คุณหนึ่ง จีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ | THE STUDY TIMES STORY EP.11

บทสัมภาษณ์ คุณหนึ่ง จีระศักดิ์ ป้อมสุวรรณ Minister Counsellor อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ, ประเทศโปแลนด์ เส้นทางและชีวิตของนักการทูต ที่ต้องรอบรู้เรื่องราวข่าวสารรอบโลก

คุณหนึ่งเล่าว่า การจะเป็นนักการทูตได้ ต้องเป็นข้าราชการของกระทรวงการต่างประเทศก่อน การจะเข้ามาในกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจ ไม่จำเป็นต้องจบรัฐศาสตร์การทูตเท่านั้น ตัวคุณหนึ่งเองจบสายเศรษฐศาสตร์มา คนส่วนใหญ่ในกระทรวงเป็นสายสังคมวิทยา เพราะในทางการทูตต้องหาความหลากหลาย ต้องการองค์ความรู้จำนวนมาก 

หน้าที่ของนักการทูตคือส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในโลกนี้มีหลากหลายประเด็นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ หรือแต่ละประเทศมาร่วมมือกัน ผลประโยชน์ของชาติมีหลายมิติ จึงต้องการนักการทูตที่มีความรู้ในหลายมิติเช่นเดียวกัน 

ชีวิตนักการทูตนั้น การมาอยู่ต่างประเทศต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายมาก คุณหนึ่งเล่าว่า โดยปกติคนที่เข้ามาจะต้องใช้เวลาเรียนรู้งานที่เมืองไทยก่อนเฉลี่ยประมาณ 3-4 ปี เมื่อมาอยู่ต่างประเทศได้นำประสบการณ์ในเมืองไทยมาใช้ในการเป็นนักการทูต ขณะเดียวกันก็มาเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพิ่มเติมจากการประจำการในต่างประเทศ เมื่อครบวาระ 4 ปี จึงนำประสบการณ์กลับไปใช้ในเมืองไทย อยู่ประมาณสามปี ก็เดินทางไปอีกประเทศหนึ่ง ชีวิตนักการทูตจะกลับไปกลับมา ควรมีการวางแผนชีวิตที่ดี โดยเฉพาะเรื่องของครอบครัว

คุณหนึ่งเผยว่า การทำงานของนักการทูตรุ่นใหม่ในประเทศ ปัจจุบันผู้บริหารกระทรวงเห็นความสำคัญของการรู้งานที่หลากหลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นทางกระทรวงจึงให้ข้าราชการรุ่นใหม่ เวียนงาน ไม่เฉพาะเวียนกรม แต่เวียนข้ามกลุ่มงานด้วย นอกจากนี้ยังมีงานด้านบริหาร งานด้านการคลัง งานบริหารบุคคล เป็นทักษะที่จำเป็นของนักการทูต

ด้านการทำงาน ในกรมจะแบ่งเป็นกองเพื่อดูแลงานต่าง ๆ ในแต่ละกองมีคนเฉลี่ย 8-10 คน ข้อด้อยคือเมื่อคนน้อย งานปริมาณเยอะ ข้อดีคือ นักการทูตแต่ละคน ไม่ว่าจะเด็กขนาดไหน มีโอกาสได้ดูงานในเชิงลึก หลากหลาย และมีความรับผิดชอบในส่วนงานของตัวเอง 

นักการทูตควรมีบุคลิกอย่างไรนั้น คุณหนึ่งให้คำนิยามไว้คำเดียวว่า ‘ครบเครื่อง’ เนื่องจากต้องเจอคนหลากหลายประเภท เพราะฉะนั้นความรู้ที่หลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ หากต้องการจะสื่อสาร มีบทสนทนากับผู้คน ก็จำเป็นต้องรู้ในเรื่องนั้น ๆ พอประมาณ ความรู้ที่หลากหลาย จึงเป็นสิ่งที่นักการทูตควรจะต้องมี

หากอยากเป็นนักการทูต ควรเติมองค์ความรู้ หรือพัฒนาตัวเองอย่างไร คุณหนึ่งแนะนำว่า หนังสือที่ดีที่สุดที่จะใช้ในการสอบ ในการอ่านและทำความเข้าใจ คือ หนังสือพิมพ์ เพราะเป็นความหลากหลาย เป็นความรู้รอบตัว อ่านหนังสือพิมพ์ในไทย จะรู้ว่าเมืองไทยเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้โลกไปทิศทางไหนแล้ว ศึกษาประเด็นต่าง ๆ รอบโลก เรื่องที่คนให้ความสนใจ           

ชีวิตนักการทูตสำหรับตัวคุณหนึ่งเองนั้น ประเทศแรกที่ได้ไปประจำการ คือแอฟริกาใต้ กรุงวิคตอเรีย (Victoria) ยุคนั้นในแอฟริกามีสถานทูตอยู่ 4-5 แห่ง นอกจากประเทศที่ดูแลแล้ว ยังดูแลประเทศใกล้เคียงที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย ซึ่งนอกจากแอฟริกาใต้แล้วได้ดูแลอีก 10 ประเทศรอบ ๆ ของแอฟริกาตอนใต้ 

สำหรับคนที่เป็นนักการทูตตอนออกต่างประเทศครั้งแรก แน่นอนว่ายังหนุ่มยังสาว มีข้อจำกัดในชีวิตน้อย ยังมีพลังงานเยอะ การออกต่างประเทศครั้งแรกมักจะพูดกันว่าเป็นเหมือนกับ ‘รักแรกพบ’ ได้ไปประจำการที่ไหนมักจะมีความรัก ความประทับใจให้กับประเทศนั้น ๆ คุณหนึ่งไปแอฟริกาใต้ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน แอฟริกาเป็นทวีปที่มีสีสัน คนไทยไม่ค่อยรู้จักเท่าไหร่ มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ เป็น 4 ปีที่มีประสบการณ์ที่ดีมาก และในแอฟริกาใต้ พบว่ามีชุมชนคนไทยอยู่มากกว่าที่คิด จากนั้นกลับมาเมืองไทยได้ 2 ปีครึ่ง ก่อนเดินทางต่อไปยัง ซิดนีย์ ออสเตรเลีย

คุณหนึ่งเล่าประสบการณ์ในแอฟริกาใต้ ให้ฟังว่า กลุ่มคนผิวสีทั้งหมด จะแยกเป็นเผ่าเล็ก ๆ แต่ละเผ่าจะมีการเมืองระหว่างเผ่า  และมีประวัติของเผ่าที่ไม่เหมือนกัน เช่น เผ่าซูลู ในแอฟริกาใต้ ที่ถือว่าเป็นเผ่าของนักรบ รูปร่างกำยำ อีกเผ่า คือ เผ่าคอร์ซา เป็นเผ่าของคนมีการศึกษา กลุ่มผู้บริหาร ลักษณะของแต่ละเผ่าจะไม่เหมือนกันเลย อีกทั้งวัฒนธรรม การเต้นระบำ ภาษาก็ไม่เหมือนกัน

คุณหนึ่งให้ความรู้เพิ่มเติมว่า ในหนึ่งประเทศมีสถานทูตได้เพียงแห่งเดียว แต่มีสถานกงสุลใหญ่ได้หลายที่ตามความจำเป็นและตามผลประโยชน์ เช่น ในสหัรัฐอเมริกามีหลายแห่ง ในออสเตรเลียมีสองแห่ง คือ แคนเบอร์รา และซิดนีย์

การทำงานเป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ, ประเทศโปแลนด์ ในตอนนี้ คุณหนึ่งเล่าว่า ในสถานทูตมีสมาชิก 5 ท่าน คือ ท่านทูต คุณหนึ่ง เจ้าหน้าที่ 2 ท่าน และเจ้าหน้าที่ทางด้านการคลังอีก 1 ท่าน นอกจากนี้ยังมี เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่เป็นคนท้องถิ่นที่ถูกจ้างมา ในกรณีของโปแลนด์ ต้องการคนท้องถิ่นเพื่อมาติดต่อประสานกับงานท้องถิ่น เนื่องจากคนที่นี่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จะใช้ภาษาโปลิชเป็นส่วนใหญ่ ตัวคุณหนึ่งเองมีหน้าที่ช่วยสนับสนุนท่านทูตในการดูแลงาน กรองงานจากเจ้าหน้าที่ที่เสนอขึ้นมา ดูงานบริหาร การเงิน การบริหารภายในต่าง ๆ 

คุณหนึ่งกล่าวว่า หน้าที่ของสถานทูตไทยที่ไปอยู่ในแต่ละประเทศ มีหน้าที่เดียว คือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยเรากับประเทศนั้นให้ดีขึ้น แต่หน้าที่เดียวนี้จะแตกแขนงออกไปตามกรอบบริบทของประเทศนั้น ๆ ยกตัวอย่างกรณีของโปแลนด์ ต้องมีการหาว่าความสัมพันธ์หรือความสำคัญของโปแลนด์ต่อไทยอยู่ตรงไหน จะทำให้โปแลนด์ตอบโจทย์ผลประโยชน์ของไทยได้อย่างไร 

โดยโปแลนด์เป็นประเทศที่มีประชากรประมาณ 38 ล้านคน แต่เป็นประเทศหนึ่งที่สามารถเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในยุโรปกลาง สิ่งหนึ่งที่โปแลนด์มีแต่เราคิดไม่ถึง คือ เขามีเทคโนโลยี มีกลุ่มสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Start-Up ที่มีความสามารถ มี ecosystem ที่เหมาะกับการเติบโตของ Start-Up โปแลนด์มีชายแดนติดกับเยอรมัน แต่ค่าแรงโปแลนด์ถูกกว่าเยอรมัน 3 เท่า โดยมากนักลงทุนในกลุ่มยุโรปตะวันตกจะมาสร้างโรงงาน ใช้ทรัพยากรบุคคลของโปแลนด์ เพื่อผลิตและส่งของไปขายในยุโรปตะวันตก ด้วยบริบทของโปแลนด์นี้เอง สถานทูตของไทยจึงมีบทบาทในการผลักดันผลประโยชน์ระหว่างไทยและโปแลนด์ในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม 

คุณหนึ่งทิ้งท้ายไว้ว่า อาชีพอะไรก็ตาม เราทำประโยชน์ให้ชาติได้ทั้งนั้น แต่ถ้าใครที่อยากทำประโยชน์ให้ประเทศชาติด้วยการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ไทยกับประเทศต่าง ๆ ได้มีบทบาทที่ดีต่อกันมากขึ้น มีความร่วมมือต่อกันมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ สนใจในการใฝ่รู้ เตรียมตัวให้สอดคล้องกับสิ่งกระทรวงต้องการ กระทรวงยังต้องการความคิดใหม่ ๆ มุมมองใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงและประเทศชาติ 


.

.