‘วิโรจน์’ ต้านรัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งผู้จัดหาวัคซีนตัดสินใจผิดพลาดทำประชาชนตาย

‘วิโรจน์’ ต้านรัฐบาลเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งผู้จัดหาวัคซีนตัดสินใจผิดพลาดทำประชาชนตาย ชี้เล็งเห็นหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า แต่ก็มิได้ตระเตรียม หรือกระจายความเสี่ยงเอาไว้อย่างที่ควรจะเป็น ก็ควรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนจะถูก หรือผิด ศาลท่านจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง ไม่ควรที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเองล่วงหน้า เยี่ยงคณะรัฐประหารเช่นนี้

จากกรณีวันที่ 6 สิงหาคม 2564 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เปิดเผยเอกสารนำเสนอ เพื่อตรา พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ.... ( https://drive.google.com/file/d/1QsC3KxcyVWtqJDZgYAedkrJz1ByZYmB7/view?fbclid=IwAR1yn-etAjYr6hjgibyhYi7naE1k9AMq1YbfHmPvmuBruXCNRhKy2NUe9y4 )

โดยในเอกสารมีใจความหลักคือเสนอให้มีการออกกฎหมาย เพื่อจำกัดความรับผิดของบุคลากรสาธารณสุขและสถานพยายาลในระดับต่างๆ ที่ทำงานปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แต่มีการรวมถึงข้อ 7. ว่าด้วย “บุคคล/คณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน”

โดยในวันที่ 8 สิงหาคม 2564 นายวิโรจน์กล่าวในการแถลงข่าวพรรคก้าวไกลประจำสัปดาห์ว่า “พรรคก้าวไกลเห็นด้วย หากจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อปกป้องการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ โดยสุจริตไม่มีการเลือกปฏิบัติ ของบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ก็คงไม่มีใครแย้ง

แต่การที่จะปกป้องบุคคล หรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในการจัดหา และบริหารจัดการวัคซีนด้วย ล้วนทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ ที่กำลังประสบกับทุกข์ภัยอย่างแสนสาหัส เดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า คับแค้นจนน้ำตาเป็นสายเลือด ไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะหากการที่มีประชาชนตายด้วยโรคระบาดเป็นจำนวนมาก เด็กเล็กๆ หลายคนต้องเป็นกำพร้า เกิดจากการตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับหลักวิชา หรือผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่บนวารสารวิชาการทางการแพทย์ระดับนานาชาติไว้แล้ว หรือเล็งเห็นหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า แต่ก็มิได้ตระเตรียม หรือกระจายความเสี่ยงเอาไว้อย่างที่ควรจะเป็น เบิกจ่ายล่าช้าอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ดังนั้น บุคคล หรือคณะบุคคลที่มีหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ก็ควรต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนจะถูก หรือผิด ศาลท่านจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง ไม่ควรที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเองล่วงหน้า เยี่ยงคณะรัฐประหารเช่นนี้”