‘มายาคติ’ ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุ

ช่วงนี้สนใจอยากพูดถึงเรื่องของผู้สูงอายุในบ้านเรา เพราะไม่ปีนี้ก็ปีหน้าคาดว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศแล้ว ดังนั้นการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง และในฐานนักวิชาการด้านสื่อก็เกิดความสนใจว่าการศึกษาด้านสื่อกับผู้สูงอายุในเมืองไทยนั้นมีมากน้อยเพียงใดและว่าด้วยเนื้อหาเรื่องใดบ้าง ก็ไปพบว่าอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ ได้ทำการศึกษาประเด็นการสื่อสารกับผู้สูงวัย (2554)

อาจารย์พบว่างานวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้สูงอายุในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี พศ.2525 มาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน รวมเป็นเวลาเกือบ 30 ปีนั้น มีงานวิจัยที่ระบุหัวข้อชื่อตรงกับผู้สูงอายุและการสื่อสารไม่เกิน 10 เล่มทั้งที่จำนวนผู้สูงอายุนั้นมีถึงเกือบร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และยังพบว่าการวิจัยในประเด็นผู้สูงอายุที่มักเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจขนาดใหญ่นั้นไม่ช่วยเห็นลักษณะเฉพาะของความเป็นผู้สูงอายุได้ และเมื่อผสมกับการขาดแนวคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่รอบด้านและชัดเจนจึงทำให้ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีข้อค้นพบเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของผู้สูงอายุในแง่มุมของการสื่อสาร และเมื่อศึกษางานวิจัยอื่น ๆ พร้อม ๆ ไปกับการสังเกตรายการในหน้าจอทีวี สังเกตได้ว่ามีความเข้าใจผิดหรือมีมายาคติเกี่ยวกับผู้สูงอายุอยู่มากในเรื่องใช้สื่อของผู้สูงอายุ ลองมาดูกันค่ะว่าเราเองก็เข้าใจผู้สูงอายุผิดไปหรือไม่

มายาคติผู้สูงอายุตื่นแต่มืดแต่ดึก : ผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืด ตี 4 - 5 มาดูทีวี มาฟังวิทยุ จริงหรือ?

อาจจะพูดได้ว่าการคิดว่าผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืดดังนั้นถ้าจะทำสื่อให้ผู้สูงอายุต้องใช้ช่วงเวลาตีสี่ตีห้า แต่แทนจริงแล้วเป็นเพียงมายาคติที่สังคมมองมายังผู้สูงอายุ เพราะมีงานวิจัยหลายเรื่องที่พบว่าผู้สูงอายุไม่ได้เปิดรับสื่อช่วงเช้ามืดอย่างที่สังคมเข้าใจ เช่น จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) พบว่าผู้ชมที่มีอายุระหว่าง 60 - 65 ปีมีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และ ช่วงสาย (09.01 น. - 12.00 น.) ผู้ชมที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และช่วงเย็น (16.01 น. - 19.00 น.) 

และพนม คลี่ฉายา (2555) ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย โดยมีสำรวจการเปิดรับสื่อ โดยพบว่าเปิดรับสื่อเป็นประจำมากที่สุด ได้แก่ โทรทัศน์ บุคคลใกล้ชิด และโทรศัพท์มือถือ ผู้สูงอายุมักจะชมโทรทัศน์มากที่สุด โดยชมรายการข่าวเป็นประจำ ในช่วงเวลา 17.01 - 21.00 น. ใช้เวลาในการชม คือ 1 - 3 ชั่วโมง/ครั้ง สอดคล้องกับแนวคิดของบริษัทอาร์เอสโปรโมชั่น ในการผลิตรายการโทรทัศน์ช่องเพลินทีวี ทีวีเพื่อผู้สูงอายุ ระบุว่าผู้สูงอายุมีวิถีชีวิต (Lifestyle) ในการรับชมโทรทัศน์อยู่กับบ้านเฉลี่ยมากกว่าบุคคลวัยอื่นถึงร้อยละ 10 โดยที่เวลาไพร์มไทม์ของกลุ่มคนสูงอายุอยู่ในช่วงเวลา 17.30 - 21.30 น. (แต่แอบกระซิบเบา ๆ ว่าหลังจากที่ออกอากาศได้เพียงแค่ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 บริษัทอาร์เอสฯได้ประกาศยุติออกอากาศในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ)

ดังนั้นจะเห็นว่าสังคมมีความเข้าใจผิดคิดว่าผู้สูงอายุนั้นมักชอบชมรายการโทรทัศน์หรือฟังวิทยุในช่วงเวลาเช้ามืดนั้นไม่เป็นความจริง และหากจะถามหาเวลาที่เหมาะในการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุควรจะเป็นช่วงเย็น ๆ มากว่าช่วงเช้ามืดด้วยซ้ำไป

มายาคติผู้สูงอายุชอบทำบุญเข้าวัด : ผู้สูงอายุชอบรายการธรรมะที่สุด จริงหรือ?

มายาคติอีกเรื่องที่ไม่รู้ใครบัญญัติมาให้เชื่อตาม ๆ กัน คือการเหมารวมว่าการที่ผู้สูงอายุชอบเข้าวัดทำบุญดังนั้นจึงชอบดูรายการธรรมะที่สุด แต่จริง ๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) ในประเด็นการเปิดรับความต้องการและการใช้ประโยชน์รายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์จากการชมรายการโทรทัศน์ 3 อันดับแรก ได้แก่

1) เพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสาร
2) เพื่อสร้างความเบิกบานใจ ความสุข และคลายเหงา
3) เพื่อนำเนื้อหาไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง ลักษณะเนื้อหาในสื่อที่ผู้สูงอายุต้องการ จากผลงานวิจัยนี้ทำให้เชื่อมโยงได้ว่าผู้สูงอายุชอบรายการที่ให้ทราบข้อมูลข่าวมากว่ารายการธรรมะแน่ ๆ นอกจากนี้ยัง พบว่า

ผู้สูงอายุต้องการเนื้อหาให้สื่อนำเสนอให้เห็นถึงศักยภาพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกหรือเชิดชูผู้สูงอายุ เนื้อหาที่แสดงให้เห็นความรักความผูกพันระหว่างผู้สูงอายุกับครอบครัว และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การรักษาสุขภาพ สิทธิทางกฏหมาย และสวัสดิการต่างๆ เป็นต้นด้วย จากงานวิจัยที่กล่าวไปนี้น่าจะพอสรุปได้ว่ารายการธรรมะอาจไม่ได้เป็นรายการที่ผู้สูงอายุจะชื่นชอบที่สุดหรือจะเลือกชมเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยซ้ำไป

มายาคติว่าผู้สูงอายุทุกคนก็ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน : ผู้สูงอายุมีความต้องการใช้สื่อเหมือน ๆ กันหมดจริงหรือ?

มายาคตินี้เราเจอกับบ่อย ๆ เพราะการคิดเหมารวมอีกเช่นกันว่าขึ้นชื่อว่าผู้อายุก็คงจะมีความต้องการใช้สื่อเหมือนกันหมดเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่จากการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยนั้นก็มีความต้องการในการใช้สื่อที่หลากหลายและแตกต่างกันไม่แพ้วัยเด็กและเยาวชน โดยสิ่งที่เป็นเงื่อนไขปัจจัยมีทั้งปัจจัยส่วนตัว เช่น ลักษณะบุคลิกภาพ ความชอบ ความถนัดและปัจจัยด้านการศึกษา และปัจจัยทางด้านสังคม สภาพครอบครัวและฐานะทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยทางกายภาพ เช่น พื้นที่อยู่อาศัยนั้น ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้สื่อทั้งสิ้น ส่วนในภาพรวมนั้นอาจกล่าวได้ว่าแม้กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตน้อยที่สุดหากเทียบกับกลุ่ม Gen X และ Gen Y สื่อหลักอย่างโทรทัศน์และวิทยุก็ยังคงเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้สูงอายุได้มากที่สุด

โดยที่สื่อวิทยุนั้นจะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุในเขตต่างจังหวัดได้มากกว่าเขตเมือง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นและสื่อออนไลน์ก็เป็นที่นิยมของผู้สูงอายุมากขึ้น และยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน ดังเช่นงานวิจัยของ กันตพล บันทัดทอง (2557) เรื่อง พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 66 ปีขึ้นไป มีความพึงพอใจในการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 66 ปีขึ้นไป อาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น ปัญหาสายตา ปัญญาการใช้นิ้วหรือมือ จึงไม่สามารถใช้บริการเครื่อข่ายสังคมออนไลน์ได้ จึงมีความพึงพอใจต่ำกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น

มายาคติที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่กล่าวไปข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตสื่อ ยังมีความเข้าใจผิดถึงพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุและยังไม่มีข้อมูลองค์ความรู้สำคัญพื้นฐานที่จะทำให้การผลิตสื่อที่เหมาะสมตรงความต้องการของผู้สูงอายุ ดังนั้นการทำความรู้จักและเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุอย่างถ่องแท้ จะเป็นประโยชน์มากในการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุ ภาครัฐควรสนับสนุนนโยบาย งบประมาณและพัฒนาบุคลากร เพราะในประเทศไทยการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับการทำสื่อเพื่อเด็ก คือผู้ประกอบการมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับผลกำไรที่ได้ในทางธุรกิจ ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาช่วยหนุนเสริมภารกิจนี้อีกทาง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดึงศักยภาพของผู้สูงอายุออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม นอกจากนี้สื่อยังสามารถทำหน้าที่ช่วยให้คนในสังคมที่มีความหลากหลายของช่วงวัยเกิดความเข้าใจซึ่งกันละกัน ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ยอมรับในความหลากหลายและเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนทุกช่วงวัย อย่างที่ย้ำเสมอว่าการเป็นสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของเราทุกคนจริง ๆ

เขียนโดย: อาจารย์ระวีวรรณ ทรัพย์อินทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรีการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (BMCI) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 


ข้อมูลอ้างอิง
กาญจนา แก้วเทพ.(2554).ผู้คนที่หลากหลายในการสื่อสาร: เด็ก สตรี และผู้สูงอายุ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ.
ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์
พนม คลี่ฉายา. (2555). ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย: รายงาน
การวิจัย (Information Need, Media Uses and Media Habit of Thai Elderly: Research Report). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
กันตพล บันทัดทอง.(2558) พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุใน
เขตกรุงเทพมหานคร.บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
“ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง.สืบคนเมื่อ 20 มกราคม 2556.จาก http://positioningmag.com/60832
Positioning. (2558) ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559. จาก http://positioningmag.com/60832
เผยแนวโน้ม “สื่อรุ่ง – สื่อร่วง” ปี ’59 ชี้ชะตาอนาคตสื่อปีหน้า ใครจะได้ไปต่อ !! สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม2559. จาก http://www.brandbuffet.in.th/2016/12/kantar-worldpanel-media-profiler-2016