ส.ส. ก้าวไกลจี้มาตรการเยียวยาของรัฐบาลไม่ถ้วนหน้า ไม่ทั่วถึง และ ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหาย ชี้ต้องขยายมาตรการช่วยเหลือรายย่อยมากกว่านี้ก่อนที่จะเหลือแต่ทุนใหญ่พร้อมกลืนเศรษฐกิจ

นายวรภพ วิริยะโรจน์ และนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. พรรคก้าวไกล ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้ออกมาวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐบาล

นายวรภพกล่าวว่ามาตรการล่าสุด เน้นไปที่เยียวยานายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคม แต่ที่ผมมองว่ามาตรการนี้ยังตกหล่นและไม่เป็นธรรมจำนวนมากคือทั้ง ผู้ประกอบการและลูกจ้างที่อยู่นอกระบบประกันสังคม และ การเยียวยาที่น้อยกว่าผลกระทบจากมาตรการของรัฐอยู่มาก

การเยียวยาของรัฐบาลรอบนี้คือ เยียวยาให้นายจ้างในระบบประกันสังคม 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้าง และลูกจ้าง 2,500 บาทต่อราย เมื่อรวมเงินจากประกันสังคมอยู่แล้ว 7,500 บาท ลูกจ้างในระบบประกันสังคมจะได้ไม่เกิน 10,000 บาท

"สิ่งที่รัฐบาลควรทำ ที่ทางผมและพรรคก้าวไกล พยายามสื่อสารไปหลายครั้งว่า ทำไมไม่ชดเชยเยียวยา ผู้ประกอบการตามรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบนี้ไปเลย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี หรือแม้แต่ผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ คนละครึ่ง/เราชนะ เพราะรัฐบาลก็มีข้อมูลรายได้ที่ลดลงไปแล้ว ถึงจะเป็นการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสมและเป็นธรรม จากการให้ผู้ประกอบการร่วมมือกับมาตรการของรัฐ"

นายวรภพเสนอว่ามาตรการจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำในเวลานี้คือการพักชำระหนี้ไปอย่างน้อย 3 เดือน, กำหนดห้ามขับไล่ผู้เช่า 6 เดือนในช่วงที่สถานการณ์ยังวิกฤต, รวมทั้งช่วยเติมสภาพคล่องโดยอิงกับ ประวัติการจ่ายภาษีย้อนหลัง 10 ปี มาเป็นวงเงินกู้สำหรับธุรกิจเพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและอยู่ในระบบภาษีสามารถรอดวิกฤตไปได้แน่ๆ

"ก่อนที่ SMEs จะล้มหายไปจากประเทศไทย และเหลือเพียงกลุ่มทุนใหญ่ ที่พร้อมจะกลืนกินเศรษฐกิจไทยไปมากกว่า รัฐบาลต้องขยายมาตรการช่วยเหลือรายย่อยมากกว่านี้!!" นายวรภพกล่าว

ด้านนายปกรณ์วุฒิ แสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันว่า การเยียวยาครั้งนี้ ไม่ถ้วนหน้า ไม่ทั่วถึง และ ไม่ได้สัดส่วนกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ทั้งทีชัดเจนว่า เป็นการเยียวยาเนื่องมาจากการประกาศ เคอร์ฟิว และ ล็อกดาวน์ ครั้งล่าสุดเท่านั้น (มันคือการ ‘ล็อกดาวน์' ครับ เลิกเล่นคำกันเสียที)  แต่หลายๆธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนนั้น ได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของรัฐมายาวนาน อย่างน้อยๆก็ 240วัน ในช่วง 15เดือนที่ผ่านมา  ซึ่งอีกสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้นึกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วในช่วงเวลาที่ผ่านมาเลย

“มาตรการนี้ ถึงแม้ว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบได้บ้างไม่มากก็น้อย .. แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับความเสียหายที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และยังทิ้งกลุ่มคนกลางคืนอีกกว่า 67 จังหวัด ไว้ข้างหลัง รวมถึงยังคิดไม่ครบถ้วนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน และทำให้บางธุรกิจที่ถูกผลกระทบจริง ไม่ได้รับการเหลียวแล “ ปกรณ์วุฒิ กล่าว

ข้อดีเดียว ที่จะเกิดขึ้นจากการเยียวยาครั้งนี้ คือ จะมีการดึงแรงงานอิสระ เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้มากขึ้น เพื่อเป็นการติดตาม และช่วยเหลือ แรงงานอิสระ ที่เป็นสัดส่วนที่สูงมากของแรงงานทั้งหมดทั่วประเทศ และในอนาคต ฐานข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้รัฐสามารถติดตามช่วยเหลือแรงงานได้ในยามที่เกิดวิกฤติ

"ผมสนับสนุนให้แรงงานอิสระทุกคนเข้าร่วมลงทะเบียนประกันสังคม ใน ม.39 และ ม.40 ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือกันถ้วนหน้า ทุกคน" นายปกรณ์วุฒิกล่าวทิ้งท้าย