‘สงกรานต์นิวนอร์มอล’ บอกลาเมืองแห่งซอมบี้ ต้อนรับประเพณีดั้งเดิมกลับมา

ปีที่แล้ว ไม่มี ‘เทศกาลสงกรานต์’ เพราะโควิด – 19 รุกรานหนักหน่วง รัฐบาลจึงสั่ง Skip สงกรานต์กันไปยาว ๆ สายสาดน้ำ สายปาร์ตี้ ถึงกับเฉา เหมือนชีวิตขาดความเร้าใจไป มาปีนี้หมายมั่นปั้นมือ ขอกลับมา ‘สาดดด!’ กันสักหน่อย ปรากฎว่า เหมือนฉายหนังซ้ำ สถานการณ์กลับมาระบาดหนักอีกระลอก!

เล่นเอาเซ็งเศร้าเหงาเจ็บกันไป จะโทษใครไม่ได้ ต้องโทษเรากันเอง อดถือขันสาดน้ำ ต้องมาตั้งการ์ดกันต่อ แถมเจ้าโควิด – 19 ระลอกนี้ เป็นสายพันธุ์อังกฤษ ติดเร็วทันใจซะด้วย ถถถถถถ! นังโคขวิด เอ้ย! โควิด แกมาปั่นป่วนเป็นปี ๆ ยังไม่ยอมไปไหนเสียที แถมยังมีหน้ามาแยกแยะเป็นสายพันธุ์นู่นนี่เสียอีก โอ้ย...เบื่อๆ ๆ ๆ  (อยากสาดน้ำ)

สรุปง่าย ๆ สงกรานต์ปี 2564 นี้ จะมีหน้าตาคล้าย ๆ เมื่อปี 2563 กล่าวคือ อยู่บ้านกันเฉย ๆ ไงจะยังไงล่ะ! แถมทางรัฐบาลก็มอบวันหยุดยาวววววว มาให้อี๊ก! งานนี้ทำอะไรดี กิจกรรมไม่มี เวลาเหลือ ๆ ถถถถถถ!

ได้เวลาหยุดพร่ำบ่นล่ะ เอาเป็นว่า ในวิกฤติ ย่อมมีโอกาสเสมอ และในการระบาดของโควิด – 19 ก็มีข้อดีอยู่เช่นกัน อย่างที่เราทราบกันดี ช่วงเวลาการระบาดของเจ้าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ ผู้คนบนโลก หยุดการ ‘ผลาญ’ ทรัพยากรลงไปอย่างมากมาย ในมุมกลับกัน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง

ลองจินตนาการดู จากโลกกลมๆ ที่หมุนเร็วจี๋ กลายเป็นโลกหมุนช้าลง แน่นอนว่า พออะไร ๆ มันลดความเร็ว มันก็ทำให้พวกเราเห็นอะไรได้ ‘ชัดเจน’ ขึ้น ว่าไหมล่ะ?

ยกตัวอย่าง สงกรานต์บ้านเรา พอโควิด – 19 มาเมื่อปีก่อน จากประโยคคลาสิก ‘7 วันอันตราย’ ที่มักได้ยินเป็นประจำในช่วงเทศกาล อ้าว! มันลดความอันตรายลงไปอย่างไม่น่าเชื่อ 

เครดิตที่มาภาพ: Tero Radio

รายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2563 ระหว่างวันที่ 10 - 16 เม.ย.2563 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 1,307 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 1,260 ราย และเสียชีวิต 167 ราย โดยเมื่อเทียบกับสงกรานต์ปี 2562 ซึ่งเกิดอุบัติเหตุ 3,338 ครั้ง ลดลงไป 2,031 ครั้ง (ร้อยละ 60.84) บาดเจ็บ 3,442 ราย ลดลง 2,182 คน (ร้อยละ 63.39) และเสียชีวิต 386 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 219 ราย (ร้อยละ 56.74)

หากจะบอกว่า นี่เป็นผลพวงจากโควิด – 19 ระบาด ก็คงไม่ผิดไปนัก ยิ่งหากลงลึกเข้าไปในรายละเอียดของการสูญเสียจากเทศกาลสงกรานต์ สาเหตุหลักที่มีเปอร์เซนต์สูงสุดคือ เมาสุราขาดสติ 

เครดิตที่มาภาพ: Thairath.co.th

สงกรานต์ = เมาสุรา สมการนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรไม่ทราบได้ แต่กลายเป็น ‘ค่านิยม’ ของเทศกาลนี้ไปเสียแล้ว ย้อนกลับไปจุดตั้งต้นของประเพณีนี้กันหน่อย วันสงกรานต์ คือวาระของการเริ่มต้นปีใหม่ สมัยก่อนถูกยกให้เป็นวันปีใหม่ไทย เนื่องจากตามความเชื่อทางโหราศาสตร์ เป็นช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์ จากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ (ซึ่งราศีเมษเป็นราศีประจำเมือง) คนไทยโบราณจึงถือเอาช่วงเวลานี้ เป็นการเริ่มต้นปี 

จากประเพณีดั้งเดิม คือการอวยพรโดยใช้ ‘น้ำ’ รดเพื่อความชุ่มชื่นให้กับชีวิต รวมทั้งรดน้ำเพื่อขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ และรวมไปถึงการสรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล เหล่านี้คือออริจินัลประเพณี แต่ผ่านมาถึงจุดนี้ สงกรานต์คือการย้อมสีผม คือการรวมพลชาวแว๊น คือการปะแป้งสาว ๆ คือการปาร์ตี้หัวราน้ำ เรามาไกลจนมีคนเคยนิยามเทศกาลมหาสงกรานต์ของไทยว่า เป็น ‘เมืองแห่งซอมบี้’ ที่ไม่รู้ว่ามีอะไรต่อมิอะไรมารวมตัวกัน แต่ที่รู้แน่ ๆ เรามาไกลจากวันแรกของประเพณีอย่างมาก 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า ‘ความรื่นเริง’ เป็นเรื่องไม่ดี แต่อะไรที่ ‘เกินพอดี’ มันจะตามมาด้วยปัญหามากมาย...

อย่างที่เล่าไปตอนต้น โควิด – 19 เข้ามาทำให้โลกที่เคยหมุนเร็ว ๆ ช้าลง ฉันใดฉันนั้น โควิด – 19 ก็เข้ามาทำให้ ‘สงกรานต์ซอมบี้’ หยุดลงเช่นกัน และในเมื่อหยุดแล้ว เราลองมาตรึกตรองกันดูหน่อยไหม ว่าอะไรที่เกินพอดีมานั้น มันส่งผลเสียอย่างไรบ้าง ประการสำคัญกว่านั้น เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างกลับมาดำเนินได้ต่อไป เราจะ ‘เลือกสงกรานต์’ แบบไหนในอนาคต

มีคนเรียกวิถีหลังโควิด – 19 ว่า นิวนอร์มอล (new normal) แน่นอนว่า เทศกาลสงกรานต์ไทย ๆ ก็เข้าสู่วิถีใหม่เช่นกัน จากนี้ไป เราต้องรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ให้ยืนห่างกัน 1 เมตร ไม่รวมตัวกันหนาแน่น ไม่อยู่ในที่แออัด และต้องไม่ลืมใส่หน้ากากอนามัย จะว่าไป อาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็น ‘สงกรานต์นิวนอร์มอล’ หรอก เราแค่กลับไปหา ‘ความพอเหมาะพอดี’ เหมือนที่เคยเป็นมามากกว่า

ถึงตรงนี้ ขอย้อนกลับไปที่ความวุ่นวายใจของใครหลายคนที่ว่า ‘สงกรานต์ทำอะไรดี กิจกรรมไม่มี เวลาเหลือ ๆ’ 

ลองเปลี่ยนมุมที่มองเสียใหม่ ที่ผ่านมา เราอาจทำอะไรต่อมิอะไรเยอะเกินไปแล้วก็ได้ ดังนั้น แค่ทำตัวเองให้ปลอดภัย ก็ดีถมไปแล้วสำหรับสงกรานต์ประจำปี 2564 นี้...