“บอร์ดกยค.” เห็นชอบ ข้อเสนอขับเคลื่อนมติสมัชชาครอบครัวฯ-ร่างแผนป้องกัน-แก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว จับมือ 16 หน่วยงานรัฐ แก้ปัญหา เตรียมชงครม.เห็นชอบ

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ(กยค.)เมื่อวันที่4ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนมติสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2563 ดังนี้ 1.จัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับครอบครัว โดยบูรณาการความร่วมือกับองค์กร เครือข่าย ชุมชน สถานประกอบการ สร้างแกนนำส่งเสริมความรู้สำหรับครอบครัว ส่งเสริมสื่อสร้างสรรค์สำหรับครอบครัวและควบคุมสื่อที่ไม่เหมาะสม 2.จัดสวัสดิการครอบครัวในภาวะวิกฤตโควิด-19 เช่น ทบทวน ปรับปรุงระเบียบ หรือกำหนดมาตรการทางภาษี เพื่อแบ่งเบาภาระของสถานประกอบการที่มีศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาระบบให้คำปรึกษาครอบครัว สร้างกระบวนการเรียนรู้ของครอบครัวในภาวะวิกฤต จัดสวัสดิการสำหรับการเลี้ยงดูเด็กเล็กและที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และ3.จัดการเชิงนโยบายด้านครอบครัว เช่น ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เอื้อต่อการสร้างครอบครัวคุณภาพ ทบทวนรูปแบบการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทความเปลี่ยนแปลง เช่น การจัดการศึกษาแบบเรียนที่บ้าน(Home School)จัดทำหลักสูตรออนไลน์ โดยข้อเสนอดังกล่าว จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณามอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไป

น.ส.รัชดา กล่าวว่า คณะกรรมการฯเห็นชอบในร่างข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานป้องกันและแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และครอบครัว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงภายใน 24 ชั่วโมง และปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างรอบด้าน โดยความร่วมมือ 16 หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และองค์กรจากภาคประชาสังคมและเอกชนด้วย โดยยึดหลักมาตรการ 3P คือ 1.การป้องกัน (Prevention) 2.การคุ้มครอง (Protection) และ3.การดำเนินคดี (Prosecution) ทั้งนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ กำชับให้อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว เร่งศึกษาเรื่องพัฒนาการของเด็กที่จะหายไปในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ www.เพื่อนครอบครัว.com ซึ่งเป็นเว็บที่ให้สาระความรู้เกี่ยวข้องคนทุกวัยในครอบครัว และไลน์ @linefamily ที่จะให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของครอบครัวผ่านระบบออนไลน์ ให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย