การเรียนสายอาชีพถือว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่น้อง ๆ ที่จบมัธยมศึกษาตอนต้นมาได้ลงมือปฏิบัติ และ สามารถต่อยอด สร้างฝัน สร้างอาชีพได้ บางครั้งน้อง ๆ อาจจะมองไม่เห็นตัวเองว่าถ้าเรียนในสายสามัญเป็นอย่างไร สายอาชีพถือว่าตอบโจทย์น้อง ๆ สำหรับผู้ทีชื่นชอบลงมือทำ

วันนี้ THE STUDY TIMES จะขอมาแนะนำการเรียนอีกสายหนึ่งที่ถือได้ว่าหลาย ๆ คนที่ยังรู้สึกว่าตัวเองอาจจะต่อยอดพวกสายวิทย์ - คณิต หรือ สายศิลป์ ไม่ได้การเรียนสายอาชีพก็ถือว่าเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน

การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพ คือ การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. เป็นการเรียนในหลักสูตรที่ไม่ได้เน้นการเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนกับสายสามัญ รับนักเรียนที่จบมาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยการเรียนสายอาชีพมีระยะเวลาในการเรียน 3 ปี โดยหากเรียนจบแล้วจะมีทางเลือกในการเรียนต่อ 2 ทางเลือกใหญ่ ๆ คือ

1.) การเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ (ปวส.) ใช้เวลาเรียน 2 ปี หลังจากจบแล้วสามารถเรียนต่อปริญญาตรี อีก 2 ปี

2.การเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย (ระดับปริญญาตรี) ใช้เวลาเรียน 4 – 5 ปี แล้วแต่คณะวิชาที่เลือก

สิ่งที่ถือเป็นจุดเด่นสำหรับการเรียนสายอาชีพคือสำคัญ ได้มีโอกาสเรียนในสายวิชาที่เน้นการทำงานจริงเป็นหลัก ต่อให้เรียนจบระดับ ปวช. ก็สามารถทำงานได้ และทำให้นักเรียนได้เข้าใจถึงการเรียนตามหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต

สำหรับข้อดีของการเรียนในระดับสายอาชีพมีดังต่อไปนี้

ได้ความรู้ ได้ประสบการณ์ มีรายได้ระหว่างเรียน
หลักสูตรสายอาชีพเน้นการลงมือภาคปฏิบัติอย่างแท้จริง ทุกหลักสูตรมีการฝึกงานเพื่อสร้างเสริม

ประสบการณ์และทักษะ
วิชาชีพตั้งแต่ยังเรียนอยู่ไม่น้อยกว่า 300 ชั่วโมง ได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติงานจริง ฝึกใช้อุปกรณ์ เรียนรู้ กระบวนการในสายอาชีพนั้น ๆ เป็นประสบการณ์ตรงจากหน้างาน

มีทักษะวิชาชีพติดตัว
เพราะการฝึกฝนปฏิบัติงานเป็นประจำย่อมทำให้เกิดทักษะและความเชี่ยวชาญติดตัวไปตลอด เมื่อศึกษาจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพสามารถใช้เป็นใบเบิกทางสมัครงานได้เลย

เลือกเรียนได้หลากหลายสาขาและอาชีพ 
หลักสูตรสายอาชีพมีให้เลือกเรียนหลากหลายสาขาวิชา สามารถเลือกเรียนได้ตามความสนใจและความถนัดของตัวเอง

เป็นที่ต้องการของบริษัทและแรงงาน
ในปัจจุบันกำลังขาดแคลนช่างฝีมือและบุคลากรวิชาชีพทักษะเฉพาะ เพราะต่างต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญหรือมีฝีมือเฉพาะทางในด้านนั้น ๆ ทำให้เมื่อเรียนสายอาชีพจบมาแล้วจะตอบโจทย์กับบริษัทมากกว่า 



และนอกจากนี้สถานที่เรียนปวช.นั้นมีมากมายอยู่ทั่วทุกจังหวัด และการเรียนในสายอาชีพก็มีให้เลือกเรียนอีกมาก โดยจะขอยกตัวอย่างสาขาอาชีพที่เรียนในระดับชั้นปวช. มีดังต่อไปนี้

อุตสาหกรรม สาขาวิชา : ช่างยนต์ ช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างก่อสร้าง เครื่องเรือนและตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม สำรวจ ช่างเขียนแบบเครื่องกล ช่างซ่อมบำรุง ช่างพิมพ์ เทคนิคแว่นตาและเลนส์ ช่างโทรคมนาคม ช่างเครื่องมือวัดและควบคุม อุตสาหกรรมยาง เมคคาทรอนิกส์ ช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีฟอกหนัง ช่างเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ เครื่องกลเกษตร
พาณิชยกรรม สาขาวิชา : การบัญชี การตลาด การเลขานุการ คอมพิวเตอร์ธุรกิจ ธุรกิจสถานพยาบาล การประชาสัมพันธ์ ธุรกิจค้าปลีก ภาษาต่างประเทศ โลจิสติกส์ การจัดการสำนักงาน การจัดการด้านความปลอดภัย ธุรกิจการกีฬา
ศิลปกรรม สาขาวิชา : วิจิตรศิลป์ การออกแบบ ศิลปหัตถกรรม ศิลปกรรมเซรามิก ศิลปหัตถกรรมรูปพรรณเครื่องถมและเครื่องประดับ ถ่ายภาพและมัลติมีเดีย เทคโนโลยีศิลปกรรม คอมพิวเตอร์กราฟิกอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เครื่องประดับอัญมณี ช่างทองหลวง การพิมพ์สกรีน ออกแบบนิเทศศิลป์
คหกรรม สาขาวิชา : แฟชั่นและสิ่งทอ อาหารและโภชนาการ คหกรรมศาสตร์ ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจคหกรรม
เกษตรกรรม สาขาวิชา : เกษตรศาสตร์
ประมง สาขาวิชา : เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขาวิชา : การโรงแรม การท่องเที่ยว
อุตสาหกรรมสิ่งทอ สาขาวิชา : เทคโนโลยีสิ่งทอ เคมีสิ่งทอ เทคโนโลยีเครื่องนุ่งห่ม
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สาขาวิชา : เทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์
อุตสาหกรรมบันเทิงและดนตรี สาขาวิชา : อุตสาหกรรมบันเทิง การดนตรี การสร้างเครื่องดนตรีไทย
พาณิชย์นาวี สาขาวิชา : เดินเรือ ช่างกลเรือ

ดังนั้นการเรียนสายอาชีพถือว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับนักเรียน หรือ นักศึกษาที่ต้องการลงมือปฏิบัติจริง ๆ อยากที่จะพัฒนาตัวเองและมีศักยภาพทางด้านอาชีพนั้น ๆ อย่างผู้เชี่ยวชาญ สามารถต่อยอดอาชีพในอนาคตได้ ทาง THE STUDY TIMES หวังว่าน้อง ๆ ทุกคนจะได้รู้แนวทางตัวเองและต่อยอดความฝันของน้อง ๆ ให้ประสบความสำเร็จได้นะคะ 


ที่มา 
https://www.yuvabadhanafoundation.org/th/highschool/studyplan/item4-2/
https://teen.mthai.com/education/176732.html