ตาก - ผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพดเดือดร้อน วอนด่านตรวจพืชแม่สอดหาทางออก หลังมาตรการพบมอดเพียงตัวเดียว ต้องนำข้าวโพดกลับไปฝั่งเมียนมาใหม่ เสียค่าใช้จ่ายบานปลายมากถึง 20,000 บาทต่อ 1 พ่วง

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม  2564 ตัวแทนผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเมียนมาด้านจังหวัดเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ไปยื่นหนังสือต่อหัวหน้าด่านตรวจพืช อ.แม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้เพื่อขอผ่อนปรนการตรวจ หรือ วิธีการอื่น ๆ จากกรณีที่ ทางกรมวิชาการเกษตร มีหนังสือลงวันที่ 29 มีนาคม 2564 ให้การนำเข้าข้าวโพดจากต่างประเทศ (สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา) เข้ามาในราชอาณาจักรไทยมีข้อกำหนดของกรมวิชาการเกษตรว่า ห้ามมีตัวมอด และศัตรูพืชเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ถ้ามีต้องมีวิธีกำจัดคือ ตีกลับประเทศต้นทาง ต้องผ่านการอบตัวมอดจากบริษัทที่ผ่านการได้รับอนุญาตของกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมี 6 บริษัท และทำลายทิ้ง แต่เนื่องจากบริษัทที่กำหนดไว้ไม่มีสาขา และพนักงานในพื้นที่ อ.แม่สอด

ขณะที่ยาที่กำจัดมอด และศัตรูพืชที่ชื่อว่า เมบรอม 100 (Mebromm 100 ) ที่กรมวิชาการเกษตรอนุมัติให้ใช้นั้นไม่มี   โดยไม่มีจำหน่ายในพื้นที่อำเภอแม่สอด ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามปรพกาศของกรมวิชาการเกษตรได้ และทางเจ้าหน้าที่ด่านตรวจตรวจพืช ไม่มีทางออกอื่นให้ ส้งผลให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน ต้องเสียค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนมากถึง 20,000 บาทต่อ 1 พ่วง และยังต้องเผชิญปัญหากับเหตุการณ์ไม่สงบ และปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกด้วย และเมื่อปีที่ผ่านมาไม่มีข้อกำหนดดังกล่าว การยื่นหนังสือนี้จึงขอผ่อนปรนจากกรมวิชาการเกษตรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการนำเข้าข้าวโพด

ด้านเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช แจ้งกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไปยื่นหนังสือว่า จะนำเรื่องนี้ รายงานไปยังกรมวิชาการเกษตร เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่มีอำนาจใด ๆ นอกจากการปฏิบัติหน้าตามข้อกำหนดของกรมวิชาการเกษตร แต่ได้แนะนำให้รวมตัวกัน พร้อมกับชิปปิ้ง เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ทางผู้ประกอบการแจ้งว่า ได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากการเข้มงวดตรวจรถบรรทุกข้าวโพดที่บริเวณด่านพรมแดนไทย-เมียนมา 2 ของเจ้าหน้าที่ หากพบมอดเพียงตัวเดียวก็ไม่ผ่าน นอกจากนี้ทางผู้ประกอบได้รวมตัวกัน เพื่อหาทางออก โดยจะขอให้บริษัทที่ทางกรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ให้ผู้ประกอบการต้องนำข้าวโพดผ่านการอบตัวมอด จาก 6 บริษัท ก็ไม่ยอมไปบริการถึงพื้นที่ หลังจากมีการร้องขอจากผู้ประกอบการ เนื่องจากปัญหาการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่มีทางออกใด นอกจากการขอผ่อนปรนเท่านั้น