กนอ. ปลื้ม! ผลงานลงทุนกลุ่มยานยนต์-การขนส่ง พุ่ง 1 แสนล้านบาท
วันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2564 นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยผลประกอบการช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63 - มี.ค.64) มีมูลค่าการลงทุนรวมอยู่ที่ 106,146.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 78,758.09 ล้านบาท ที่ทำได้ 27,388.47 ล้านบาท หรือคิดเป็น 287.56% เป็นผลจากการแจ้งเริ่มประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมในช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ยังคงมีการลงทุนต่อเนื่องและขยายการลงทุนเพิ่ม ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนยังคงมีความต้องการขยายการลงทุนอีกมากโดยเฉพาะในอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และการขนส่ง , เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ , กลุ่มยาง พลาสติกและหนังเทียม , กลุ่มเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ รวมถึงกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังคงมีการลงทุนมากที่สุดในช่วง 2 ไตรมาสของปี 64 เช่นกัน ขณะที่มีการจ้างงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,655 คน ซึ่งลดลงกว่าปีก่อนหน้า 42% เนื่องจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนโดยเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 13.94% ยังคงครองแชมป์การลงทุน รองลงมาคืออุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 11.69% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 7.95% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.2% อุตสาหกรรมปุ๋ย สีและเคมีภัณฑ์ 5.99 % โดยนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ถึง 37.36% รองลงมาคือนักลงทุนจากประเทศจีน 8.16 % อเมริกา 6.79 % สิงคโปร์ 6.78 % และไต้หวัน 4.11 %
“สำหรับการขาย/ให้เช่าที่ดินในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 64 ในภาพรวมประมาณ 473.75 ไร่ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผู้ประกอบการซื้อ/เช่าประมาณ 1,398.84 ไร่ คิดเป็น 66.13% แบ่งเป็นการขาย/เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 394.42 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี 79.33 ไร่ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ในภาพรวมจะชะลอการลงทุนอยู่บ้าง เนื่องมาจากการระงับเดินทางข้ามประเทศชั่วคราว แต่ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถจูงใจการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมได้” นางสาวสมจิณณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในปี 64 กนอ.มีแนวทางยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับนักลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมให้สามารถขับเคลื่อนภาคการผลิต โดยเพิ่มศักยภาพการให้บริการระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการในนิคมอุตสาหกรรม ที่ตั้งเป้าให้ทุกนิคมก้าวสู่นิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงข้อมูล การขับเคลื่อนการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค รวมถึงบริการต่าง ๆ ในนิคมอุตสาหกรรม