‘วิชามาร’ สร้างข้อมูลเท็จ ลดความน่าเชื่อถือ ‘แบรนด์’ ธุรกิจ

ต้องยอมรับว่า Social Media เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระจายข่าวสารไปยังกลุ่มคนได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เลือกเสพข้อมูลข่าวสารจากช่องทาง Social Media มากกว่าช่องทางอื่น ๆ ส่งผลให้ Social Media นั้นมีความทรงอิทธิพลอย่างมาก อีกทั้งยังกระจายข้อมูลข่าวสารไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง

จากอิทธิพลของ Social Media ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อมูลทั้งที่เป็นเรื่องจริงและไม่จริง ผุดขึ้นอย่างมากมายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะข่าวปลอม หรือ Fake News ที่ระบาดอย่างหนัก พอ ๆ กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ว่าได้ เพราะจากข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่สรุปข้อมูลจากการแจ้งเบาะแส และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงการระบาดรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 ธ.ค. 63-28 ก.พ. 64 พบข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จำนวน 35.47 ล้านข้อความ หลังจากคัดกรองแล้วพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นข่าวปลอม 2,784 ข้อความ โดยมีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 1,346 เรื่อง  

อย่างไรก็ตาม ‘ข่าวปลอม’ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มีมาช้านาน แต่ในอดีตการจะปล่อยข่าวปลอม จะต้องมีเครื่องมือที่สามารถกระจายข่าวได้ หากไม่เครื่องมือของตัวเอง ก็จะใช้วิธี อย่างเช่น การส่งจดหมายลูกโซ่ ถัดมาเมื่อมีอินเทอร์เน็ต ข่าวปลอมยิ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นส่งผ่าน FWD Mail การส่งในเว็บบอร์ดต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงการแชร์ผ่าน Social Media

การสร้างข่าวปลอมมีทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ การเมือง และสังคม แม้บางครั้งคนที่สร้างข่าวปลอม อาจต้องการเพียงแค่ความสนุก แต่กลับส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะในฝั่งของภาคธุรกิจ ที่อาจจะถูกลดความน่าเชื่อถือในตัวบริษัท หรือ แบรนด์สินค้า ก็ได้

ยกตัวอย่างเคส คลาสสิค ข่าวปลอมในธุรกิจประกันภัย ที่เริ่มมีคนส่งต่อผ่าน FWD Mail ครั้งแรกราวปี 2549 แต่กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีแชร์ข่าวนี้ผ่าน Social Media อยู่เรื่อย ๆ

โดยข่าวที่แชร์กันในโลกออนไลน์ เป็นข้อความเกี่ยวกับ “รายชื่อ Black List บริษัทประกัน(รถยนต์)” ที่ระบุ ข้อความว่า...

รายชื่อ Black List บริษัทประกัน (รถยนต์) สำหรับผู้ที่จะถอยป้ายแดงทั้งหลาย รวมทั้งที่ถอยแล้วมาป้ายไม่แดงแล้ว

รายชื่อ Black List บริษัทประกัน (รถยนต์) ข้อมูลจากบริษัท ทิสโก้ รู้ไว้ก็ดีนะ

จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

บริษัทประกันดังกล่าว คือ

อันดับที่ 1. ลิเบอร์ตี้ประกันภัย มี ดร.พาชื่น รอดโพธิ์ทอง และพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต ถือหุ้นใหญ่

อันดับที่ 2. มิตรแท้ประกันภัย (ไทยประสิทธิ์เดิม)

อันดับที่ 3. บ.สัมพันธ์ประกันภัย นายศรีศักดิ์ ณ นคร ถือหุ้นใหญ่

บ.ทั้ง 3 ข้างต้น อู่ต่าง ๆ ส่ายหน้าหนี ไม่รับรถเข้าซ่อมเพราะเบี้ยวค่าซ่อมหลายร้อยล้านบาท โดยลิเบอร์ตี้เป็นสุดยอดแห่งการเบี้ยว

ยังมี บริษัทประกันภัยที่อยู่ในข่ายจะโดนอู่ต่าง ๆ ขึ้นบัญชีดำอีกคือ

อันดับที่ 4 บ.อาคเนย์ประกันภัย เพราะถึงแม้จะไม่ชักดาบแต่จะใช้วิธี 'HairCut ' คือจะต่อรองกับอู่ว่าจะจ่ายให้น้อยกว่าค่าซ่อมที่ค้างไว้ ซึ่งอู่ต่าง ๆ หลายแห่งก็ต้องยอม เพราะไม่อยากยุ่งยากเรื่องฟ้องร้อง

ยังมีอีกประเภท คือ จ่ายค่าซ่อมช้ามาก บางที่เป็นปีถึงจะชำระให้' ได้แก่

อันดับที่ 5 พัชรประกันภัย

และอันดับที่ 6 เอราวัณประกันภัย

อันดับที่ 7 พาณิชยการประกันภัย บริษัทนี้คนที่เรารู้จักเพิ่งโดนสด ๆ ร้อน รถชนมา 4 เดือนแล้วยังไม่ได้เริ่มแตะเลย เนื่องจากว่าไม่มีเงินจ่าย ให้อู่ซ่อม พูดง่าย ๆ ว่าจะเจ๊งแล้ว

ข้อมูลข้างบนนี้คงมีประโยชน์กับท่านที่กำลังมองหา บ.ประกัน จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง เพราะจ่ายเบี้ยประกันแล้ว ใคร ๆ ก็อยากได้รับบริการที่ดี ไม่มีตุกติก

และก็เพิ่งมีรายล่าสุดก็คือ อันดับ 8 บ.สินทรัพย์ประกันภัย อยู่ในอาการง่อนแง่น

บริษัทประกันภัยทั้งหมดนี้ คุณควรจะช่วยกันแชร์ให้คนที่น่าสงสารรู้ก่อนที่จะเค้าจะเสียรู้ บริษัทพวกนี้

 

นี่คือข้อความทั้งหมดจากเคสกรณีตัวอย่าง!!

อย่างไรก็ตาม หากเป็นคนที่ไม่อยู่ในแวดวงธุรกิจ หรือไม่ได้ติดตามข่าวสารธุรกิจประกันภัย ก็จะหลงเชื่อข้อความเหล่านี้โดยง่าย เพราะในอดีตที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยในสายตาคนทั่วไปมักไม่ค่อยดีอยู่แล้วนั่นเอง

แต่หากคนที่ติดตามข่าวสารจะพบข้อเท็จจริงว่า บริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกกล่าวอ้าง ได้แก่ บริษัท พาณิชยการประกันภัย จำกัด บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด บริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด และบริษัท พัชรประกันภัย จำกัด ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้วในระหว่างปี 2547 ถึงปี 2557

ส่วนอีก 4 บริษัท ยังประกอบธุรกิจอยู่ โดยมีฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท อาคเนย์ ประกันภัย ยังเป็นหนึ่งในเครือกลุ่มธุรกิจการเงินของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อีกด้วย

หากย้อนไปดูต้นของข้อความเท็จดังกล่าว มีทั้งหมด 3 เวอร์ชั่น ยุคปี 2549-2552 ข้อความอันเป็นเท็จมีบริษัททั้งหมด 7 แห่ง ถูกกล่าวหาว่ามีฐานะทางการเงินไม่ดี มีการส่งผ่านกระดาษในลักษณะจดหมายลูกโซ่ ต่อมาปี 2553-2556 ข้อความดังกล่าวยังคงเหมือนเดิม จำนวนบริษัทยังคงมี 7 บริษัท เพียงแต่ลบสัญลักษณ์ขึ้นย่อหน้าใหม่ และมีการจั่วหัวเป็นตัวดำ ส่งผ่าน e-mail จากนั้น ในปี 2557 เป็นต้นมา มีการเพิ่มบริษัทประกันภัยอีก 1 แห่ง รวมเป็น 8 บริษัท แต่ข้อความส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม ส่งผ่านกันทางสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มไลน์ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ทำให้บริษัทที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ ได้รับความความเสียหายและขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชนที่ได้รับข้อมูลเท็จดังกล่าวอย่างมาก

กระทั่ง หนึ่งในบริษัทที่ได้รับความเสียหาย อย่างมิตรแท้ประกันภัย ได้ปฏิบัติการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ด้วยการฟ้องร้องผู้ที่แชร์ข้อมูลดังกล่าวรายหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในคดีอาญาในข้อหา ความผิดนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพรบ.กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และฟ้องคดีแพ่ง ข้อหา ละเมิด เรียกร้องค่าเสียหายอีก 1 ล้านบาท ซึ่งศาลได้ตัดสินให้คู่กรณีทำการไกล่เกลี่ย โดยให้ผู้ถูกฟ้องทำการส่งข้อความขอโทษผ่านทาง Social Media ทั้งเพจเฟซบุ๊ก และไลน์กลุ่ม ที่ผู้ถูกฟ้องเป็นสมาชิกอยู่ เนื่องจากไม่มีเงินชดใช้ 

ในกรณีนี้ จึงถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่ได้รับจากข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข่าวปลอม แม้จะมีการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้แชร์ข้อมูลไปแล้วหลายราย แต่ข้อมูลดังกล่าว ก็ยังส่งต่อกันผ่าน Social Media จนถึงทุกวันนี้ 

ฉะนั้น ก่อนจะแชร์ข่าวสารข้อมูล หรือ โพสต์ข้อความอะไรบน Social Media ควรเช็คข้อมูล หรือ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนทุกครั้ง เพราะถ้าแชร์ข้อมูลเท็จ หรือ ข่าวปลอมออกไป แล้วเกิดความเสียหายกับคนอื่น ถูกฟ้องร้องขึ้นมา จะต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาล และอาจถึงขั้นติดคุก และเสียเงินเสียทอง โดยไม่รู้ตัว เพราะอย่าลืมว่า โทษจากการทำผิด พรบ.คอมพิวเตอร์นั้น หนักหนามิใช่น้อย