คุณก้อย ดร. วรวสา ชัยวรกุล | THE STUDY TIMES STORY EP.10

บทสัมภาษณ์ คุณก้อย ดร. วรวสา ชัยวรกุล นักวิจัย Post-Doctoral Associate, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา กับเรื่องราว ชีวิตนักวิจัยที่สหรัฐอเมริกา ที่ให้อะไรมากกว่าการเรียน

คุณก้อยจบปริญญาตรีเกี่ยวกับ Biology ชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยบูรพา หลังจากนั้นรู้สึกว่าตัวเองชอบในเรื่องของ Human Anatomy จึงสมัครสอบเรียนปริญญาโทที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราช จนได้เรียนสมใจ เมื่อเรียนค้นพบว่าตัวเองชอบในเรื่องระบบประสาทของตัวคน อยากจะรู้เพิ่มมากขึ้น จึงมาเรียนต่อปริญญาเอก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านชีวเวชศาสตร์ จากนั้นคุณก้อยได้ไปเป็นนักวิจัย Post-Doctoral Associate อยู่ที่สหรัฐอเมริกา 

จุดเริ่มต้น Post-Doctoral Associate, University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา
เนื่องจากปี 2008 มีไข้หวัดนกระบาดเป็นครั้งแรก ซึ่งมีข่าวว่าคนสามารถติดเชื้อได้ และไข้หวัดนกตัวนี้สามารถติดเชื้อเข้าสู่เซลล์ประสาทสมองและทำให้คนตาย คุณก้อยได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการหาตัวรับของเซลล์ดังกล่าว มีการทำในส่วนของ Animal Science ต้องใช้ตัวไข่ฟัก เพื่อเป็นตัวโมเดลในการเพิ่มจำนวนของไวรัส การไปทำ Postdoc ที่ University of Minnesota ของคุณก้อย จึงอยู่ในส่วนของ Animal Science 

คุณก้อยเล่าว่า เหมือนกับเป็นโชค เพราะเป็นช่วงที่เรียนจบ และมีโอกาสเข้ามาพอดี สิ่งที่สำคัญก็คือ ทุกคนมีโอกาสเข้ามาทั้งนั้น แต่อยู่ที่ว่าเราพร้อมแค่ไหน เตรียมตัวพร้อมไหมที่จะรับโอกาสตรงนั้น ณ ตอนนั้นคือคุณก้อยพร้อม จึงมีโอกาสเข้าไปทำงานวิจัย

วิถีชีวิตของนักวิจัย
ชีวิตนักวิจัยของคุณก้อย คือ ต้องอยู่กับตำราและแล็บ เรียกได้ว่าเป็นความหลงใหล จากตอนเด็ก ๆ อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เดินทางมาในสายวิทยาศาสตร์เรื่อย ๆ ยิ่งเรียนสูงขึ้น ลึกขึ้น ทำให้ต้องมีการอ่านงานวิจัยต่าง ๆ เพื่อหาหัวข้อมาทำงานวิจัย ยิ่งได้อ่านเปเปอร์ก็ยิ่งรู้สึกอเมซิ่ง อยากจะเป็นแบบนั้นบ้าง เจอจุดที่น่าสนใจ และชอบที่จะทำตรงนี้ 

Postdoc คือ
Postdoc เรียกได้สองชื่อ คือ Post-Doctoral Associate และ Postdoctoral Fellow โดย Postdoctoral Fellow เหมือนคนที่ได้ทุนและมาทำวิจัย เป็นทุนของ Professor ที่มีโปรเจคแล้วอยากได้คนมาทำวิจัย โดยต้องรับนักศึกษาที่จบปริญญาเอกแล้ว ในขณะที่ Postdoc มีความหมายว่า นักวิจัยหลังปริญญาเอก ซึ่งคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นการเรียน แต่ความจริงคือเรียนจบแล้ว เรียกว่าเป็นการทำงาน เพราะได้เงินเดือนจากมหาวิทยาลัย แต่ Postdoc จะทำอยู่ได้แค่สามปี จากนั้นต้องเลื่อนเป็น Research Associate

ชีวิต Postdoc ที่ University of Minnesota, สหรัฐอเมริกา
เพราะเป็นคนปรับตัวได้ง่าย คุณก้อยจึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ก่อนหน้านี้มีความรู้สึกอยากไปทำงานที่ต่างประเทศอยู่แล้ว มี Passion ตั้งแต่ปริญญาตรี เพราะมีญาติอยู่ที่อเมริกา ซึมซับความรู้สึกเวลาที่ญาติกลับมาพร้อมของฝากจากต่างประเทศ รู้สึกถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความคิดอยากไปทำงานที่อเมริกา เพื่อจะได้มีเงินมาเลี้ยงพ่อแม่ 

ช่วงเวลาสามเดือนขณะที่เรียนปริญญาเอก ก่อนไปทำ Postdoc มีโอกาสไปรัฐเพนซิลเวเนีย ไปเป็นคู่กับรุ่นพี่คนหนึ่งที่ต้องไปแลกเปลี่ยนที่แล็บ ครั้งนั้นเหมือนการเตรียมตัวก่อนไปทำจริง สำรวจตัวเองว่าสามารถอยู่ในแล็บต่างประเทศได้ไหม การใช้ชีวิตเป็นยังไง จนรู้สึกว่าตัวเองชอบมาก ๆ 

คุณก้อยไปอยู่อเมริกาทั้งสิ้น 4 ปี โดยเป็น Postdoc 3 ปีและเป็น Research Associate 1 ปี จากนั้นได้กลับมาเมืองไทย วิถีนักวิจัยในต่างประเทศสำหรับคุณก้อย เรียกได้ว่าเกินความคาดหวัง เพราะแตกต่างจากสังคมในเมืองไทย รู้สึกชอบสังคมที่นั่นมากกว่า เพราะให้อิสระทางความคิด ทางการพูด ให้กียรติกัน ไม่ว่าจะจากเพื่อนนักวิจัยด้วยกัน หรือตัว Professor เอง 

ความแตกต่างในการพัฒนางานวิจัยระหว่างไทยและต่างประเทศ
คุณก้อยมองว่าการพัฒนางานวิจัยขึ้นอยู่กับแล็บและอาจารย์ ในประเทศไทยเรามีอาจารย์เก่ง ๆ หลายท่าน การได้อยู่กับอาจารย์ที่เปิดกว้าง ทำงานวิจัยขึ้นห้าง ไม่ใช่การขึ้นหิ้ง กล่าวคือ งานวิจัยที่สามารถนำมาใช้ได้จริง เหมือนกับแนวทางการทำวิจัยที่ต่างประเทศ คือสิ่งที่ดีและมีประโยชน์มากกว่า

ทิ้งท้ายสำหรับคนที่อยากจะเป็นนักวิจัย
คุณก้อยกล่าวว่า Passion ของนักวิจัย ต้องมีความรู้สึกอยากค้นคว้า อยากหาความจริง อยากหาสิ่งใหม่ ๆ มีพื้นฐานรักการอ่าน เป็นคนที่อยากรู้อยากเห็น ในสมัยก่อนนักเรียนจะโดนกดไว้ว่าห้ามตั้งคำถาม ห้ามอยากรู้อยากเห็น ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ใช่ทักษะที่ดีสำหรับการจะเป็นนักวิจัยในอนาคต แต่โชคดีที่คุณก้อยมีการสร้างทักษะตรงนี้ขึ้นมาตอนที่ไปเรียนต่างประเทศ

.

.