๒๘ กรกฎาคม วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
ด้านการศึกษา
เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ ขณะที่ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ มีพระชนมายุ ๔ พรรษา ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ ๑ ณ โรงเรียนจิตรลดา
ต่อมาพุทธศักราช ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปทรงเข้ารับการศึกษาต่อระดับประถมศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนคิงส์มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซ็กส์ และในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซัมเมอร์เซต จนถึงเดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓
ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๑๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินจากประเทศอังกฤษไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นโรงเรียนเตรียมทหาร หลังทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพและกิจการทหาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จพระราชดำเนินไปศึกษาเป็นเวลา ๕ สัปดาห์
พุทธศักราช ๒๕๑๕ ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งหลักสูตรของวิทยาลัยการทหารแห่งนี้แบ่งออกเป็น ๒ ภาค คือ
ภาควิชาการทหาร รับผิดชอบและดำเนินการโดยกองทัพบก ออสเตรเลีย นักเรียนที่สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท ส่วนอีกภาคหนึ่งเป็นการศึกษาวิชาสามัญ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ รับผิดชอบการวางหลักสูตร แบ่งออกเป็นสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ อักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
นักเรียนนายร้อยที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวจะได้รับปริญญาตรีตามสาขาวิชาที่เลือกศึกษา โดยพระองค์ทรงเลือกศึกษาในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสำเร็จการศึกษา พุทธศักราช ๒๕๑๙
เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย ทรงรับราชการทหารและทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ ๔๖
พุทธศักราช ๒๕๒๐
ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ ๒ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พุทธศักราช ๒๕๒๕ ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๒)
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาต่อยังวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหาร การบินอีกหลายหลักสูตร ทรงผ่านการฝึกอบรมเครื่องบินรบจนมีพระปรีชาสามารถและมีจำนวนชั่วโมงบินสูงมาก รวมทั้งทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี
เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๗ ทรงเข้าศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก จากบริษัท การบินไทย และทรงสำเร็จการศึกษาและการบินด้วยเครื่องบินพาณิชย์จริง ทรงได้รับใบอนุญาตเป็นกัปตันเครื่องบินโบอิ้ง ๗๓๗ ด้วยความสนพระราชหฤทัยและวิริยอุตสาหะทำให้พระองค์ทรงมีพระปรีชาชาญด้านการบิน รอบรู้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ จนได้รับพระนามให้เป็น “เจ้าฟ้านักบิน”
พระราชกรณียกิจ ด้านการศึกษา
รัชกาลที่ ๑๐ ทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงสนับสนุนด้านการศึกษาสามารถนํามาใช้ประกอบอาชีพ รวมถึงสามารถพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ๖ แห่ง ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่
๑. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๑ จ.นครพนม
๒. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๒ จ.กำแพงเพชร
๓. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา ๓ จ.สุราษฎร์ธานี
๔. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๑ จ.อุดรธานี
๕. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๒ จ.สงขลา
๖. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี ๓ จ.ฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ มีพระราชดําริให้นําพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรัพย์จากผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลมาจัดทํา “โครงการทุนการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๕๒
ต่อมาทรงมีพระราชดําริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ ม.ท.ศ. เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เพื่อเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนที่เรียนดี ขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี มีคุณธรรม และฐานะยากจน ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง
สนับสนุนทุนการศึกษาเยาวชนที่กำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีโอกาสศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถ และความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืน เมื่อจบการศึกษาจะเปิดโอกาสให้เข้าทำงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ตามความสมัครใจ
พระราชกรณียกิจ ด้านทหารและการบิน
รัชกาลที่ ๑๐ ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหาร มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระราชวิริยอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์ด้านการทหารอยู่ตลอดเวลา
โดยหลังสิ้นสุดการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม ๒๕๑๙ และทรงศึกษางานทางการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนกระทรวงกลาโหม ทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง หลักสูตรส่งทางอากาศ และหลักสูตรต่าง ๆ ทางด้านการบินอีกมากมาย ทำให้พระองค์ทรงมีพระประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการบินในระดับสูงมาก
ทรงดำรงพระยศทางทหารของ ๓ เหล่าทัพ คือ
พระยศ พลเอก ของกองทัพบกไทย
พระยศ พลเรือเอก ของกองทัพเรือไทย
พระยศ พลอากาศเอก ของกองทัพอากาศไทย
พระราชกรณียกิจด้านการทหารที่รักษาความมั่นคงของประเทศ พระองค์ทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชาที่เขาล้าน จังหวัดตราด
พระราชกรณียกิจ ด้านสังคมสงเคราะห์
รัชกาลที่ ๑๐ เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด
พระราชกรณียกิจ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
รัชกาลที่ ๑๐ ทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกณียกิจ เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย
ด้านกีฬา
รัชกาลที่ ๑๐ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง อาทิ การพระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จ นำเกียรติยศ มาสู่ประเทศชาติ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม รับพระราชทานพร และทรงแสดงความชื่นชมยินดีที่นำความสำเร็จ นำเกียรติยศมาสู่ตนเอง สู่วงศ์ตระกูล และประเทศชาติ
เมื่อเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑ ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ ทำให้นักกีฬามีขวัญและกำลังใจในการแข่งขัน ประสบชัยชนะนำเหรียญรางวัลมาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก
พระองค์ทรงเป็นประธานในกิจกรรม Bike for Mom ปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ โดยวัตถุประสงค์นอกจากจะให้ประชาชนแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แสดงออกถึงความรักที่มีต่อแม่ของตนและแม่ของแผ่นดินแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพในการร่วมออกกำลังกาย ทำให้สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และปลูกฝังให้ประชาชนรักการออกกำลังกาย รวมถึงเสริมสร้างความมีน้ำใจเป็นนักกีฬาอีกด้วย
กิจกรรม Bike For Dad “ปั่นเพื่อพ่อ” เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงนำขบวนผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ
ด้านพระศาสนา
รัชกาลที่ ๑๐ ทรงเสด็จฯ แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านระดับประเทศ
ด้านเกษตรกรรม
เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นประจำ
รวมทั้งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านเกษตรกรรมแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาโดยตลอด และทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่าง ๆ โดยพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล ทำให้มีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน และพระองค์มีโครงการในพระราชดำริมากมายอย่าง โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ยโสธร โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบซีรา และ โครงการเกษตรวิชญา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น
แหล่งที่มา
https://king.kapook.com/kingrama10/index.html
https://news.thaipbs.or.th/content/258223
.
กระทรวงวัฒนธรรม
ขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามถวายพระพร
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา
วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔
ระหว่างวันที่ ๑๕-๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔
ได้ที่ลิงก์ https://bless.m-culture.go.th/king/