ชัวร์ ก่อน แชร์ !! ‘ตระหนก & ตระหนัก’ ยุควิกฤติโรคระบาด ก่อนแชร์ให้ใคร!! เข้าใจ ‘ความจริง’ ดีหรือยัง?

เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่วันนี้โลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีหลากหลายแพลตฟอร์ม ได้ปล่อยข่าวสาร ข้อมูล หรือบทความต่าง ๆ ออกมาสู่สาธารณะชนมากมาย จนช่วยเปิดโลกให้ประชนอย่างเราได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าจรวด

แต่จะมีใครรู้ไหมว่า เรื่องบางเรื่อง ข่าวสารบางอย่าง มันก็ไม่ได้เปิดโลกที่ดีให้กับเราทั้งหมด เพราะบางเรื่องราวก็พร้อมจะเป็นข่าวปลอม หรือ ‘Fake News’ ที่เล่นกับความสนใจของผู้คนในสังคมช่วงนั้น ๆ เพียงเพื่อโน้มน้าว ชักจูง เรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ หรืออะไรก็ตามแต่ แพร่ลามไปมาก จนเริ่มแยกไม่ออกแล้วว่าระหว่าง ‘การแพร่กระจายข่าวปลอม’ กับ ‘การแพร่กระจายไวรัสโควิด-19’ อะไรที่จะกระจายเป็นวงกว้างไปมากกว่ากัน

ยิ่งในโลกโซเชียลด้วยแล้ว ยิ่งลุกลามหนักจนเกิดความเข้าใจผิดในหลากเรื่อง หลายประเด็น และที่แย่คือเจ้า ‘ไอ’ แห่งความเสียหายจากการที่เราแชร์ๆ กันออกไป มันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว จนไปทำร้ายใครหรือไม่ ก็มิทราบได้... 

อย่างประเด็นข่าวปลอมเรื่องโควิด-19 นี่เรียกว่าเป็นประเด็นเท็จสุดคลาสสิคที่หนีไม่พ้นเอามาก ๆ

มากซะจนมีเรื่องมาให้รวบรวมไว้เพียบ จนต้องขอหยิบมาสร้างความกระจ่างกันอีกรอบแก่ผู้ที่อาจจะยังไม่กระจ่าง 

ฉะนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ก็เลยขออนุญาตพาไปแยกแยะว่าเรื่องไหนจริง หรือเรื่องไหนลวงในโลกโซเชียลกันดู แต่จะรับรู้กันธรรมดา ก็คงจะน่าเบื่อ!!

ลองมาปล่อยนิ้วเลือก ‘กด’ กับ 2 ปุ่มสัญลักษณ์ของความ ‘จริง-เท็จ’ อย่าง ‘ปุ่มตระหนก’ (แตกตื่น) และ ‘ปุ่มตระหนัก’ (แตกฉาน) กันสักนิด น่าจะสร้างแรงจดจำให้ผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น หากพร้อม ‘กดปุ่ม’ แล้วตามมาเลย...


ข่าวเท็จ: กินฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันโควิด-19 ได้

ปุ่มตระหนก : บนสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 ด้วยฟ้าทลายโจรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนไทยมีความหวาดกลัวติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นและต่อเนื่อง จึงได้พยายามติดตามข้อมูลจากสังคมออนไลน์ พบว่า สมุนไพร ฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนเริ่มเดินทางหาซื้อสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังจะป้องกันความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ได้ 

ปุ่มตระหนัก : ข้อมูลไม่เป็นความจริง ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดย ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าวยืนยันกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลระบุว่าฟ้าทะลายโจรสามารถใช้เป็นทางเลือกแทนวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ได้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะยังไม่มีการศึกษาวิจัยว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ที่ผ่านมาเป็นการศึกษาว่าฟ้าทะลายโจรมีผลต่อภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่มีการศึกษาว่ามีผลต่อภูมิคุ้มกันของเชื้อโควิด-19 ไม่เหมือนกับวัคซีนที่มีการศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรแทนวัคซีน

ข่าวเท็จ : ยาเขียว ใช้รักษาโควิด-19 ได้ ด้วยวิธีขับไวรัสออกทางเหงื่อ และปัสสาวะ

ปุ่มตระหนก : บนสังคมออนไลน์มีการแชร์คลิปเสียง พร้อมบอกว่า เป็นเสียงของคณบดีศิริราช ที่แนะนำว่าให้กิน “ยาเขียว” เพื่อขับพิษโควิด-19 ได้ ด้วยวิธีขับไวรัสออกทางเหงื่อ และปัสสาวะ โดยให้รับประทานยาเขียวเพื่อทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย เมื่อร่างกายเกิดความร้อนก็จะมีการขับเหงื่อและปัสสาวะออกมาซึ่งเชื้อไวรัส จะออกมาด้วยกับเหงื่อและน้ำปัสสาวะ 

ปุ่มตระหนัก : ข้อมูลไม่เป็นความจริง เสียงดังกล่าวไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผล และความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าการกินยาเขียว สามารถใช้รักษาโรค โควิด-19 ได้ โดยทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ชี้แจงว่า เสียงดังกล่าวไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และข่าวนี้เป็นข่าวเก่าที่เคยมีการส่งต่อแล้ว โดยยาเขียวเป็นตำรับยาไทย ตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน ที่มีการใช้กันมานานหลายทศวรรษ และเป็นตำรับที่ยังมีการผลิตขายทั่วไปตราบจนปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปในสมัยก่อนจะรู้จักวิธีการใช้ยาเขียวเป็นอย่างดี กล่าวคือ มักใช้ยาเขียวในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส เพื่อกระทุ้งให้พิษไข้ออกมา เป็นผื่นเพิ่มขึ้น และหายได้เร็ว ซึ่งยาเขียวจัดเป็นยาเย็น ทำให้ตำรับยาเขียวส่วนใหญ่มีสรรพคุณ ดับความร้อนของเลือดที่เป็นพิษ ซึ่งพิษในที่นี้หมายถึงของเสีย หรือความร้อนที่อยู่ภายในร่างกายเท่านั้น 

นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างของข่าวที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนก และมีการแชร์ข้อมูลกันอย่างมากมาบางข่าวเท่านั้น โดยจะเห็นได้ว่าข่าวที่ปล่อยออกมา มีการแชร์กันแพร่หลาย ซึ่งถือว่าไม่ได้มีการกลั่นกรองกันเสียเลย ช่องทางของข้อมูลทางออนไลน์ในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก และเข้าใจว่า ‘ทุกคน’ สามารถเป็นผู้ส่งสาร หรือเป็นคนกระจายข่าวได้ เพราะฉะนั้น ก่อนจะทำการส่งต่อข่าว เราต้อง เข้าใจข้อมูล ‘ความจริง ’เองเสียก่อน 

ทีนี้มาดูข่าวที่เป็นข่าวจริง เกี่ยวกับโควิด-19 ที่อยากให้ได้ทราบกันบ้าง!! 

ข่าวจริง : ปรับคนขับรถไม่ใส่หน้ากาก-ออกนอกเคหสถาน จริงหรือ?

ปุ่มตระหนก : ในโซเชียลมีเดีย มีการแชร์ภาพใบเสร็จรับเงินค่าปรับ พร้อมคำเตือนว่า “ถึงจะอยู่ในรถส่วนตัว ก็ต้องใส่ Mask ด้วยนะ เจอด่านตรวจ จับปรับทันที”

ปุ่มตระหนัก : เป็นข้อมูลจริง เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 ณ เวลา 14.30 น. ศูนย์โควิดกระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ได้อัพเดทรายชื่อ 50 จังหวัดที่มีบทลงโทษ กรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากาก ทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน หรือ สถานที่สาธารณะ หรือในชุมชน ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 (สองหมื่นบาท) ถ้าขับรถหรืออยู่ในรถคนเดียวไม่ใส่หน้ากากอนามัยได้ แต่ถ้ามีคนอื่นนั่งมาด้วยต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งคนที่ไม่ใส่หน้ากากที่อยู่ในรถนั้นจะเป็นผู้ที่ถูกปรับ การจับและปรับผู้ไม่ใส่หน้ากากอนามัยนั้น เจตนาในการประกาศคือการป้องกันการติดต่อของโรคจากบุคคลไปสู่บุคคล ดังนั้นเมื่อมีบุคคลอื่นอยู่ในรถด้วยจึงต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ไม่ยกเว้นแม้เป็นครอบครัวเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และกรณีนั่งคนเดียวจึงอนุโลมได้ว่าไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย 

เมื่อข่าวสารได้แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างแล้ว หากเป็นข่าวปลอมหรือ Fake News ก็เท่ากับมีคนรับข่าวสาร ข้อมูลที่ผิดเพิ่มเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยข่าว Fake News และรับข้อมูลผิด ๆ เราต้องหาแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือก่อน ใช้เวลาสักนิดก่อนกดแชร์ จะช่วยลดอัตราการส่งต่อข่าวสารข้อมูลผิด ๆ

ก่อนจบเนื้อหานี้ไป ขอแชร์ 6 วิธีทิ้งทาย ที่อยากให้ลองไปปรับใช้กันดู เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของ Fake News อีกต่อไป ดังนี้ 
1.) ข่าวต้องมีความน่าเชื่อถือ มีแหล่งอ้างอิงที่มาที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้
2.) สังเกตการเรียบเรียงเนื้อข่าว และการสะกดคำต่างๆ เพราะข่าวปลอมมักจะสะกดผิดและมีการเรียบเรียงที่ไม่ดี
3.) สังเกต URL ให้ดี โดยข่าวปลอมอาจมี URL คล้ายเว็บของสำนักงานข่าวจริง
4.) ดูรายงานข่าวจากที่อื่น ๆ ว่ามีข่าวแบบเดียวกันหรือไม่ มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ
5.) ตรวจสอบข่าวจากการเสิร์ชหาข้อมูล อาจพบว่าเป็นข่าวเก่า หรือพบการแจ้งเตือนจากเว็บไซต์อื่นว่าเป็นข่าวปลอม
6.) ข่าวปลอมอาจมีการนำรูปภาพจากข่าวเก่ามาใช้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ


ข้อมูลอ้างอิง 
https://tna.mcot.net/category/sureandshare