‘จีน’ ใช้ประโยชน์จากภาวะโลกร้อน บุกขั้วโลกเหนือ เปิดเส้นทางเดินเรือ  ‘Polar Silk Road’

‘จีน’ ใช้ประโยชน์จากภาวะโลกร้อน บุกขั้วโลกเหนือ เปิดเส้นทางเดินเรือ  ‘Polar Silk Road’

พูดถึงมหาสมุทรอาร์กติกหลายท่านอาจไม่คุ้นว่าอยู่แถวไหน แต่หากบอกว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของหมีขาวและเต็มไปด้วยน้ำแข็งก็น่าจะพอคุ้นกันบ้าง

มหาสมุทรแห่งนี้ถูกจัดอันดับให้เป็นมหาสมุทรที่เล็กที่สุดและอยู่เหนือสุดของโลก ด้วยความหนาวเย็นจึงทำให้บางส่วนเป็นน้ำแข็งตลอดปี และเป็นน้ำแข็งเกือบทั้งหมดในช่วงหน้าหนาว นอกจากนั้นยังเชื่อมทวีปเอเชียกับยุโรปด้วยเส้นทาง Northern Sea Route

Northern Sea Route คือ เส้นทางเดินเรือที่เริ่มจากรัสเซียฝั่งตะวันออกที่อยู่ในเอเชีย แล้วมุ่งหน้าขึ้นเหนือเข้าสู่มหาสมุทรอาร์กติก เลาะริมชายฝั่งของรัสเซียจนถึงฝั่งตะวันตกที่อยู่ในทวีปยุโรป เส้นทางเดินเรือนี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี 1872 แต่เพราะทะเลเป็นน้ำแข็ง จึงแล่นเรือได้เฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมเท่านั้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อน และต้องใช้เรือตัดน้ำแข็งแล่นนำทาง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการเดินเรือในเส้นทางนี้สูงและไม่สะดวกเมื่อเทียบกับเส้นทางอื่น

แต่จากภาวะโลกร้อนในปัจจุบันส่งผลให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น จนในปี 2017 เรือบรรทุกแก๊สของรัสเซียสามารถเดินเรือผ่านเส้นทางนี้ได้โดยไม่ต้องมีเรือตัดน้ำแข็งนำขบวน

จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้จีนเห็นโอกาสในการขยายเส้นทางในการขนส่งสินค้าใหม่จึงประกาศในปี 2018 ว่าจะบุกเบิกเส้นทางสายไหมขั้วโลก (Polar silk road) เพราะหากใช้เส้นทางเดินเรือนี้จะประหยัดระยะเวลาเดินทางจากจีนไปยังท่าเรือรอตเตอร์ดาม ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นแหล่งกระจายสินค้าที่สำคัญของยุโรปได้ถึง 30 - 40%

นอกเหนือจากเส้นทางการค้าใหม่แล้วจีนยังเข้าถึงแหล่งพลังงานที่สำคัญนั้นก็คือแก๊สธรรมชาติ โดยมีการถือหุ้นโครงการ Yamal ในประเทศรัสเซีย ผ่านทาง China National Petroleum Corp. (CNPC) จำนวน 20% และกองทุน China’s Silk Road อีก 9.9% ซึ่งบริเวณที่ตั้งของโครงการ Yamal นั้น คาดการณ์ว่ามีแก๊สธรรมชาติอยู่ถึง 15% ของทั้งโลก และจีนเองก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ การพัฒนาเส้นทางเดินเรือนี้จึงส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าแก๊สของจีน เมื่อต้นทุนการนำเข้าแก๊สถูกลงก็ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าภายในประเทศ

นอกจากนั้นจีนยังส่งเสริมทางด้านการวิจัยและเทคโนโลยี โดยสถาบันอวกาศและเทคโนโลยีของจีนร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซุนยัตเซ็นได้ส่งดาวเทียมสำรวจขึ้นไปบริเวณนี้เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงสภาพของน้ำแข็งและส่งข้อมูลกลับมาเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการเดินเรือ

จากเรื่องนี้เราเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการวางเป้าหมายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานว่าจะใช้ในการขนอะไร และจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศอย่างไร รวมถึงยังส่งเสริมทางด้านการวิจัยเพื่อนำผลที่ได้มาใช้ในภาคธุรกิจ แล้วคงต้องถามกลับว่าโครงการก่อสร้างพื้นฐานหลายโครงการในไทยมีแผนการที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติชัดเจนแบบนี้หรือไม่

เขียนโดย อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา