Self Home Quarantine​: กักตัวกับบ้าน​ มายาคติแห่งอิสรภาพ​ แต่บาปไปตกกับคนรอบตัว

ช่วงนี้เห็นกระแสบ่นถึง​ 'อิสรภาพ'​ ที่สูญหายจากการถูกกักตัวใน​ State​ Quarantine​ รูปแบบต่าง ๆ​ จากบรรดาผู้ติดเขื้อโควิด-19 ทั้งที่ต้องกักตัวในโรงพยาบาลทั่วไปหรือแม้แต่โรงพยาบาลสนามที่ต้องเปิดเพิ่มกันแทบทุกจังหวัด​

แต่ที่ทำให้ขุ่นมัวประสาทตานิดหน่อย​ คือ​ บางคนที่ต้องกักตัวดันชอบออกมาแชร์​ แอร์ไม่มี​ อาหารสุนัข​ไม่รับประทาน​ บริการไม่​ First​ Class

เฮ้ย!! รู้ไหมว่า​ ไอ้สิ่งที่ตัวคุณเป็นอยู่เนี่ย​ มองในเชิงกายภาพ​แล้ว​ มัน​เหมือน​'​ระเบิดเคลื่อนที่'​ ที่มีความอันตรายสูง​ จนคนเขาอี๋กันอยู่นะเว้ยเฮ้ย

อยากได้อิสรภาพ​ในวันที่ตัวเองติดโควิด-19 จนทำตัวเหมือนตนเองไม่รู้เดียงสา​ เล่นไฮโล​ โชว์ก้น​ เซลฟี่กันเพลิดเพลินในที่กักกัน​ โดยมิได้สำเหนียกว่าตนเองอยู่ในสถานะอะไร​ (ผู้ป่วย)​ ก็อย่าทะลึ่งการ์ดตกกันดิฟระ!!

14​ วันในการกักตัว​ของผู้ติดเชื้อ​ มันน่าอึดอัด​ มันไม่อิสระ​ มันไม่สามารถทำอะไรตามใจนึกได้ อันนี้เข้าใจดี แต่มันไม่มีวิธีไหน​ดีสุดเท่ากับการยึดมั่นในวินัยที่ตัวผู้ติดเชื้อต้องแบกรับ​นะฮิ...

เพราะหัวใจของการควบคุมโควิด-19 ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อแล้ว​ มันมีความหมาย​ ต่อทั้งตัวคุณเอง​ ว่า​ 14​ วันนี้จะรุนแรงจนแดดิ้นดับ​ หรือจะได้กลับไปสู่อ้อมอกครอบครัว​ หรือสังคมหรรษาที่จากมา

เอาล่ะ!! ที่ว่ามาทั้งหมด​ ขอจบในกรณีผู้ที่ติดเชื้อ​แล้วต้องถูกเฝ้าดูอาการ...

แต่เนื่องจากโรคนี้ 80% มักไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ทำให้ยากที่จะรู้ ครั้นจะจับคนมาสวนจมูกตรวจเชื้อ​ ก็ดูจะสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก และถึงผลการตรวจจะบอกว่า Negative หรือไม่พบเชื้อ ก็ยังไม่อาจไว้ใจได้ และต้องกักตัว 14 วันอยู่ดี

มันก็เลยเป็นที่มาของ​คนอีกกลุ่มที่เรียกว่า 'กลุ่มเสี่ยง'​ ซึ่งต้องมีการกักตัว 14 วัน​ แบบ 'เฝ้าระวัง'​ เพื่อดูความเคลื่อนไหวของโรค

อย่างไรซะ​ การกักตัว 14 วันแบบเฝ้าระวังของกลุ่มเสี่ยง ก็มีรูปแบบให้เลือกอยู่​ 2​ แนวทาง​ได้แก่...

1.)​ การกักตัวแบบ​ State Quarntine ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้มากกว่า​ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นหรือไม่เป็น​ คนรอบข้างจะไม่เจอผลกระทบ แต่ก็มีราคาที่ต้องจ่ายในระดับหนึ่ง​ รวมถึง ราคาแห่งเสรีภาพที่ผู้ถูกกักต้องสูญเสียไปใน

สถานที่กักตัวที่เป็น State Quarantine นั้น ๆ​ เพราะต้องกักตัวในห้องเดี่ยว ไม่เอาไปนอนรวมกันกับห้องสองคนสามคน​ ที่หากมี 1 คนติดเชื้อคนที่เหลือก็จะติดเชื้อไปด้วย

กลุ่มเสี่ยงที่กลับจากต่างประเทศ หรือกลับจากเมืองและแหล่งเสี่ยงหนักมาก​ จึงมักถูกดูแลกักตัว 14 วันโดยรัฐก่อนกลับสู่ชุมชน หากเสี่ยงน้อยก็สามารถให้กลับบ้านไปกักตัวเองที่บ้านได้ แต่ต้องมีระบบการติดตามเยี่ยมหรือเฝ้าระวังจากคนในชุมชน​ (ส่วนใครที่มีเชื้อจะต้องมาแจ้งเพื่อแยกกักตัวจากทางบ้านโดยอัตโนมัติ​ ห้ามปิดบัง​ เพราะมีความผิด)​

2.) การกักตนเองที่บ้านหรือ Self Home Quarantine เป็นอิสรภาพที่หลายคนที่ผ่านพ้นพื้นที่เสี่ยงมามักแสวงหา​ เพราะมันก็คือการกลับมาบ้านของ​ตนเอง​ ซึ่งสะดวกและมีความสุขในมุมผู้ถูกตีตราให้กักตัว

แต่ทราบหรือไม่ว่า​ ในความเป็นจริงแล้ว​ การกักตัวที่บ้านก็ต้องมีวินัย และต้องเป็นคนพอมีอันจะกินด้วยถึงจะทำให้การกักตัวมีประสิทธิภาพ

ฟังแล้วแปลก ๆ​ และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

เพราะปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เคยมีแพทย์อินเดียท่านหนึ่งได้เสนอบทความว่า Home quarantine is priviledge หรือ​ การกักตัวที่บ้านนั้น​ เหมาะแก่​ กลุ่มอภิสิทธิ์ชน ที่สุด​ หมายความว่า เขาต้องมีบ้านหลังใหญ่พอ มีห้องนอนมากพอ มีคนดูแลส่งข้าวส่งน้ำ มีเงินออมที่ไม่ต้องทำงาน 14 วัน​ก็มีข้าวกิน เป็นต้น

ซึ่งชีวิตคนส่วนใหญ่​ มันก็มักจะสวนทางกับสิ่งที่เขาว่ามาทั้งนั้น​ และนั่นก็ยากที่จะทำให้การกักตัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

ในประเทศไทย​เอง​ ก็สะท้อนปัญหาด้านความพร้อมของการกักตัวที่บ้านได้ชัด​ โดยผ่านประสบการณ์​ของ​ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ​ ผู้อำนวยการ​ โรงพยาบาล​ จะนะ จังหวัดสงขลา​ ทึ่เคยแชร์ให้ฟังว่า...

"ผมมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้​ โดยผู้ใหญ่บ้านโทรมาปรึกษาว่า มีคนกลับจากมาเลเซีย และเขาเข้าใจว่าต้องกักตัวเอง 14 วัน

"แต่บังเอิญบ้านเขาเล็กมาก แถมดันอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ญาติพี่น้องก็ยากจน ไม่รู้จะทำอย่างไร ให้มากักตัวที่โรงพยาบาลได้ไหม ?

"ผมก็ตอบไปว่า หากป่วยติดเชื้อ มากักที่โรงพยาบาลได้ แต่หากเป็นการเฝ้าระวังเช่นนี้ ก็ต้องให้ผู้ใหญ่เป็นธุระในการจัดการ ซึ่งจะใช้โรงเรียน ใช้กุฏิร้าง ได้ไหม ผู้ใหญ่ต้องปรึกษากันเองในหมู่บ้าน"

จากตัวอย่างนี้​ ลองนึกภาพดูว่า​ ถ้าคุณเกิดติด​เชื้อโควิด-19​ ในช่วงเฝ้าระวังขึ้นมาบนพื้นฐานครอบครัวราว ๆ​ นี้ โอกาสที่คนในครอบครัวจะติดจากคุณ​ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ? ยิ่งถ้าคนในบ้านเกิดมีผู้สูงอายุอยู่ด้วยจะเป็นอย่างไร ? เพราะหากย้อนดูข้อมูลจากกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแล้ว​ จะพบว่า​ ที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุมาก คิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 50% ของคนสูงอายุที่เกิน 70 ปี ขึ้นไป​ทั้งสิ้น

ฉะนั้นหากมองภาพความเป็นจริงของสังคมไทย​ หรืออาจจะสังคมอื่น ๆ​ คนที่มีศักยภาพพอที่จะกักตัวได้แบบไม่สร้างภาระหรือนำโรคไปแพร่ให้คนในครอบครัวได้​ 'มันน้อย'​ ก่อนหน้านี้คนเขียนก็เจอกับตัวมาแล้ว​ เพราะบ้านเพื่อนติดกันทั้งบ้าน​จากการกักตัว​เอง​แบบเฝ้าระวัง แต่มีข้อจำกัดของการใช้พื้นที่ร่วมในบ้านและวินัยที่ต่ำ​ จนคนในบ้านร่วม​ 5​ ชีวิตตั้งแต่เด็กยันแก่​ ติดโควิดกันถ้วนหน้า​

อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องมาเจ็บและเสียชีวิตจากโควิด-19 เพียงเพราะคำว่าอิสรภาพโง่ ๆ​ ที่มักนำพาวินัยต่ำ ๆ​ มาสู่ตน​ ภายใต้การการ์ดตก​ของตัวเอง...ว่าแล้วโบกหัวตัวเอง​ 10​ ที​ ปฏิบัติด่วน!!

อ่ะ​!! บ่นไปเยอะ​ เอาเป็นว่าใครที่อยู่คนเดียว การกักตัวเฝ้าระวัง 14 วันที่บ้านไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากใครต้องอยู่บ้านกับครอบครัวที่อยู่กันหลายชีวิต​ อยากให้เคร่งครัดกับวินัยตามนี้...

1.) ที่วัดอุณหภูมิร่างกาย ที่ปกติแล้วอุณหภูมิในร่างกายไม่ควรเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ซึ่งข้อนี้ใครกักตัว 14 วันที่บ้าน และอยู่บ้านคนเดียวก็ต้องมีไว้ เพื่อเช็กอาการของตัวเองเป็นระยะ ๆ

2.) ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ อยู่คนเดียวก็ต้องปฏิบัติข้อนี้เช่นกัน

3.) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนในบ้าน มีระยะห่าง 1-2 เมตร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนในบ้านที่มีโรคประจำตัว

4.) แยกห้องนอน เป็นห้องพักที่โปร่ง อากาศถ่ายเท แสงแดดเข้าถึง

5.) แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ทำความสะอาดทันที ปิดฝาก่อนชักโครกทุกครั้ง จุดเสี่ยงที่สำคัญคือ โถส้วม อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ ลูกบิดประตู

6.) แยกของใช้ส่วนตัว จาน ชาม แก้วน้ำ เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว และแยกทำความสะอาด

7.) แยกรับประทานอาหาร ตักแบ่งมาต่างหาก ล้างด้วยน้ำยาล้างจาน ผึ่งแห้ง ตากแดด

8.) แยกขยะที่มีสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย เช่นหน้ากากอนามัย ทิชชู เพราะเป็นขยะติดเชื้อ ใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ราดด้วยสารฟอกขาว มัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้ง กรณีนี้สำคัญมากรวมถึงคนที่กักตัว 14 วันที่บ้าน ที่กักตัวอยู่คนเดียวก็ต้องทำด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อออกไปสู่คนอื่น

9.) สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเมื่อต้องพบปะคนอื่น และต้องอยู่ห่างกัน 1 - 2 เมตร

10.) ทั้งคนที่กักตัว 14 วันที่บ้านคนเดียว และอยู่บ้าน ก็ต้องงดกิจกรรมนอกบ้าน หยุดงาน หยุดเรียน งดใช้รถสาธารณะ

นอกจากนี้คนในครอบครัวเองก็ต้องระมัดระวังตัวเองด้วย โดยต้องล้างมือบ่อยๆ ระวังจุดเสี่ยงสัมผัสต่างๆ แยกใช้สิ่งของร่วมกัน

ส่วนพวกที่อยู่คอนโด แม้อยู่คนเดียว ก็ต้องเน้นเรื่องการแยกขยะฆ่าเชื้อ ใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นก่อนทิ้ง งดใช้บริการของส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ, ฟิตเนส

ส่วนการเริ่มนับวันกักตัวจำนวน 14 วันที่บ้าน​ จะต้องนับจากวันไหนนั้น ขอให้เริ่มนับจากวันที่เจอผู้ติดเชื้อโควิดวันสุดท้าย เช่น หากเจอเพื่อนที่เป็นโควิดวันที่ 1 เมษายน ซึ่งยังไม่แสดงอาการ จนกระทั่งยืนยันว่าพบเชื้อวันที่ 4 เมษายน ก็ให้นับตั้งแต่วันที่เจอคือ 1 เมษายน​ และต่อไปอีก 14 วันเลย

อย่างไรเสียคนที่ยอมกักตัวเองอย่างมีวินัย ยอมทิ้งอิสรภาพบางประการ​ พร้อมทำตัวเหมือนคนไข้คนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบและเชื่อฟังตามแพทย์แนะนำ​ ควรได้รับความชื่นชม ไม่ไปรังเกียจเขา

เพราะเขาจะเป็น​ 'ฮีโร่'​ ได้​ทันที​ หากวินัยในช่วง 14 วันนั้น ส่งผลต่ออนาคตที่ภาคส่วนด้านสาธารณสุขควบคุมต่อได้โดยง่าย

.

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2068084

https://www.chanahospital.go.th/content/

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873235


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32