ภาคธุรกิจเอกชน เล็งเสนอแผนกระจายวัคซีนต่อนายกรัฐมนตรี หวั่นโควิดทำเลื่อนเปิดประเทศ คาดกระทบแผน กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ 3 เดือนข้างหน้า ย้ำพร้อมควักเงินซื้อวัคซีนโควิด 10-15 ล้านโดส
วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า การระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างน้อย 3 เดือน โดยจะกระทบการท่องเที่ยวและทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ทำได้ยาก หรืออาจต้องเลื่อนออกไป
รวมทั้งกระทบอย่างมากต่อกำลังซื้อ เพราะแรงงานในภาคบริการต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงาน ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินที่มีกว่า 2 แสนล้านบาท เข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ และการขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงาน
นอกจากนี้ การแจกกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะมันเป็นปัจจัยที่สร้างเสริมความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด จะทำให้ภาพของอุปสงค์ในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าค่อนข้างมาก เป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ สอดคล้องกับรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปี 2564 ว่าจะขยายตัว 6% สอดคล้องกับรายงานขององค์การการค้าโลก (WTO) ณ เดือน มี.ค. ที่ประเมินว่า ปริมาณการค้าโลก (World Merchandise Trade) ในปี 2564 จะขยายตัวได้ถึง 8.0% ส่วนเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัวดีขึ้น
ขณะที่ปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและค่าระวางเรือที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงต้นทุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง ยังเป็นแรงกดดันสำคัญต่อความสามารถของผู้ส่งออกของไทยในระยะต่อไป และยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นมาก
ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย GDP ปี 2564 ขยายตัวได้ในกรอบ 1.5% ถึง 3.0% (จากเดิม 1.5-3.5%) ซึ่งประมาณการนี้ขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมายและมาตรการของรัฐที่มีขนาดกว่า 2 แสนล้านบาท ที่จะเข้ามาเยียวยาเศรษฐกิจ โดยหากไม่มีเม็ดเงินดังกล่าว GDP จะไม่ขยายตัวหรือเติบโต 0%
ด้านการส่งออก กกร. ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 4.0% ถึง 6.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%
อย่างไรก็ตาม เอกชนยังมีความเป็นห่วง เรื่องการกระจายวัคซีนที่ยังล่าช้าและแผนงานยังไม่ชัดเจน จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานใน 4 ด้าน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี คือ
1.) คณะแก้ไขปัญหาการกระจายและฉีดวัคซีน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในเรื่องโลจิสติกส์ การขนส่งและสถานที่ในการฉีด เช่น ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
2.) คณะสร้างความเชื่อมั่นและประชาสัมพันธ์ โดยประสานข้อมูลกับผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน
3.) คณะสนับสนุนระบบอำนวยความสะดวกระบบงานต่าง ๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการฉีด จนถึงการออกใบรับรอง และการจัดทำระบบ Vaccine Passport เพื่อใช้แสดงในการเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ
4.) คณะจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ที่ผ่านมาได้รวบรวมความต้องการภาคเอกชนในการซื้อวัคซีนเพื่อเร่งการฉีดให้เร็วขึ้น โดยมีผู้ซื้อแสดงความจำนงมาแล้วกว่า 5 ล้านโดส ขณะที่เอกชนพร้อมควักเงินจ่าย-ซื้อเอง รวมแล้วคาดว่าจะมีถึง 10-15 ล้านโดส และขอให้ อย. ผ่อนคลายระเบียบเพื่อให้มีการซื้อวัคซีนได้มากขึ้น โดยจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้าของ 3 สถาบัน จากนั้นจะสรุปเพื่อเสนอนายกฯ
“การที่มีการประชุมของภาคเอกชน และได้ส่งข้อมูลไปให้ภาครัฐนั้น ทางภาคเอกชน ต้องขอขอบคุณ ท่านนายกรัฐมนตรี และคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ตอบรับข้อเสนออย่างรวดเร็วในการเร่งหาวัคซีนทางเลือก
โดยได้อำนวยความสะดวกในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม พร้อมกับ จะจัดหาวัคซีน COVID-19 อีก 2-3 ยี่ห้อ เพิ่มเติม 35 ล้านโดส นอกเหนือจากที่ ภาครัฐดำเนินการไว้แล้ว ซึ่งภาคเอกชนนำโดย กกร. จะช่วยรัฐบาลจัดหาให้กับพนักงานลูกจ้างเองด้วย เพื่อช่วยลดงบประมาณของรัฐบาล”
ทั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขยายเวลา พรก.กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ได้ขยายระยะเวลามา 1 ปี และจะครบกำหนดเดือน พ.ค.นี้ออกไปก่อน
เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเรื่องรายละเอียดการบังคับใช้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฎิบัติตามได้ นอกจากนี้ จะขอให้กระทรวงฯ ทบทวนพรบ. PDPA ที่มีรายละเอียดและบทลงโทษเข้มงวดเกินไปให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32