รู้เพื่อตั้งรับ!! 5+1 รูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังวิกฤติโควิด-19

มาตรการเร่งกระจายวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศขณะนี้ ทำให้เกิดการคาดการณ์จากหลายฝ่ายถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยที่จะกลับสู่ระดับเดิมเช่นก่อนเกิดวิกฤติ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประสิทธิภาพของนโยบายการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายการเงิน การคลัง ที่ผ่อนปรนต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นำไปสู่การฟื้นตัวของภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ตลอดจนการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคาดเดาได้ยาก 

อย่างไรก็ตาม ตามหลักเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายถึง 5 รูปแบบ ของการฟื้นตัวหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ได้แก่  V, U, W, Swoosh และ L-Shape ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในขณะนี้ 

ที่มา ห้องเรียนนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=7516&type=article)

1.) การฟื้นตัวแบบ V-Shape (V-Shape Rebound) “ลงเร็ว ฟื้นเร็ว”
เป็นรูปแบบที่ถูกคาดหวังอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุด คือ เมื่อประเทศผ่านวิกฤติซึ่งเป็นจุดที่ต่ำที่สุดไปแล้ว เศรษฐกิจจะพลิกฟื้นกลับสู่ระดับเดิมได้อย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังอาจไม่กลับมาฟื้นตัวในปีนี้ ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้ยาก

2.) การฟื้นตัวแบบ U-Shape (U-Shape Rebound) “หดตัวนาน ฟื้นตัวช้า”
เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่อาจเป็นไปได้สำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยมีรูปแบบคล้ายกับ V-Shape แต่แตกต่างตรงระยะเวลาของผลกระทบที่อาจนานกว่า ใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า ก่อนที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ระดับเดิม ทั้งนี้การออกนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตลอดจนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญถึงระยะเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถผ่านพ้นช่วงฐานตัว U ไปได้ช้าเร็วเพียงใด

3.) การฟื้นตัวแบบ W-Shape (W-Shape Rebound) “ฟื้นเร็ว ดิ่งลงรอบสอง”
จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด หากเกิดการระบาดในระลอกใหม่อย่างรุนแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ และรัฐบาลเลือกใช้มาตรการล็อกดาวน์ ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีรูปแบบ “ดับเบิ้ล ดิป” ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหรือจุดที่ต่ำที่สุดอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น มาตรการผ่อนปรนที่ถูกใช้ในเวลาหรือสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวในรูปนี้ก็เป็นได้

4.) การฟื้นตัวแบบ Swoosh (Swoosh Rebound) “ไถลลงเร็ว ค่อยๆ ฟื้นตัว” หรือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามแบบ “รูปเครื่องหมายไนกี้”
เป็นการไถลลงเร็วแบบตัว V และค่อยๆ ฟื้นตัว โดยการฟื้นตัวของนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายถูกหางยาว ที่แสดงถึงการเติบโตอย่างเชื่องช้า แต่สุดท้ายเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาได้ก็ไปในแนวโน้มที่ดีและพุ่งขึ้นเหมือนเดิม ซึ่งเป็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจตามการผ่อนปรนมาตรการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การค้าทั้งภายในและระหว่างประเทศในช่วงแรกยังคงทำได้อย่างจำกัด

5.) การฟื้นตัวแบบ L-Shape (L-Shape Rebound) “หดตัวยาวนาน ไร้สัญญาณการฟื้นตัว” 
เป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ที่เมื่อเศรษฐกิจปรับลดลงแล้ว อัตราการขยายตัวจะไม่สามารถกระตุ้นให้กลับมาเป็นปกติเท่ากับระดับก่อนหน้าเกิดวิกฤติได้ ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องยาวนาน และไม่รู้ว่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดิมได้หรือไม่ ดังเช่น วิกฤติโลก Great Depression ที่ใช้เวลานานกว่า 10 ปี ในการฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวในรูปแบบนี้อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ และเกิดภาวะถดถอยในระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง 

นอกจากนี้ มีการกล่าวถึงรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกรูปแบบหนึ่งเพิ่มเติม คือ รูปแบบ K-Shaped หรือ ตัวอักษร K ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกลับสู่ระดับเดิมได้และขยายตัวต่อเนื่องในบางกลุ่ม (แทนหางของตัว K ที่ชี้ขึ้นไปข้างบน) ขณะเดียวกันสำหรับบางกลุ่มอาจยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ และยังคงเผชิญกับภาวะตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ (แทนหางของตัว K ที่ชี้ลงมาด้านล่าง)

ที่มา : บทความการฟื้นตัวแบบรูปตัว K ของเศรษฐกิจไทย: ในวิกฤตยังมีโอกาส ธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_31May2021.aspx)

อย่างไรก็ตาม แสงสว่างปลายอุโมงที่อาจเริ่มมองเห็นได้ในขณะนี้ คงเป็นความหวังของทุกคนที่จะร่วมใจผ่านพ้นวิกฤติโควิดของประเทศในครั้งนี้ไปด้วยกัน

เขียนโดย อาจารย์ กมลวรรณ รอดหริ่ง อาจารย์ประจำสาขาการเงิน คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.set.or.th/set/education/knowledgedetail.do?contentId=7516&type=article
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_31May2021.aspx
https://www.prachachat.net/public-relations/news-521654
https://www.terrabkk.com/news/198705/