สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยการล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อสังคมออนไลน์

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่กำลังแพร่ระบาด ว่าในปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ได้ง่ายขึ้น นอกจากจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแล้ว ในทางกลับกันก็มีเหล่ามิจฉาชีพ ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการกระทำความผิด และเกิดขึ้นมากในแอพพลิเคชั่นหาคู่ ซึ่งเหยื่อมักจะเป็นเด็กและเยาวชน ที่อาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยรูปแบบของการกระทำความผิดมักจะเป็นการสร้างโปรไฟล์ปลอมขึ้นมาให้เป็นบุคคลที่หน้าตาดี ฐานะดี และเข้ามาพูดคุยกับเหยื่อผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จากนั้นจะล่อลวงโดยบอกว่าจะมอบเงินหรือสิ่งของให้  แลกกับการถ่ายภาพหรือวิดีโอเปลือย หรือในบางรายถึงขั้นล่อลวงไปมีเพศสัมพันธ์และแอบถ่ายไว้ จากนั้นก็จะนำภาพหรือวิดิโอมาข่มขู่ ให้เหยื่อส่งเงินมาให้หรือให้ส่งภาพมาเพิ่ม ไม่เช่นนั้นจะปล่อยลงสื่อสังคมออนไลน์ และเหล่ามิจฉาชีพก็จะนำภาพหรือวิดีโอดังกล่าวไปหาประโยชน์ เช่น การนำไปขายต่อ การสร้างกลุ่มให้คนเข้ามาดูโดยเก็บค่าเข้ากลุ่ม เป็นต้น

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท, ความผิดฐานทำ ผลิต มีไว้ หรือเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กด้วยวิธีใดๆ มีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 30,000-200,000 บาท, ความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลใดๆ ที่มีลักษณะลามก มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14(4) และความผิดฐานขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร  มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้เห็นความสำคัญและตระหนักถึงพิษภัยของ การล่วงละเมิดทางเพศบนอินเตอร์เน็ต จึงมีนโยบายให้กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.), กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์(บก.ปคม.), กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี(กก.ดส.), คณะทำงานปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเตอร์เน็ต(TICAC) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี  พ.ศ.2558 รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เฝ้าระวัง สืบสวน ปราบปรามผู้กระทำความผิดและขยายผลไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนอย่างจริงจังต่อเนื่อง และต้องมีผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม รวมถึงเร่งสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชนทราบถึงพิษภัยและรูปแบบการกระทำความผิด เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหายและตัดโอกาสในการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันหลีกเลี่ยงโดย ผู้ปกครองต้องปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้กับบุตรหลาน คอยแนะนำและสังเกตพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์  อย่างใกล้ชิด อย่าพูดคุยกับคนแปลกหน้าและอย่าให้ข้อมูลส่วนตัว รวมถึงภาพส่วนตัวกับใครในสื่อสังคมออนไลน์ นอกจากนี้หากพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599  ได้ตลอด 24 ชั่วโมง