2 สหภาพแรงงานฯ การบินไทย แท็กทีมเดินหน้าร้องรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แจงเงื่อนไขที่การบินไทยขอสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน ขัด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทั้งร้องคัดค้านเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม

สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทยจับมือสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ แท็กทีมเดินหน้าร้องรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน แจงเงื่อนไขที่การบินไทยขอสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน ขัด พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทั้งร้องคัดค้านเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม ผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำโครงสร้างใหม่ ลดพนักงาน ลดคนแต่ไปจ้างเอ้าท์ซอร์ทเพิ่ม ผิดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งข้อตกลงสภาพการจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน วอนขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แจ้งต่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

นายสรยุทธ หอมสุคนธ์ ประธานสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย พร้อมด้วยนายไพบูลย์ กันตะลี ตัวแทนสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ ได้ยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

โดยระบุว่าเนื่องด้วยสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ได้พบเห็นเอกสารของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย ฯ วันที่ 25 ธ.ค. พ.ศ.2563 ที่การบินไทยได้ขอการสนับสนุนจากกระทรวงแรงงาน และสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ได้วิเคราะห์และพบประเด็นข้อสงสัยบางประเด็นซึ่งนำมาเพื่อเรียนขอคำวินิจฉัยจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเนื่องจากในเอกสารดังกล่าวได้ระบุว่า เป็นการขอความช่วยเหลือจากทางกระทรวงแรงงานและเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

1.) ประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ตามที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอความร่วมมือจากกระทรวงแรงงาน ใจความว่า “การออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ) เพิ่มเติมโดยกำหนดยกเว้นมิให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาใช้บังคับกับกรณีที่นายจ้างที่อยู่ระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลให้ความเห็นชอบแล้วเลิกจ้างลูกจ้าง

โดยยกเว้นให้ผ่อนจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายได้ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดทั้งนี้ เพื่อให้การบินไทยสามารถเลิกจ้างพนักงาน และสามารถกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการจ่ายค่าชดเชยหรือเงินอื่น ๆ ได้” และ “ออกพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ) โดยกำหนดยกเว้นมีให้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาใช้บังคับกับนายจ้างที่อยู่ในระหว่างกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลให้ความเห็นชอบแล้ว และกำหนดวิธีการเฉพาะมุ่งเน้นไปที่การยกเลิกความคุ้มครองให้เลิกจ้างในกรณีต่าง ๆ

เช่น คณะกรรมการลูกจ้าง/การเลิกจ้างในระหว่างมีการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อเรียกร้อง/การเลิกจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ ทั้งนี้ตามความเหมาะสม การกระทำดังกล่าวของบริษัทการบินไทย ที่นำเสนอให้กระทรวงแรงงานกระทำสิ่งที่ผิด ขัดหรือแย้งต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ซึ่งร่างขึ้นโดยมีเจตนารมณ์คุ้มครองลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างมีอำนาจทางเศรษฐกิจด้อยกว่านายจ้าง และโดยกระทรวงแรงงานมีหน้าที่ต้องคุ้มครองแรงงานตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกระทรวง

สร.พบท. เห็นว่าไม่สามารถทำการยกเว้นแก่นายจ้างที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการให้กระทำการที่ ผิด ขัด หรือแย้งต่อกฎหมายได้ ดังนั้น การที่กระทรวงแรงงานจะออกกฎกระทรวงหรือออกพระราชกฤษฎีกาที่ ขัดหรือแย้ง กฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อประโยชน์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่งย่อมเป็นการกระทำที่เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ดังนั้นสหภาพแรงงานจึงขอคัดค้านการกระทำดังกล่าว

2.) ประเด็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ข้อบังคับการทำงานที่บริษัทการบินไทยฯ และพนักงานบริษัทการบินไทยฯ ต้องยึดถือว่ามีผลใช้บังคับเกี่ยวกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามข้อตกลงสภาพการจ้าง คือ ระเบียบบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล รวมทั้งสิ้น 21 ตอน ตามบันทึกการประชุมหารือร่วมกัน ณ สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2563 ระหว่างฝ่ายลูกจ้างสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย กับ ฝ่ายนายจ้าง

ทั้งสหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) ได้ยื่นเรื่องเกี่ยวกับข้อตกลงสภาพการจ้างเดิมอย่างต่อเนื่องไว้กับกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานไว้และได้ทำการหารือกับตัวแทนฝ่ายนายจ้างแล้วถึงสองนัด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า

ดังนั้นการที่บริษัทการบินไทยฯ ได้มีการประกาศรายชื่อพนักงานที่ได้ร่วมงานกับบริษัทการบินไทยฯ ในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือที่เรียกว่า “การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ Relaunch” โดยให้พนักงานสมัครใจยอมรับระดับตำแหน่งงาน หรือ Level ที่ต่ำลง (หรือสูงขึ้นในบางคนส่วนน้อย) และยอมรับเงินเดือนที่ลดลง

รวมทั้งข้อตกลงสภาพการจ้างตามข้อบังคับที่ยังไม่มีพนักงานคนใดเห็นและทําการศึกษา เนื่องจากจะมีการออกข้อบังคับการทำงานใหม่สำหรับพนักงานที่ได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2554 โดยจะเปลี่ยนแปลงไปจากระเบียบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล รวมทั้งสิ้น 21 ตอนหรือแม้แต่ฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2553 ที่บริษัทการบินไทยฯ พยายามอ้างถึงอย่างแน่นอนที่สุด และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า

ฉบับวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2558 และในขั้นตอนการคัดเลือก ก็ได้มีมาตรฐานในการคัดเลือกเป็นหนึ่งเดียวกันและเหมือนกันทั้งองค์กรและมีการเปลี่ยนแปลงในข้อตกลงที่บริษัทการบินไทยฯ เสนอแก่พนักงานก่อนการตัดสินใจเข้าร่วมโครงสร้างองค์กรใหม่และหลังจากการประกาศผลรายชื่อผู้ได้เข้าร่วมเรียบร้อยแล้ว เช่น พนักงานในฝ่ายปฏิบัติการบินในส่วนของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นต้น

นอกจากนี้พนักงานยังมีการกล่าวถึงระบบอุปถัมภ์และเส้นสายในการคัดเลือกครั้งนี้ มีการกล่าวด้วยวาจาในทำนองให้สละสิทธิ์เรียกร้อง เช่น หากพนักงานต้องการเข้าร่วมสมัครงานกับโครงสร้างองค์กรไหม ต้องสละสิทธิ์ในการเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในหนี้สินค่าจ้าง (ค่าชดเชยวันลาหยุดพักร้อน) เป็นต้น ทั้งที่สิทธิการเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เจ้าหนี้พึงกระทำได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 อีกทั้งยังมีข่าวว่ามีบุคคลที่ถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยได้รับการคัดเลือกเป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทการบินไทยฯ ได้แจ้งแก่พนักงานว่าเมื่อพนักงานสมัครเข้าร่วมโครงสร้างองค์กรใหม่ ข้อบังคับ/ข้อกำหนดใหม่ที่บริษัทการบินไทยฯ ได้จัดทำขึ้น “ห้ามพนักงานเรียกร้อง/โต้แย้งสิทธิใดใดทางกฎหมาย บริษัทการบินไทยฯ อ้างถึงเหตุผลการปรับโครงสร้างองค์กรในการยุบฝ่าย/หน่วยงาน (บางฝ่าย/บางหน่วยงานเพื่อความคล่องตัวและลดจำนวนพนักงาน เพื่อดำเนินการตามกระบวนการฟื้นฟูกิจการ

แต่การปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อความคล่องตัวจะต้องมีการลดอัตราส่วน พนักงานบริหารประดับ 8 ขึ้นไป ต่อพนักงานระดับปฏิบัติการ (ระดับ 1-7) แต่จากอัตราส่วนเดิมประมาณ 1 ต่อ 27.0 (หรือระดับบริหาร 740 คนต่อระดับปฏิบัติการ 20,000 คน เมื่อต้นปี 2563) เป็นอัตราส่วน 1 ต่อ 20.8 (หรือระดับบริหาร 500 คนต่อระดับปฏิบัติการ 10,400 คน หลังมีการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างสมบูรณ์) ซึ่งเห็นได้ว่าอัตราส่วนมิได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานเพิ่มขึ้น และการลดจำนวนพนักงานจะต้องสามารถทำให้บริษัทการบินไทยฯ สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม

แต่ข้อเท็จจริงจะยังมีการจ้างงานโดยใช้การจ้างแรงงานภายนอกหรือ Outsource และในอุตสาหกรรมการบินการมีมาตรฐานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย รวมถึงงานบางประเภทต้องใช้ความชำนาญที่สั่งสมและเรียนรู้รวมทั้งประสบการณ์และความรับผิดชอบสูง จึงสมควรต้องจ้างพนักงานประจำที่เป็นผู้มีประสบการณ์และความรู้ความชำนาญในงานเท่านั้น แต่บริษัทการบินไทยฯ เลือกที่จะเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดจำนวนพนักงานประจำ ผ่านการอ้างถึงการปรับโครงสร้างองค์กร

มีแผนที่จะจ้างแรงงานภายนอกเนื่องจากมีความต้องการใช้แรงงานภายนอกถึง 2,072 ตำแหน่งมาทดแทนพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างจากการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

สร.พบท. และเพื่อนสหภาพแรงงานฯ ร่วมอุดมการณ์ขอเรียนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่า การให้พนักงานสมัครเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ หรือที่เรียกว่า “การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ “Relaunch” เมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับแล้ว ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่า และการทำสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ละเมิดกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เป็นการกระทำที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

พนักงานที่ไม่แสดงความจำนงเข้ากระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 หรือเรียกว่า“การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ Relaunch” และไม่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร (พนักงานที่เรียกตนเองว่ากลุ่มไทยรักษาสิทธิ หรือ ไทยเฉย) ยังคงเป็นพนักงานของบริษัทการบินไทยฯ ภายใต้สภาพการจ้างเดิมต่อไป เพราะการปรับโครงสร้างองค์กรไม่ตอบโจทย์พนักงาน พนักงานไม่สามารถเลือกที่เข้าไปเลือกได้เพราะไม่มีอัตราที่จะให้เลือก หรือ พนักงานกลุ่มดังกล่าวต้องการรักษาสิทธิตามสภาพการจ้างเดิม

เนื่องจากเห็นว่านายจ้าง/บริษัทการบินไทยฯ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างได้เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ผ่านกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น และพนักงานที่แสดงความจำนงเข้ากระบวนกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก และไม่ต้องการแสดงความจำนงเลือก relaunch #2 และ/หรือไม่เข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรหรือ MSP (กลุ่มฟ้าใหม่) ยังคงเป็นพนักงานของบริษัทการบินไทยฯ ภายใต้สภาพการจ้างเดิม และขอให้กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานคุ้มครองสิทธิพนักงานกลุ่มนี้ด้วย ตำแหน่งงานหรือหน่วยงานที่พนักงานสังกัดอยู่ถูกปรับหรือลดจำนวนพนักงานในหน่วยงาน แต่มีแผนที่จะจ้างแรงงานภายนอกมาใช้ทดแทนพนักงานที่ลดลง ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบางหน่วยงานคนขาดเพราะการบินไทยไม่ได้รับพนักงานมาเป็นเวลาร่วมสิบกว่าปีและยังมีพนักงานที่ MSP และเกษียณอายุไปอีกจำนวนมาก

จึงขอให้กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานคุ้มครองสิทธิของพนักงาน 2 กลุ่มนี้ สหภาพแรงงานพนักงานบริษัทการบินไทย (สร.พบท.) และเพื่อนสหภาพแรงงานฯ เห็นว่ากระบวนการเงื่อนไข และขั้นตอนของการคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานในโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือ Relaunch เข้าสู่องค์กรเดิม บริษัทการบินไทยฯ เป็นการดำเนินการที่ผิดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งข้อตกลงสภาพการจ้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงขอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แจ้งต่อคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวโดยด่วนที่สุด

 

ที่มา : https://www.thansettakij.com/content/business/476774


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32