คุณนูป อัครพัชร์ ภัทรศิริภาณิน | THE STUDY TIMES STORY EP.16

บทสัมภาษณ์ คุณนูป อัครพัชร์ ภัทรศิริภาณิน นักศึกษาแพทย์ Medical University of Lublin, สาธารณรัฐโปแลนด์ 
นักเรียนแพทย์สายคอนเทนต์ เรียนที่โปแลนด์ให้อะไรมากกว่าที่คิด

ปัจจุบัน คุณนูปเป็นนักศึกษาแพทย์ อยู่ที่ Medical University of Lublin ประเทศโปแลนด์ 

จุดเริ่มต้นเรียนแพทย์ที่โปแลนด์ มหาวิทยาลัย Medical University of Lublin
คุณนูปมีความสนใจอยากเรียนหมออยู่แล้ว เพราะมีความฝันอยากเป็นหมอในค่ายผู้อพยพ จนได้พบเอเจนซี่ที่ส่งนักศึกษาไปเรียนที่โปแลนด์ จึงได้ตัดสินใจ ด้วยความที่ค่าเทอมไม่แพง และค่าครองชีพไม่สูง ที่คุณนูปเคยศึกษาเปรียบเทียบค่าเทอมเรียนหมอ 6 ปี พบว่า โปแลนด์มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.4 ล้านบาท ขณะที่เอกชนที่ประเทศไทยประมาณ 3 ล้านบาท 

การเรียนที่โปแลนด์จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ช่วง 4 เทอมแรกมีเรียนภาษาโปลิชด้วย ในคลาสเรียนมีทั้งนักเรียนจากไต้หวัน อเมริกัน ตะวันออกกลาง สแกนดิเนเวีย

คุณนูปสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วยวิชาทางวิทยาศาสตร์และใช้คะแนน IELTS ปัจจุบันนักเรียนไทยที่มาเรียนแพทย์ที่ Lublin มีประมาณ 100 กว่าคน จุดเด่นที่ทุกคนเลือกมาเพราะค่าเทอมที่ถูก และค่าครองชีพที่ไม่แพง 

การเรียนที่โปแลนด์มีสอบทุกสัปดาห์ ต้องทำคะแนนสอบให้ได้มากกว่า 50% ขึ้นไป จึงจะมีสิทธิ์สอบไฟนอล ต้องอ่านหนังสืออยู่เรื่อย ๆ  ปีแรกที่มาปรับตัวยากมาก เพราะคนไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ทำให้สื่อสารยาก

ด้วยความที่คนที่นี่ไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก สำเนียงจะฟังยากมาก ทำให้มีอุปสรรคด้านการสื่อสาร เวลาเครียดคุณนูปก็จะมีออกไปกินข้าว ท่องเที่ยวกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งไปหานักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยที่มีให้บริการ

วิถีชีวิตนักเรียนไทยในโปแลนด์ ส่วนใหญ่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำกิจกรรมร่วมกัน ไปเตะฟุตบอล ทานข้าวด้วยกัน แต่ด้วยความที่สอบเยอะมากก็จะไม่ค่อยมีเวลา วิธีที่ทำให้คุณนูปผ่านช่วงเวลายากลำบากมาได้ คือ การจดไดอารี่ไว้ 

สิ่งที่น่าสนใจในโปแลนด์ คุณนูปแนะว่า ถ้าชอบมิวเซียม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ดนตรีคลาสสิก โปแลนด์เป็นอีกตัวเลือกที่น่ามาเที่ยวมาก ด้วยความที่เป็นพื้นที่ของสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน และมีอุทยานแห่งชาติกว่า 100 แห่ง

คุณนูปเป็นนักกิจกรรมตัวยง ทั้งเล่นดนตรี กีฬา ท่องเที่ยว ปีนผา คุณนูปเล่าว่า กิจกรรมปีนผา เริ่มทำช่วงกลับไทยเมื่อปีที่แล้วตอนสถานการณ์โควิดระบาดหนัก เจ้าของสำนักพิมพ์ที่คุณนูปเป็นนักเขียนอยู่ได้ชวนไปปีนผา ไปแล้วเกิดติดใจ เมื่อกลับมาโปแลนด์ก็ยังสนใจและทำต่อมาเรื่อย ๆ 

คุณนูปมีอุดมการณ์ คือ อยากเป็นแพทย์ที่ดูแลผู้ลี้ภัย เพราะมีอาจารย์ที่เป็นต้นแบบ แล้วรู้สึกว่าเท่ดี ตอนย้ายมาอยู่โปแลนด์มีช่วงหนึ่งที่เขวไปบ้าง แต่มีโอกาสได้ทำเรื่องเกี่ยวกับอาหารกลางวันให้เด็กที่เคนย่า เลยสามารถดึงตัวเองกลับมาในความฝันที่เคยตั้งไว้ 

จุดเริ่มต้นอาชีพนักเขียน 
จุดเริ่มต้นการเป็นนักเขียนของคุณนูปเริ่มมาจากเป็นแฟนของสำนักพิมพ์ชี้ดาบ รู้จักกับพี่ที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ ช่วงที่โปแลนด์มีโควิดระบาดหนักทำให้ออกไปไหนไม่ได้ เลยตัดสินใจทักไปคุยกับรุ่นพี่เจ้าของสำนักพิมพ์ พี่เลยได้ชวนมาเขียนหนังสือรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับคนไทยที่เจอโควิดจากทั่วโลก คุณนูปจึงตัดสินใจเขียนหนังสือที่มีชื่อว่า พังเรนเจอร์ : AGE OF CORONA

อีกเล่มมีชื่อว่า อยุติธรรม เจนเนอร์เรชั่น | พังเรนเจอร์ จูเนียร์ ซึ่งรวบรวมประสบการณ์ที่เจอมาแล้วรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับตัวเรา 

การเขียนสำหรับคุณนูปเหมือนการปลดปล่อยอีกรูปแบบหนึ่ง ด้วยความที่กิจกรรมบางอย่างที่เคยทำเพื่อปลดปล่อยความเครียด อาจจะทำไม่ได้ในช่วงโควิด จึงต้องหาวิธีอื่นในการปลดปล่อยออกมา
 
คุณนูปคิดว่า 'นักศึกษาแพทย์' และ 'นักเขียน' มีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน เช่น เรื่องเรียนทำให้ต้องอ่านหนังสือทุกวัน ส่วนการเขียนเป็นสิ่งที่เจอทุกวัน เป็นสิ่งที่สะสมทุกวันทั้งคู่ แต่ความต่าง คือ การเขียนเป็นประสบการณ์ตรงที่เราเจอเองจริง ๆ แต่การเรียนไม่ใช่สิ่งที่เราเจอมาด้วยตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่เราอ่านความรู้ที่คนอื่นเตรียมไว้แล้ว

แผนในอนาคตเมื่อเรียนจบของคุณนูป คือ กลับไทยเพื่อสอบใบประกอบเก็บไว้ ก่อนจะออกเดินทางไปตามค่ายผู้ลี้ภัยแล้วค่อยกลับมาเมืองไทย 

สุดท้ายคุณนูปฝากสำหรับคนที่อยากเรียนแพทย์ในโปแลนด์ไว้ว่า ข้อสอบเข้ายากขึ้นมาก ให้อ่านหนังสือเยอะ ๆ ทำภาษาอังกฤษไว้ให้ดี


.

.


.