จับกระแส “กัญชง” ในดงอินเดีย โอกาสใหม่ทางธุรกิจ

ปัจจุบันกระแสกัญชงกับกัญชาในไทยกำลังมาแรงมากจากกระแสการผลักดันกัญชาให้ถูกกฎหมายทั้งในด้านการครอบครอง การปลูก และการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่หลายคนอาจจะยังสับสนว่า “กัญชง” กับ “กัญชา” เหมือนหรือต่างกันยังไง ผมเลยไปสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตก็พบความกระจ่างในเพจ “ทันข่าว Today” ซึ่งระบุว่า ทั้งกัญชาและกัญชงเป็นพืชชนิดเดียวกัน มีลักษณะภายนอกแตกต่างกันน้อยมาก แต่สามารถสังเกตในเบื้องต้นได้คือ กัญชงมีใบแคบเรียวและสีเขียวอ่อนกว่า มีลำต้นสูงและแตกกิ่งก้านน้อยกว่า ช่อดอกมียางน้อยกว่ากัญชา จึงมีการนำกัญชงไปใช้เป็นพืชเส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้าและเยื่อกระดาษ

แต่ถ้าต้องการจำแนกให้ลึกลงไป เพจดังกล่าวก็ให้พิจารณาจากสารประกอบที่เรียกว่าแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) โดยเฉพาะสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท นั่นคือ THC (Delta-9-Tetrahydrocannabinol) และสารสำคัญอีกชนิดคือ CBD (Cannabidiol) ซึ่งช่วยยับยั้งการออกฤทธิ์ของ THC ถ้าต้นที่มีสาร THC น้อยกว่า 0.3 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำหนักแห้ง จะถือว่าเป็น Hemp หรือกัญชง แต่ถ้ามีค่า THC สูงกว่านี้ถือว่าเป็น Marijuana หรือกัญชา กรณีใช้ทางการแพทย์ต้องสกัดสาร THC, CBD รวมถึงสารประกอบแคนนาบินอยด์อื่น ๆ ออกมาจากต้น ซึ่งแตกต่างจากการเสพกัญชาที่ใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชโดยตรง

สำหรับที่อินเดีย มีรายงานที่น่าสนใจจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย ระบุว่า กระแสที่กำลังมาแรงในปัจจุบันคือ “กัญชง” แต่ว่าการแปรรูปกัญชง (Hemp / Cannabis Sativa) เชิงอุตสาหกรรมในอินเดียยังอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างไรก็ดี คนอินเดียมีความคุ้นเคยกับการใช้ประโยชน์จากกัญชงมาตั้งแต่โบราณ โดยนำกัญชงมาเป็นส่วนหนึ่งของสมุนไพรแบบอายุรเวท (Ayurveda) และเครื่องเทศประกอบอาหาร รวมถึงเส้นใยสำหรับทำเสื้อผ้า กระเป๋าและเชือกด้วย ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้มีส่วนทำให้ภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักวิจัยของอินเดียเข้าใจในศักยภาพของกัญชงเป็นอย่างดี และตระหนักในการควบคุมผลกระทบต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์กัญชงมีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับในตลาดได้ง่าย

จากรายงานของ Grand View Research ระบุว่าในปัจจุบันตลาดสินค้ากัญชงในอินเดียยังมีมูลค่าเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของตลาดโลกเท่านั้น ในขณะที่ การใช้/บริโภคในอินเดียจะขยายตัวได้อีกมาก ทั้งการนำกัญชงไปใช้ในการผลิตน้ำมัน อาหารและเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ เส้นใยสำหรับเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง ของใช้สำหรับทำความสะอาด ปุ๋ย และวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ กระดาษรีไซเคิล วัสดุเฟอร์นิเจอร์ และวัสดุก่อสร้าง รวมถึงพลังงานชีวมวล นอกเหนือจากการนำมาผลิตเพื่อใช้ในทางการแพทย์ อาทิ ยาบรรเทาอาการของโรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคลมชัก โรคอัลไซเมอร์ และอาการเจ็บปวดเรื้อรังต่าง ๆ นอกจากนี้ คาดว่าภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้คนอินเดียหันมาบริโภคอาหารมังสวิรัติมากขึ้น ซึ่งเมล็ดกัญชงจะเป็นแหล่งโปรตีนที่ทดแทนถั่วและเนื้อสัตว์ โดยปราศจากกลูเตน และมักจะเป็นการเพาะปลูกแบบอินทรีย์ด้วย เพราะกัญชงเป็นพืชที่ไม่ค่อยมีศัตรูพืช จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง 

ผลิตภัณฑ์จากกัญชง

ขอบคุณภาพจาก : https://medium.com

ทั้งนี้ ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์ผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์นานาชาติ (IFPMA) และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) ประมาณการณ์ว่า ในปี 2567 ตลาดสินค้ากัญชงในอินเดียจะมีมูลค่าประมาณ 584.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สอดคล้องกับผลการสำรวจของ All India Institutes of Medical Sciences ที่พบว่าผู้บริโภคชาวอินเดียจะตอบรับต่อผลิตภัณฑ์กัญชงได้อย่างรวดเร็ว โดยพบว่ามีคนอินเดียจำนวนไม่น้อยกว่า 7.2 ล้านคนที่เคยใช้กัญชงมาแล้ว โดยการซื้อมาทดลองใช้เอง และมีราคาขายปลีกในอินเดียอยู่ที่ประมาณ 4.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อกรัม

ตาม พรบ. The Narcotic Drugs and Psychotropic Substances Act (1985) รัฐบาลกลางของอินเดียอนุญาตให้ปลูกกัญชงได้เฉพาะที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลหรือ THC ไม่เกิน 0.3 % โดยน้ำหนัก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกัญชงในอินเดียส่วนใหญ่มีระดับสาร THC สูงกว่าที่กำหนดไว้ การผลิตและซื้อ-ขายกัญชงในอินเดีย จึงเป็นการกระทำผิดกฎหมายตาม พรบ. ดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้ให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐให้สามารถพิจารณาอนุญาตให้มีการใช้ประโยชน์จากใบและเมล็ดของกัญชงได้ ภายใต้การควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ จะมีการตรวจสอบและส่งเสริมโดยกระทรวงการแพทย์แผนโบราณของอินเดีย (Ministry of Ayurveda, Yoga & Naturopathy: AYUSH) เป็นระยะ

ในปัจจุบันมีเพียงสามรัฐในอินเดียที่อนุญาตให้มีการปลูกกัญชงได้ ได้แก่ รัฐอุตตราขัณฑ์ รัฐอุตตรประเทศ และรัฐมัธยประเทศ ส่วนรัฐอื่น ๆ อีกหลายรัฐก็มีแนวโน้มจะอนุญาตให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมกัญชงเช่นกัน อาทิ รัฐมณีปุระ รัฐอานธระประเทศ และรัฐหิมาจัลประเทศ โดยรัฐอุตตราขัณฑ์เป็นรัฐแรกที่อนุญาตให้มีการเพาะปลูกได้ โดยได้ให้ใบอนุญาตแก่ Indian Industrial Hemp Association (IIHA) ซึ่งเป็น NGO สามารถเพาะปลูกเพื่อทำการทดลองในพื้นที่ 6,250 ไร่ โดยมีเป้าหมายที่จะขยายเป็น 62,500 ไร่ และมุ่งเน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ และนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยสำหรับป็นสิ่งทอเป็นหลัก

แม้ว่าจะมีการเพาะปลูกในไม่กี่รัฐ แต่มีผู้นำกัญชงมาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์แล้วภายใต้กิจการของสตาร์ทอัพประมาณ 30-40 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ (Biotech Startups) อาทิ บริษัท Bombay Hemp Company (BOHECO) โดยมีโรงงานแปรรูปอยู่ที่รัฐอุตตราขัณฑ์ (เมือง Almora) และในรัฐอุตตรประเทศ (เมือง Lucknow) นอกจากนี้ ยังมี Startups อีกหลายรายที่พร้อมจะผลิตเชิงอุตสาหกรรม และขยายตลาดทั้งภายในอินเดียและตลาดโลก อาทิ Hemp Street, Best Weed และ India Hemp Organics โดยมีแบรนด์หลักในตลาด ได้แก่ VEDI, SATLIVA, BOHECO Life และ B LABEL

ขอบคุณภาพจาก : https://www.vice.com

ทั้งนี้ การผลิตสินค้าจากกัญชงในอินเดียมีแนวโน้มที่จะเติบโตในปี 2564 จากการที่หน่วยงานด้านความปลอดภัยและมาตรฐานทางอาหาร (The Food Safety and Security Authority of India : FSSAI) ของอินเดียซึ่งเทียบได้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย ได้จัดทำร่างกฎระเบียบสำหรับการกำกับดูแลสินค้าที่นำกัญชงมาผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ภายใต้ The Food Safety and Standards (Food Products Standards and Food Additives) Amendment Regulations, 2020 ซึ่งผู้ประกอบการในอินเดียมองว่าจะเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ชัดเจนและเป็นสัญญาณที่เปิดให้สินค้ากัญชงมีการแข่งขันกันอย่างเสรีในตลาด โดย FSSAI ได้ยอมรับว่ากัญชงเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม ซึ่งล่าสุดได้มีการกำหนดว่าเครื่องดื่มที่ทำจากเมล็ดกัญชงต้องมี THC ไม่เกิน 0.2mg/kg โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการเตรียมการผลิตเครื่องดื่มกัญชงและสถานบริการเครื่องดื่มกัญชงตามมาเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม คุณสุพัตรา แสวงศรี ทูตพาณิชย์ไทยประจำนครมุมไบ ประเทศอินเดียได้ให้ความเห็นว่าการเพาะปลูกและการแปรรูปในอินเดียยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่สินค้าจากต่างชาติจะเข้าไปแทรกตลาดหากมีราคาที่เทียบเคียงได้กับจีน ทั้งนี้ อินเดียเรียกเก็บภาษีนำเข้าสำหรับกัญชงในอัตรา 30% โดยผู้นำเข้าต้องมีใบอนุญาตให้นำเข้าไปเพื่อการวิจัยทางการแพทย์ด้วย ดังนั้น โอกาสที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการไทย จึงน่าจะเป็นการเข้าไปร่วมลงทุนในการแปรรูปกัญชงเพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่มีสภาพอากาศเหมาะสมและเกษตรกรมีทักษะในการปลูกที่ดี รวมถึงโอกาสจากการเข้าไปถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนให้กับ Tech-Startups ของอินเดียที่กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อรองรับการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อภาครัฐของอินเดีย (FSSAI) มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าจากกัญชงที่ชัดเจนแล้ว ในขณะที่ ผู้บริโภคในอินเดียเองก็มีความคุ้นเคยกับกัญชงอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงเอื้อให้เกิดการตอบรับของตลาดได้อย่างรวดเร็วและหลากหลาย

ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยหรือนักลงทุนไทยที่สนใจธุรกิจเกี่ยวกับกัญชงที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ที่ประเทศอินเดียที่เป็นตลาดใหญ่อันดับสองรองจากประเทศจีน

ขอขอบคุณสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างปรแทศ ณ นครมุมไบ ประเทศอินเดีย


เขียนโดย: อดุลย์ โชตินิสากรณ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญการค้าในอินเดียแบบเจาะลึก