เรื่องราวของสาวน้อยที่ต้องการขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันในสังคม ทำให้เธอตัดสินใจออกเดินทางไปใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ ก่อนที่จะไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา ที่นั่นทำให้เธอได้ทั้งแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืม

“พี่ครับ ถ้าเราไปอยู่ดาวอังคาร แล้วเราจะหายใจยังไงหรอครับ?”

“อืม นั่นน่ะสิ พี่ก็ไม่รู้แฮะ แต่บนดาวอังคารมันเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เราคิดว่าไงล่ะ?

“อ๋อพี่ งั้นเราก็เอาต้นไม้ไปปลูกสิ ต้นไม้จะได้เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นออกซิเจนไง”

บทสนทนานี้ของเรากับเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่คุ้นชินกับป่าไม้ บทสนทนานี้คือส่วนหนึ่งของของการผจญภัยที่มีค่าที่สุดในช่วงเวลาก่อนที่เราจะเดินทางมาศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เดือนตุลาคมปี 2020 ระว่างที่เรากำลังเรียนออนไลน์จากอีกฝั่งของโลก เรารู้สึกเบื่อกับชีวิตที่วนกับการทำการบ้าน เรียน นั่งหน้าคอมทั้งวัน รวมถึงข่าวการเมืองต่าง ๆ โพสท์เกี่ยวกับปัญหาสังคมเต็มหน้าฟีด เราตั้งคำถามกับตัวเองว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ และทำไปทำไม เราจะเป็นส่วนนึงที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันในสังคมได้ยังไงบ้าง

เราเลื่อนฟีดเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ แล้วเจอกิจกรรมอาสา เป็นพี่เลี้ยงเด็กพาเดินป่า ที่เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มันก็กระตุกให้จำได้ว่า เรามีความสุขกับการได้พูดคุยกับเด็กๆ และคิดว่าเราน่าจะมีอะไรไปแชร์ให้น้อง ๆ ได้เยอะ ตอนนั้นเลยตัดสินใจสมัครไป น้อง ๆ มีกัน 24 คน อายุระหว่าง 7-15 ปี เป็นน้องจากบ้านเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง แม้เวลาจริง ๆ ของค่ายจะเป็นแค่ 2 วัน 1 คืน แต่เราตัดสินใจย้ายไปอยู่เชียงใหม่คนเดียวเพื่อใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ที่นั่น

เสียงเพรียกจากดาวอังคาร

คืนนั้นในค่าย  หลังจากเดินป่าด้วยกันก็เริ่มเข้าสู่ช่วงกลางคืน ตอนนั้นเป็นปลายเดือนตุลาคม หน้าฝนต้นหนาว ทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา เมฆเยอะจนเราไม่ได้คาดหวังว่าจะได้ดูดาวกับน้อง ๆ แต่โชคดี ในค่ายเยาวชนเชียงดาว ท่ามกลางบรรยากาศของดอยหลวงเชียงดาว ในคืนนั้นฟ้าใสมาก เราวิ่งกลับห้องไปเอาของเล่นสุดที่รักซึ่งก็คือเลเซอร์ชี้ดาว จริง ๆ เราก็ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมเราถึงพกมันตลอดเวลา แต่มันเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ๆ

กิจกรรมรอบกองไฟในคืนนั้น เราฟังความประทับใจในวันนั้นของพี่ ๆ น้อง ๆ จนไมค์ถูกยื่นมาถึงเรา ซ้ายมือของเรา (ทิศตะวันออก) คือดาวเคราะห์สีแดงดวงหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเป็นช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง Conjunction (ใกล้โลกที่สุดในรอบปี) พอดี เราเล็งเลเซอร์ไปที่ดาวสีแดงสว่างจ้าดวงนั้นแล้วพูดว่า

“น้อง ๆ นี่คือดาวเคราะห์ที่เราอยากไปกัน”

สายตาของเด็กๆ 24 คน ที่จ้องไปดาวอังคารและว้าวให้กับเลเซอร์ของเรา ก็ทำให้เราว้าวไม่ต่างกันเลย ในคืนนั้นมีดาวเคราะห์อยู่ 3 ดวง และดวงจันทร์อีกหนึ่ง เราให้น้องลองสังเกตตำแหน่งของดาวเคราะห์และลักษณะของมันว่าต่างจากดาวฤกษ์ยังไง สอนหาดาวเหนือด้วยกลุ่มดาวค้างคาว หลังจากนั้นก็เริ่มพูดถึงนิทานเกี่ยวกับดวงดาว เรื่องรัก ๆ ของสามเหลี่ยมฤดูร้อน ตำนานหนุ่มทอผ้าและสาวเลี้ยงวัว ที่ดาวเดเนบคือหงส์ที่เชื่อมเป็นสะพานให้นางฟ้าโอริฮิเมะ (ดาวเวกา) และฮิโกโบชิ (ดาวอัลแทร์) ข้ามแม่น้ำ (ทางช้างเผือก) มาเจอกัน ทุกวันที่ 7 เดือน 7 หลังจากนั้น นิทานดวงดาวก็มาจากจินตนาการของน้อง ๆ เอง

ในคืนนั้นเลเซอร์ของเรากลายเป็นดินสอสี และท้องฟ้าเป็นก็กลายเป็นผืนกระดาษขนาดใหญ่ที่อนุญาตให้เด็ก ๆ มองขึ้นไปและได้ปลดปล่อยจินตนาการให้เป็นอิสระกว่ากระดาษแผ่นใดบนโลกจะให้ได้ เรานอนลงบนสนามหญ้ากับน้องๆ และฟังเรื่องราวจากรูปวาดของน้องๆ ที่เชื่อมดาวแต่ละดวงเข้าด้วยกัน

“พี่ครับ หมากำลังตะครุบแมว” น้องคนหนึ่งกล่าว “พี่ครับ ดาวดวงนั้นเคลื่อนที่เร็วมากเลย กระพริบได้ด้วย” เรารีบหันไป “นั่นมันเครื่องบิน!” น้อง ๆ หยอกเย้ากันไปกันมาใต้แสงดาว

ระหว่างรับฟังจินตนาการของเด็ก ๆ ก็มีคำถามมากมาย “ทำไมดาวบางดวงถึงสว่างกว่าดวงอื่น” “จริง ๆ แล้วดาวเกิดขึ้นมาได้อย่างไร” หรือ “ถ้าเราไปอยู่บนดาวดวงอื่น เราจะเห็นโลกสว่างแบบนั้นมั้ย” แต่ก่อนจะตอบคำถามของเด็ก ๆ เราจะถามก่อนว่า “แล้วเราคิดว่ายังไงล่ะ” เพื่อหลีกเลี่ยงการลัดกระบวนการเรียนรู้ของน้อง ๆ

เราไม่ได้เป็นคนสอนคนเก่งนัก และเราคงสอนน้อง ๆ ไม่ได้ทุกเรื่อง เราใช้ดาราศาสตร์เป็นตัวกลางในการเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อให้น้อง ๆ ชอบดาราศาสตร์ แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขา กล้าที่จะถาม กล้าที่จะจินตนาการ และกล้าที่จะพยายามหาคำตอบ อย่างอิสระ และระหว่างที่เราเองมองไปที่จักรวาลอันกว้างใหญ่ร่วมกับน้อง ๆ เราก็คิดขึ้นได้ว่า การได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ดูจะไกล และยิ่งใหญ่ อย่างจักรวาล คงจะช่วยกระตุ้นให้ เรากล้าที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับทุก ๆ อย่างโดยไม่ต้องกลัวว่ามันจะใหญ่เกินตัวเราหรือเปล่า ซึ่งรวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับความอยุติธรรม
 

วันต่อมา ก่อนน้อง ๆ ขึ้นรถกลับสันทราย มีน้องคนหนึ่งเข้ามาคุยกับเราว่า เขาชอบฟิสิกส์ ชอบเวลาได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ต่าง ๆ เรื่องราวก็เกิดขึ้นจากที่เราได้อธิบายระหว่างเดินป่าด้วยกัน เช่นการเกิดรุ้ง วัฏจักรของน้ำ ที่เราถามน้องว่าเชื่อป่าว ว่าเดี๋ยวน้ำจากน้ำตกที่เราเดินผ่านเนี่ย จะเป็นเมฆบนนั้น แล้วเดี๋ยวมันก็จะกลับมาเป็นน้ำตกใหม่ ในตอนนั้นน้องถามเราว่าทำไมโรงเรียนสอนฟิสิกส์เป็นการคำนวณไปหมดเลย และน้องชอบดาราศาสตร์ แต่โรงเรียนไม่สอนเลย ตอนนั้นเราเลยบอกไปว่าเดี๋ยวเราจะส่งหนังสือไปให้นะ

นักบินอวกาศ

เราแอบส่อง Facebook ของพี่ ๆ ที่ดูแลบ้านกำพร้า แล้วเจอคลิปน้องคนนั้น นำหมวกกันน็อคมาจินตนาการเป็นชุดอวกาศ และอธิบายว่าตัวเองกำลังไปดาวอังคาร ตอนนั้นเลยได้รู้ว่าน้องมีความสนใจทางด้านนี้มากจริง ๆ และในจุดที่น้องอยู่คงมีโอกาสเข้าถึงน้อย เราไม่อยากปล่อยให้ความฝันของน้องจางไป เราได้รู้ว่าน้องกำลังจบ ม.3 พอดี จึงตัดสินใจช่วยสอนหนังสือให้ “นักบินอวกาศ” และแนะนำทุน พสวท. ให้ เราดีใจที่น้องสนใจ จึงเริ่มลุยไปด้วยกัน

หลังจากค่ายที่เชียงดาว เราเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปแม่แฝกสันทรายแทบทุกอาทิตย์ เพื่อสอนดาราศาสตร์พื้นฐานให้กับน้อง ๆ เช่นความสัมพันธ์ระหว่างโลก ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ที่กำหนดวันเดือนปี การเกิดปรากฎการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง อุปราคา ระบบสุริยะ ต่าง ๆ และติววิทยาศาสตร์ทั่วไปให้เด็กชายนักบินอวกาศ เพื่อเตรียมสอบ บ้างก็ไปคนเดียว บ้างก็ชวนเพื่อน ๆ ไป และมีเพื่อนหลาย ๆ คนฝากสื่อการเรียนรู้มาให้น้อง เช่นฝากใจจากมหาสารคาม ด้วยหัวใจที่สร้างจาก 3D Printer

จนช่วงที่เกิดปรากฎการณ์ดาวพฤหัส และดาวเสาร์กำลังขยับเข้ามาใกล้กันที่สุดในรอบ 400 ปี (The Great Conjunction) เราตัดสินใจซื้อกล้องโทรทรรศน์ เพื่อให้น้อง ๆ ได้ส่อง Galilion Moons ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัส และวงแหวนดาวเสาร์ รวมถึงได้ส่องวัตถุท้องฟ้าที่เราเคยมองด้วยกันอย่างใกล้ขึ้น  ทุกครั้งที่ได้เจอกัน น้อง ๆ จะมาพร้อมกับคำถามที่เหมือนตั้งใจจดไว้เพื่อรอเราตอบ
 

“พี่น้ำหวาน วันก่อนดวงจันทร์ยิ้ม แต่มีแสงตรงที่ไม่ยิ้ม มันคือจันทรุปราคาที่พี่เคยบอกไหมคะ”
“พี่น้ำหวานคะ ดาว 2 ดวงที่เราส่อง มันค่อย ๆ เข้าใกล้กันทุกคืนเลย มันจะจูบกัน!” 
“พี่น้ำหวานครับ วันก่อนพวกเราเห็นดาวตกด้วย มันมาจากไหนหรอครับ”
และเหมือนเดิม เราจะถามน้องก่อนเสมอว่า “เราคิดว่ายังไงล่ะ”

เสียดายที่คืนที่ดาวเสาร์และดาวพฤหัสใกล้กันที่สุด ฟ้าปิด จึงอดพาน้อง ๆ ดูดาวเสาร์ กับดาวพฤหัสในเฟรมเดียวกัน แต่เอาจริง ๆ แทบทุกครั้งที่เราไป มักจะเมฆหนา ทั้งที่คืนก่อนหน้าฟ้าเปิด จนน้อง ๆ แซวเราว่าเป็นตัวเรียกเมฆ คืนที่เกิด The Great Conjunction นั้นเลยเปลี่ยนจากท่องอวกาศ มาเป็นท่องโลกแทน

เราเปิดรูปที่เราเคยไปต่างประเทศให้น้อง ๆ ดูรูปสัตว์ที่ไม่มีที่ไทย รูปบ้านเมือง สภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากไทย และภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่มีอยู่ประมาณหนึ่ง เช่นสุริยุปราคาวงแหวนที่เราไปถ่ายที่สิงคโปร์ ภาพท้องฟ้ากลางคืนของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นซีกโลกใต้จึงได้เห็นกลุ่มดาวกางเขนใต้ (กลุ่มดาวประจำตัวเรา) อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าไทย ดวงจันทร์ที่เป็นกระต่ายกลับหัว การได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของเรา ได้ทำให้เราย้อนคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราได้มาจากการเดินทาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของเราเอง และคงได้ทำให้น้อง ๆ ได้รู้ว่า บนโลกนี้ยังมีอะไรอีกมากมายที่รอให้น้อง ๆ ได้ไปพบเจอ

25 ธันวาคม 2020 เราติว “นักบินอวกาศ” วันสุดท้ายก่อนสอบ ทบทวนเรื่องการออกแบบการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์ สอนฟิสิกส์เล็ก ๆ น้อย ๆ จริง ๆ เรากลัวน้องนอนดึก แต่น้องก็ยังยืนยันจะเรียนต่อ มันคงเพราะใจที่สู้ของน้องที่ทำให้เราเองไม่เคยเหนื่อยเลยที่จะแบ่งเวลาจากการเรียน เขียน Essay ยื่นมหาลัยที่สหรัฐฯ มาติวให้น้อง

ในวันสอบของ “นักบินอวกาศ” เราไปเชียร์น้องสอบที่โรงเรียนยุพราชฯ และนั่งเฝ้าน้องทั้งวันกับลูกของเจ้าของบ้านเด็กกำพร้าชื่อแบงค์ แบงค์อายุเท่ากับเรา เลยคุยกันได้ง่าย ระหว่างนั่งรอน้องสอบ แบงค์เล่าเกี่ยวกับครอบครัวของ “นักบินอวกาศ” ให้ฟัง ว่าที่ ๆ น้องมา ในวัยของน้อง คนที่นั่นมักไม่เรียนต่อ ทำงาน มีครอบครัวกันแล้ว และจริง ๆ ช่วงที่เราติวสอบให้น้อง เป็นช่วงหยุดยาว และน้องก็เกือบกลับบ้าน ซึ่งคำว่ากลับบ้านในที่นี่ ไม่ใช่แค่กลับไปหาแม่ แต่อาจคือกลับไปดำเนินชีวิตตามวิถีของที่นั่น ซึ่งคือการทำสวน และแต่ละวันก็คงต้องกังวลเรื่องที่ดินทำกิน จนน้องคงหลุดจากการศึกษาไปเลย

ระหว่างรอสอบก็คิดว่าถ้าน้องรู้สึกว่าข้อสอบยากไป จะคุยกับน้องยังไงดี น้องจะท้อจนไม่อยากเรียนต่อไปเลยรึเปล่า ด้วยความที่เราเองอยู่ในวงการแข่งขัน และบ่อยครั้งที่คนรอบตัวจะเสียใจจากผลที่เทียบความสามารถของตัวเองกับคนอื่น

ช่วงพักเที่ยงน้องมาหาเรา และสิ่งที่น้องพูดคือ “พี่ผมเห็นเด็กชื่อโรงเรียนเท่ ๆ เยอะเลย” บ้างก็ว่า “ข้อสอบมีถามว่า สามารถเอาจักรยานที่พังไปทำเป็นอะไรได้บ้าง ผมอยากเอาไปทำเป็นเครื่องออกกำลังกายอ่ะพี่” หรือ “เอ้อ ที่พี่สอนเมื่อคืนช่วยได้เยอะเลย” นักบินอวกาศเริ่มสำรวจสิ่งรอบตัว “โรงอาหารโรงเรียนยุพราชใหญ่จัง” น้องไม่แม้แต่จะแสดงท่าทีท้อแท้  หรือรู้สึกเสียใจแต่อย่างใด น้องเล่าเกี่ยวกับข้อสอบ ผู้คน และสถานที่ที่น้องได้เจอในวันนั้นอย่างสนุกสนาน “นักบินอวกาศ” ได้ทำให้เราเข้าใจว่า บางทีการใช้ชีวิตที่ไม่ต้องเอาชนะใคร ก็ทำให้เราเปิดใจกว้าง และเห็นคุณค่าในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้มากขึ้น

สุดท้ายแล้วถึง “นักบินอวกาศ” จะสอบไม่ติดทุน แต่น้องได้เห็นโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น ได้รู้จักชื่อโรงเรียนเท่ ๆ ได้รู้ว่ามันยังมีโอกาสให้น้องอีกมากมาย เราไม่ได้บังคับว่าน้องจะต้องเรียนต่อ ม.ปลาย เราไม่ได้บอกว่ามันคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับน้อง แต่เราแค่ทำให้น้องได้รู้ว่าน้องมีทางเลือก และถึงแม้น้องตัดสินใจที่จะกลับไปยังที่ ๆ น้องจากมา เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวตามวิถีเดิม เราก็ไม่ได้เสียใจกับการที่เราทุ่มเท เราเชื่อว่าจากความพยายามของเด็กคนนึงที่ไม่ได้มีต้นทุนอะไรนอกจากความเชื่อที่จะไปดาวอังคาร  ได้ทำให้น้องได้เห็นพลังในตัวเอง และไม่ว่าจากนี้น้องจะอยู่ที่จุดไหน ชุดอวกาศของน้องจะค่อย ๆ ขยับจากหมวกกันน็อคเก่า ๆ ใบหนึ่ง เป็นอะไรที่มากกว่านั้นได้แน่นอน

คืนวันสิ้นปี เราไปเค้าท์ดาวน์ที่บ้านน้อง ๆ ก่อนไปที่บ้าน ก็เดินเล่นตลาดวโรรสแล้วเจอคนขายหนังสือพิมพ์ ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์นานแล้ว เลยซื้อมา และติดไปที่บ้านน้อง ๆ ด้วย เราไปถึงก็วางไว้บนโต๊ะ 

“พี่น้ำหวานคะ อันนี้คือหอไอเฟลหรอคะ หนูขอตัดเก็บไว้ได้มั้ยคะ” น้องเปิดดูหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น แล้วมีข่าวเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงโควิดระบาด จึงขอเราเก็บภาพสถานที่เหล่านั้นไว้ การเล่าเรื่องการท่องเที่ยวของเรา ช่วยให้น้องฝันที่อยากจะไปให้ไกลขึ้นได้หน่อยแล้วสินะ

มกราคม เมื่อปี 2021 เดินทางเข้ามา หลังจากการสอนดาราศาสตร์น้อง ๆ มาซักพัก เราเริ่มจัดการเรื่องยื่นมหาวิทยาลัยเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็อยากเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานทางด้านดาราศาสตร์ โดยเฉพาะการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ด้วยอุปกรณ์ Optical ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)

NARIT เห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคน เราจึงได้รับโอกาสเข้าไปเรียนรู้ จากกล้องโทรทรรศน์เล็ก ๆ ที่เราซื้อให้น้อง เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากศึกษาด้านนี้ให้ลึกขึ้น และได้ไปดูการติดตั้งอุปกรณ์ Spectrograph กับกล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร บนดอยอินทนนท์
 

ชายขอบ

เชียงใหม่ช่วงนั้นมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมาย พรบ. สภาชนเผ่า เพื่อให้ชนเผ่าพื้นเมืองสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภค การศึกษา ฯลฯ ด้วยความที่น้อง ๆ ต่างก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์  ลาหู่ ม้ง ไทยใหญ่ และจากการสัมผัสกับน้อง ๆ ก็ได้เข้าใจถึงความขาดแคลนตรงนี้ ด้วยความผูกพัน และอย่างที่บอกว่าถึงความฝันของน้อง ๆ จะคือการช่วยที่บ้านทำไร่ ทำสวน ซึ่งก็ไม่ผิด แต่น้องต้องมีสิทธิ์เลือก ที่ไม่ใช่เพราะเกิดที่นั่น จึงเลือกได้แค่นั้น และเราคิดว่า หากร่างกฎหมายนี้ผ่าน คงเป็นการช่วยที่ยั่งยืนอีกทาง 

เสาร์-อาทิตย์ ว่างจากการฝึกงาน เราเดินทางจากตัวเมืองไปสมาคมชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อพูดคุยถึงปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ และความสำคัญของสมาคมชนเผ่าพื้นเมือง หลัก ๆ คงเป็นการที่ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เคยถูกรับฟังอย่างจริงจัง รัฐฯ แก้ปัญหาไม่ตรงตามวิถีชีวิต หรือแม้แต่การที่คนเมืองพยายามยัดเยียดความเจริญในนิยามของตนเองให้ ฯลฯ

เดือนกุมภาพันธ์ผ่านไป เราไปช่วยน้อง ๆ ย้ายบ้านกัน เนื่องจากเจ้าของที่ที่เคยบริจาคต้องการที่คืน หลังขนของกันอย่างเหน็ดเหนื่อย เราก็ยังสนุกด้วยกิจกรรมเดิม คืนนั้นบังเอิญเห็นดาวตกกัน แน่นอน กิจกรรมคลาสสิค ปิดตาขอพรจากดาวตก 

“เราขออะไรกันบ้างเนี่ย” เราถามน้อง ๆ “ขอให้ลุงตู่ออกไปครับ” เอ้อ ชื่นใจ
“ขอให้พี่น้ำหวานไม่ไปอเมริกาได้มั้ย”
“นี่ ถึงตัวพี่จะไม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่พี่ได้ให้น้องไว้ คำพูด ความคิด มันจะยังอยู่นะ และนั่นแหละคือตัวตนของพี่ ไม่ใช่ร่างกาย ดวงดาวที่เรามองด้วยกันก็ยังอยู่ เราไม่ได้ไกลกันเลย”
“พี่น้ำหวานอย่าลืมถ่ายดวงจันทร์ที่เมกาฝากนะคะ”
“นี่ตา ตา แล้วก็ยิ้ม แค่รอยยิ้มก็เต็มฟ้าแล้ว” จินตนาการอันบริสุทธิ์ ได้ทำให้เราไม่เคยเบื่อเวลาที่มองดาว มันเหมือนมีหน้ายิ้มให้เราตลอดเลย

หลังจากนั้นไม่กี่วันเราได้รับข้อความจากทางทุนว่าเราจะต้องเดินทางไปอเมริกาในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าแล้ว กะทันหันอยู่นะเนี่ย โถ่ อดพาน้องๆดูดวงจันทร์บังดาวอังคาร กลางเดือนเมษาฯ เลย เราใช้เวลาที่เหลือในเชียงใหม่ เรียนรู้เกี่ยวกับงานทางด้าน Optics และหาลู่ทางศึกษาต่อด้านนี้ ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ พรบ. สภาชนเผ่า เพื่อรวบรวมชื่อให้ได้มากที่สุด และเราต้องไปลาน้อง ๆ แล้ว

3 มีนาคม ครั้งสุดท้ายที่เราไปหาน้องๆ พี่ ๆ Optic Lab ของ NARIT ซึ่งมีชาวฝรั่งเศสที่มาทำ Post Doc ได้เดินทางไปหาน้อง ๆ ด้วยกัน วันนั้น NARIT ใจดีให้ยืมกล้องโทรทรรศน์ด็อบโซเนียน และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์มากมาย หลังจากกินมื้อเย็นด้วยกันเสร็จแล้ว เรากับพี่ ๆ จาก NARIT ได้สอนน้อง ๆ ใช้แผนที่ดาว หลังจากที่เราสอนจากการลากบนฟ้ามานานพอควร

“เดี๋ยวพี่น้ำหวานไม่อยู่แล้ว เราจะได้ดูดาวกันเองได้ทุกคืน” พี่คนหนึ่งพูด แอบใจหายเหมือนกันนะเนี่ย

คืนนั้นเป็นอีกคืนที่ฟ้าใสแบบที่เราไม่คาดคิด เพราะช่วงกลางวันฝุ่นควันหนามาก จนคิดว่าไม่น่าจะเห็นดาว มันเลยย้อนนึกไปถึงคืนแรกที่เราได้ดูดาวกับน้อง ๆ ที่จากเมฆหนาทั้งอาทิตย์ แต่ฟ้าเปิดให้เราได้วาดเขียนกันที่เชียงดาว และคืนนี้เป็นอีกครั้งที่ฟ้าเป็นใจให้ เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่าถึงเวลาต้องลาแล้ว จากการหาดาวเหนือด้วยกลุ่มดาวค้างคาวเมื่อเดือนตุลาคม คืนสุดท้ายนั้น เราใช้ดาวหมีใหญ่ในการหาดาวเหนือ นั่นก็คือเกือบครึ่งปีเลยล่ะที่เราใช้เวลาด้วยกัน 

พี่โบ๊ท ลูกแท้ ๆ อีกคนของเจ้าของบ้านเด็กกำพร้าบอกกับเรา ว่าตั้งแต่ที่เรามาช่วยดูแล น้อง ๆ มีความมั่นใจในตัวเองกันมากขึ้นเยอะ กล้าคิด กล้าถาม ซึ่งเราคิดว่าเกือบ 5 เดือน ที่เราได้ทุ่มเททุกอย่าง ให้กับน้อง ๆ มันประสบผลมาก ๆ ทั้งกับตัวน้อง ๆ และกับตัวเราที่ได้เห็นภาพปัญหาได้มากขึ้น ได้แรงบันดาลใจในการต่อยอดความรู้ทางด้านที่เราสนใจต่อไป

อาจพูดได้ว่า เราทำนั่นนี่เต็มไปหมด ยังไม่ได้โฟกัสกับทางใดทางหนึ่ง จนอาจยังไม่เป็นชิ้นเป็นอันนัก แต่สำหรับเรา เรายังอยากใช้ชีวิตด้วยความกระหายที่จะรู้ว่ามีอะไรให้เราได้รู้อีกบ้าง วันนึงเราคงจะแกร่งพอที่จะรวบรวมสิ่งที่เราสะสมมา แล้วทำบางอย่างให้สุดทาง

น้อง ๆ ได้รู้จักดวงดาวเพิ่มขึ้นเยอะเลยจากแผนที่ดาว จากพี่ ๆ ที่ทำงานเฉพาะทางเกี่ยวกับดาราศาสตร์ และที่พิเศษคือ น้องๆ ได้เจอกับพี่นักวิจัยชาวฝรั่งเศส (ประเทศที่ตั้งของหอไอเฟลที่น้อง ๆ เคยขอเราตัดเก็บไว้) การได้เจอต่างชาติที่มาจากประเทศที่น้อง ๆ อยากไป คงทำให้น้อง ๆ มีความมั่นใจในการที่จะฝันถึงการเดินทางไปต่างประเทศได้มากขึ้น คิด ๆ ดูแล้ว เรานี่ก็สรรหาทุกอย่างมาให้ ตามความสนใจของน้อง ๆ จริง ๆ เลยนะเนี่ย

กิจกรรมดำเนินไปเรื่อย ๆ จนเริ่มดึก ก็เข้าสู่ช่วงอำลาแล้ว น้อง ๆ กล่าวขอบคุณพี่ ๆ ที่มา เหมือนทุก ๆ ครั้ง และเป็นเราที่พูดจบ เราขอบคุณน้อง ๆ สำหรับช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้เล่นเป็นเด็กอีกครั้ง ได้รับความรัก มิตรภาพ ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากตัวน้อง ๆ ได้แรงบันดาลใจมากมาย และข้อความสุดท้ายที่เราบอกน้องคือ

“แม้ว่าสังคมจะบอกว่าความฝันของน้องเป็นไปไม่ได้ ยังไงก็ตามแต่ พี่ขอให้น้องยังยืนหยัดจะที่จะสู้ต่อไป เชื่อมั่นในตัวเองเข้าไว้ ถ้าน้องรู้สึกว่าไม่มีใครไปกับน้อง อย่างน้อยจะมีพี่คนนึงที่ไปด้วย ไปให้ถึงดาวอังคาร แบบที่น้องๆ อยากไป ไปด้วยกันนะ”

คืนสุดท้ายแล้ว ยากหน่อยกว่าเราจะเดินทางกลับจริง ๆ ได้ เป็นการกอดลาที่รู้สึกว่ากอดเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ มันคือความรักที่บริสุทธิ์ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เราเคยได้สัมผัสมา การจากลาครั้งนั้น มันก็แค่การจากลาเพื่อแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี แล้วรอวันกลับมาพบกันใหม่

กางเขนใต้ (Crux)

กลุ่มดาวที่เรายึดถือเป็นกลุ่มดาวประจำตัว คือ Crux โดยปกติทางซีกโลกเหนือจะใช้ดาวเหนือในการหาทิศเหนือ แต่ซีกโลกใต้ ไม่เห็นดาวเหนือ จึงใช้กลุ่มดาว Crux (กางเขนใต้) ในการหาทิศใต้แทน ซึ่งซีกโลกใต้นั้นมีประชากรแค่ประมาณ 10% ของโลก 

Crux อาจดูไม่ได้มีความสำคัญมากนักสำหรับคนหมู่มาก แต่มีความสำคัญมาก ๆ กับคนกลุ่มหนึ่ง สิ่งที่เราทำอาจไม่ได้เปลี่ยนโลก แต่เราเชื่อว่ามุมมองในการมองโลก (และจักรวาล) ของน้อง ๆ ได้เปลี่ยนไปอย่างมากแน่นอน และการได้สัมผัสถึงพลังของตัวเอง การกล้าที่จะตั้งคำถามต่ออะไรก็ตาม จะทำให้น้อง ๆ กล้าที่จะไม่ยอมถูกกดขี่ กดขี่ทางอิสรภาพด้านความคิด พวกเขาฝันที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น และจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดีขึ้น 

จบจากเชียงใหม่ เราต้องเดินทางไปยังอีกฝั่งของโลก เพื่อสั่งสมของในตัวให้มากขึ้น และหวังว่าเราเองจะเป็น Crux ให้กับใครได้อีกหลาย ๆ คน หวังว่าจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ นี้จะช่วยให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นในสังคมได้สักวัน และเมื่อคุณอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว เราอยากบอกว่า คุณเองก็สามารถเป็น Crux ให้กับผู้คนต่อไปได้เช่นกันนะ

เขียนและเรียบเรียงโดย น้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี นักเรียนทุน พสวท. (ฟิสิกส์) ปริญญาตรี-ปริญญาเอก สหรัฐอเมริกา

สามารถรับชมบทสัมภาษณ์ของน้องน้ำหวาน ได้ที่ YouTube : THE STUDY TIMES
.

.


ขอบคุณที่มา: https://spaceth.co/fringe-astronomy/