ทบ.เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา 2 เที่ยวบินแรกจากกรุงเทพ-นครพนม เน้นมาตรการปลอดภัยทางการบินสูงสุด รองรับนโยบายรบ.และทบ.เพื่อกระจายการรักษาผู้ป่วย 

 พ.อ.อิทธินันท์ โชติช่วง รอง ผอ กองวิทยาการ กรมแพทย์ทหารบก  กล่าวถึงภารกิจเคลื่อนย้ายผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาด้วยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-295 ว่า ต้องอยู่ภายใต้มาตรการปลอดภัยสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันตัว รวมทั้งระบบภายในอากาศยาน โดยวันนี้จะทำการบิน 2 เที่ยวบิน เที่ยวบินแรกมีผู้ป่วย 20 คน และเที่ยวบินที่ 2 อีก 20 คน 

ทั้งนี้จะทำหน้าที่ดูแลภาพรวมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอากาศยานทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ป่วยมาถึงและลำเลียงขึ้นอากาศยาน โดยจะมีแพทย์และพยาบาลด้านเวชศาสตร์การบินร่วมปฏิบัติหน้าที่บนเครื่อง สำหรับนโยบายของพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คือต้องการให้ผู้ป่วย covid-19 กลับภูมิลำเนาเพื่อทำการรักษา เพราะปัจจุบันเตียงผู้ป่วยcovid ในกรุงเทพฯมีจำกัด และการลำเลียงผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ใช่มีแค่อากาศยานแต่ยังมีการเคลื่อนย้ายทางรถยนต์ 

โดยการดูแลผู้ป่วยก่อนลำเลียงขึ้นอากาศยานจะต้องมีการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่มีความพร้อมก่อน ทั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันหลายส่วน ทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อคัดกรองผู้ป่วย ทั้งหมด โดยจะมีการประสานงานร่วมกันเป็นอย่างดีตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ในการรวบรวมจำนวนผู้ป่วยที่จะส่งต่อภูมิลำเนา

สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยนั้น เน้นผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากมีความแข็งแรงในระดับหนึ่งที่จะสามารถเคลื่อนย้ายด้วยอากาศยาน เพราะในระหว่างการบินบนอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมนุษย์จากพื้นที่ด้านล่างไปสู่พื้นที่สูง จึงต้องตรวจสอบผู้ที่จะโดยสารไปกับอากาศยาน

ทั้งนี้จะพิจารณาความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับการเดินทางด้วยอากาศยานมีข้อดีสำหรับการเดินทางระยะไกล และทำให้ผู้ป่วยเดินทางกลับถึงภูมิลำเนาได้อย่างรวดเร็วขึ้น และทำให้การเคลื่อนย้ายเกิดความปลอดภัยสูงสุด

สำหรับในส่วนของอากาศยานนั้นนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องต้องป้องกันตนเองด้วยการสวมชุดป้องกัน ทั้งนี้ได้มีการปรับพื้นที่ภายในอากาศยานแบ่งเป็น 5 ส่วน ทั้งพื้นที่ส่วนหน้าระหว่างกลางสำหรับรักษาพยาบาล และส่วนของพื้นที่นั่งสำหรับผู้โดยสาร

นอกจากนี้ยังมีการควบคุมระบบอากาศภายในเครื่อง มีการปรับความดันอากาศ และมีเครื่องกรองอากาศ ฟอกอากาศติดตั้งไว้สำหรับรองรับภารกิจนี้ เพื่อควบคุมระบบการหมุนเวียนอากาศให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด

พร้อมย้ำว่ามีหลายประเทศได้อากาศยานมาการลำเลียงผู้ป่วย covid-19 ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย และใช้มาตรการเดียวกันคือการป้องกันภายในเครื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานภายในเครื่อง โดยมีผลงานวิจัยรองรับ  

ทั้งนี้ในอนาคตการขนส่งผู้ป่วยวิกฤตทางอากาศก็มีโอกาสที่จะใช้รูปแบบนี้ เพื่อลำเลียงผู้ป่วยเช่นเดียวกัน

สำหรับผู้ป่วยโควิค-19 ทั้ง 2 เที่ยวบินจำนวน 40 คน จะเดินทางไปยังสนามบินจังหวัดนครพนม ซึ่งไม่มีเส้นทางรถไฟผ่าน จากนั้นจะกระจายไปยังสถานที่รักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไป โดยใช้ระยะเวลาบิน 1 ชั่วโมงครึ่ง