รัฐบาลลดภาระหนี้ กยศ. ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน และลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 64 เป็นต้นไป 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยปัญหาหนี้ทั้ง กยศ. และปัญหาหนี้สินครู จึงมอบหมายให้หน่วยงานเร่งหามาตรการช่วยเหลือ ดังนั้น รัฐบาลโดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จึงได้ยกเลิกการกำหนดให้มีผู้ค้ำประกันการชำระเงินคืนกองทุน สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืมเงินและทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป

รวมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0.01% ต่อปี เป็นการเฉพาะกิจ สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุนและมิได้เป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้หรือเคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 – 31 ธันวาคม 2564    พร้อมขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมสู้ภัยโควิดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นอกจากนี้ จะชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ผิดนัดชำระหนี้ประจำปี 2563 และปี 2564 ยกเว้นคดีที่จะขาดอายุความในปี 2564  ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่มีการเปิดตัว “กยศ. Connect”  เพื่อเป็นช่องทางดิจิทัลสำหรับการชำระหนี้ของผู้กู้ยืมเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป มียอดดาวน์โหลด ถึงวันที่ 28 เม.ย. ตำนวน 2,580,553 ราย โดยเงื่อนไขการกู้ยืมยังเป็น 4 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลักษณะที่ 2 นักเรียน/นักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกําลังคนและมีความจําเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ลักษณะที่ 3 นักเรียนหรือนักศึกษา ที่ศึกษาในสาขาวิชาขาดแคลน หรือที่กองทุนมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และลักษณะที่ 4 นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนดี เพื่อสร้างความเป็นเลิศ โดยเปิดให้กู้ในระดับปริญญาโทด้วยซึ่งเป็นตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องเห็นเด็กไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาทุกคน