'เฉลิมชัย'​ เดินหน้า '5ยุทธศาสตร์'​ ฝ่าวิกฤตโควิด จับมือเอกชน เร่งพัฒนา 'แอร์คาร์โก'​ พร้อมตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรอาหาร เพิ่มศักยภาพการส่งออกเริ่มแห่งแรกที่ดอนเมืองก่อนขยายไปสุวรรณภูมิ ตั้งเป้าฮับอาเซียน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (13​ มิ.ย) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการพัฒนาระบบการขนส่งทางอากาศ (Agriculture and Food Air Cargo Terminal: AFCT) สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งจะมีการจัดตั้ง 'ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร-อาหาร'​ โดยเริ่มโครงการนำร่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง และท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นลำดับถัดไปก่อนจะขยายโครงการไปยังท่าอากาศยานภูมิภาคที่มีความพร้อมเช่น​ เชียงใหม่, ขอนแก่น, หาดใหญ่, ภูเก็ต เป็นต้น​ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาคเกษตรอาหารซึ่งเป็นโอกาสของประเทศไทยภายใต้วิกฤติโควิด19

นายอลงกรณ์​ กล่าวต่อไปว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารต้องการความสะดวกรวดเร็วส่งถึงลูกค้าปลายทางทั่วโลกด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล​ โดยคงความสดสะอาดอร่อยสามารถเพิ่มเวลาการบริโภคหรือเวลาการขาย (Shelf life) มากขึ้น

สำหรับศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรอาหาร ณ คาร์โกเทอร์มินัล​ ทำหน้าที่ให้บริการตรวจสอบรับรองสินค้าเกษตรอาหารเพื่อส่งออกตามเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้า และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ประกอบด้วย สินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์ โดยให้บริการกับผู้ขอรับบริการทั่วไปแบบวันสต็อปเซอร์วิสเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นฮับการผลิตและขนส่งสินค้าเกษตรและอาหารของอาเซียน

“อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโรคโควิด19 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรในปีที่ผ่านมา การประเมินการส่งออกอาหารของไทยในปี 2564 โดยสถาบันอาหาร คาดการณ์ว่าสินค้าอาหารของไทยจะมีมูลค่า 1.08-1.10 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2-12.2% เทียบกับปีที่ผ่านมาที่หดตัวจากผลกระทบของโควิด19 

"ดังนั้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชน จึงเป็นกลไกที่สำคัญในสนับสนุนการส่งออกผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และความปลอดภัยของสินค้าเกษตรไทย จะเป็นส่วนสำคัญในการรักษาความเชื่อมั่นของตลาดต่างประเทศ เพิ่มปริมาณและมูลค่าสูงขึ้น และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมต่อไป”

นายอลงกรณ์​ กล่าวอีกว่า​ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้ายุทธศาสตร์ 'ตลาดนำการผลิต'​ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่จะขับเคลื่อนการทำงานด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และ 15 แนวทางนโยบายหลักโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตเป็นยุทธศาสตร์หลักเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรและ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร เพื่อตอบสนองต่อห่วงโซ่อุปทาน ที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่ออํานวยความสะดวกในการส่งออก และนําเข้าสินค้าเกษตร