ธุรกิจสุขภาพ - ความงาม ยังปัง! ท่ามกลางสังคมที่ต้อง ‘ดูเด่น ดูดี’

กระแสสุขภาพและความงาม รวมไปถึงการสร้างรูปร่างให้ดูดี เป็นหนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงมากในปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือ ผู้ชาย ต่างก็มีความต้องการที่จะให้ตนเองมีรูปร่างที่ดูดี มีทรวดทรงสวยงามชัดเจน ใครที่มีกล้ามเนื้อ แขน ขา หน้าท้อง ที่ดูดีสมส่วน ย่อมสร้างความมั่นใจเฉิดฉาย โชว์สัดส่วนได้ไม่อายใคร

แน่นอนว่า จากกระแสดังกล่าว จึงทำให้กลุ่มธุรกิจและสินค้า ต่างหันมาให้ความสนใจ พร้อมผลิตสินค้าและพัฒนาธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวอย่างคึกคัก ทั้งกลุ่มที่สนใจในเรื่องการลดน้ำหนัก การดูแลและรักษารูปร่างให้สวยงามอยู่เสมอ

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพและสัดส่วน ที่มาแรงคงหนีไม่พ้น เรื่องอาหารการกิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการออกกำลังกาย

อย่างที่ทราบกันดีว่า หากต้องการให้สุขภาพแข็งแรง ร่างกายดูดี จะต้องเริ่มจากภายใน เพราะฉะนั้น ‘อาหารเพื่อสุขภาพ’ จึงเป็นส่งแรกที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ ทั้งนี้ หากมองในแง่การตลาดแล้ว ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นธุรกิจมีอัตราการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เคยประเมินมูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2562 เอาไว้ว่า มูลค่าของตลาดนี้ อยู่ที่ประมาณ 88,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 2.4%

โดยกลุ่มโปรตีนจากพืชและนมพืช จะมีมูลค่าประมาณ 6,725 ล้านบาท และมีแนวโน้มขยายตัว 6.4% ตามความนิยมบริโภคอาหารโปรตีนสูงเพื่อสร้างสมดุลทางโภชนาการทดแทนเนื้อสัตว์ การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมถึงการรักษาสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์

ขณะที่ผู้บริโภคบางกลุ่ม ที่ไม่เพียงแต่บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังใช้อาหารเสริมร่วมด้วย เพราะเมื่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป จากการเลือกบริโภคอาหารบางอย่าง งดรับประทานอาหารบางชนิด ทำให้ต้องใช้อาหารเสริมเพื่อเติมเต็มสารอาหารในส่วนที่ร่างกายต้องการ ทำให้ธุรกิจ ‘อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ’ มีแนวโน้มมีอนาคตสดใสเช่นกัน โดยเฉพาะการที่คนไทยต้องเผชิญกับโรคโควิด-19 ทำให้ ผู้คนต่างหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มูลค่าทางการตลาดอาหารเสริมจะเติบโตก้าวกระโดดไม่หยุด

ขณะเดียวกันทางด้าน บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด ได้เผยภาพรวมของมูลค่าตลาดอาหารเสริมในปี 2563 ที่พุ่งสูงถึง 23,916 ล้านบาท หรือเติบโตราว 10% จากปี 2562 ที่มีมูลค่า 20,876 ล้านบาท มาจากเทรนด์การรักษาสุขภาพและรูปร่างให้ดี โดยเฉพาะในกลุ่ม Gen Y ที่หันมาให้ความสนใจมากขึ้น สอดคล้องกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในปี 2563 ที่ระบุว่า ประชาชนชาวไทย 45.39% ได้หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายทั้งกลางแจ้งหรือในร่ม เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

ขณะที่ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็ได้มีการสำรวจเทรนด์การออกกำลังกายของคนไทยในช่วงอายุ 20 ปีขึ้นไปอีกว่า ในช่วง 2 ปีมานี้ มีคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำประมาณ 13 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน อายุ 25 - 44 ปี ประมาณ 5.4 ล้านคน โดยเป้าหมายการออกกำลังกาย มีความหลากหลายมากขึ้น นอกเหนือจาก เป้าหมายเดิมทางด้านสุขภาพหรือป้องกันรักษาโรค (91.3%) โดยเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจและมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้แก่ การรักษาหุ่น/เสริมสร้างกล้ามเนื้อ (47.0%) อยากลดน้ำหนัก (44.3%) เพื่อรักษาป้องกันโรค 40.0% ขณะที่ความต้องการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเพื่อพิสูจน์ความสามารถของตนเอง (22.6%)

จากพฤติกรรมดังกล่าวนี้ จึงส่งผลให้มูลค่าตลาดของธุรกิจออกกำลังกาย (ฟิตเนส) ที่มีมูลค่าราว 10,000 – 12,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ประการกว่า 800 ราย ยังคงมีโอกาสเติบโตอีกมาก (หากพ้นช่วงโควิด) ตามการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพความงามและการดูแลรูปร่าง ดังที่ยกเป็นตัวอย่างมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจที่ผู้บริโภคแตะต้องได้ เข้าถึงได้ไม่ยาก และใช้เงินจับจ่ายไม่สูงมากนัก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ด้านภาพลักษณ์ที่ดีแก่ตัวเอง แต่สำหรับใครคนไหนที่อยากหล่อสวยแบบทันใจสายด่วน อาจต้องเลือกวิธีศัลยกรรมความงาม ที่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการผ่าตัด

แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่โลกธุรกิจที่กำลังมองหาช่องทางในการลงทุนต่อจากนี้นั้น การเกาะกระแสสุขภาพ ก็ยังไปได้อีกยาวๆ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก เพียงรู้ว่าผู้บริโภคกลุ่มไหนกำลังต้องการอะไรให้ได้ แล้วรีบจับเป็นพอ!!


อ้างอิง :

https://www.bangkokbanksme.com/en/supplement-food-after-growth-covid-19

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/835566

https://kasikornresearch.com/SiteCollectionDocuments/analysis/k-social-media/sme/fitnessBT/Fitness_BT2020.pdf