกรณียกิจ

ศิลปาชีพ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงริเริ่มโครงการให้ราษฎรโดยเฉพาะชาวนาในท้องถิ่นชนบททำอาชีพเสริมโดยใช้เวลาว่างจากการทำนาทำไร่มาทำงานศิลปาชีพ จนราษฎรเหล่านั้นมีความรู้ความสามารถในงานผลิต งานศิลปหัตถกรรม จนเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยและระดับสากล


 
ความมั่นคงของชาติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินินาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมทหาร ตำรวจ ราษฎรอาสาสมัคร จนถึงฐานปฏิบัติการ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่อันตรายเพียงใดก็ตามได้พระราชทานถุงของขวัญประกอบด้วยเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น เพื่อพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงของชาติตลอดมา


 
การสาธารณสุข

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยจัด “หน่วยแพทย์พระราชทาน” ตามเสด็จไปรักษาพยาบาลราษฎรในถิ่นทุรกันดารแล้ว ยังทรงช่วยเหลือกลุ่มผู้ประสบภัยธรรมชาติ ทรงช่วยเหลือทหาร ตำรวจ และราษฎรอาสาสมัครตามชายแดน ทรงริเริ่มจัดตั้ง “มูลนิธิสายใจไทย”  ในพระบรมราชูปถัมภ์ 

การส่งเสริมอนุรักษ์ธรรมชาติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “โครงการป่ารักน้ำ” ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการร่วมกันปลูกป่า หลังจากนั้นยังมีโครงการตามพระราชดำริที่ปรากฏขึ้นเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ อาทิ โครงการสวนสัตว์ป่าเปิดภูเขียวตามพระราชดำริ โครงการอนุรักษ์และขยายพันธุ์เต่าทะเล โครงการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า โครงการปลูกป่าเสริมธรรมชาติ โครงการพระราชดำริสวนหาดทรายใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชกรณียกิจอีกมากมาย องค์กรระหว่างประเทศต่างยกย่องและทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นจำนวนมาก อาทิ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญซีเรส เทิดพระเกียรติในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรีให้มีระดับสูงขึ้นและทรงเป็นผู้ “ให้โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง” 

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงได้แสดงถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่จะทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อทํานุบํารุงราชอาณาจักรและมรดกวัฒนธรรมไทย ที่บรรพบุรุษได้สร้างสมไว้จนตกทอดมาถึงอนุชนไทยรุ่นหลัง และให้พสกนิกรประชาชนไทยได้มีชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตัวเองได้ 


แหล่งที่มา
https://campus.campus-star.com/variety/52926.html
https://www.thebangkokinsight.com/news/the-bangkok-insight-th/33964/
https://www.matichon.co.th/court-news/news_1481039