"ศรีสุวรรณ" ร้อง กกต.สอบเลือกตั้งเทศบาลลำสามแก้ว จ.ปทุมธานี กรณีทำให้เข้าใจว่าพรรคการเมืองส่งสมัคร พร้อมให้สอบปมแจกขันน้ำ "บิ๊กป้อม"

เมื่อวันที่ 7 เมษายน  2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้นำชาวเทศบาลเมืองลำสามแก้ว จ.ปทุมธานี เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต. หลังจากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและสมาชิกเทศบาล ในวันที่ 28 มีนาคม 64 ที่ผ่านมา อันถือได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การกระทำที่อาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 65(5) คือ การที่มีผู้สมัครนายกเทศมนตรีและพวก ได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัคร โดยการชักชวนให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ไปลงคะแนนเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วยวิธีการหลอกลวง หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครโดยชัดแจ้ง โดยพบว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตดังกล่าวบางรายและหรือบางกลุ่มอาจดำเนินการที่เข้าข่ายการกระทำที่ให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าพรรคการเมืองเป็นผู้ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรค ซึ่งกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นรับรู้เรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นกลับมิได้ใช้อำนาจในการยับยั้งหรือตัดสิทธิ์ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่อย่างใด ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีโทษตาม มาตรา126 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวถึงกรณีล่าสุดที่พรรคพลังประชารัฐ โดยพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้ทำขันน้ำจำนวนกว่า 200,000ใบให้ ส.ส.ของพรรคนำไปแจกประชาชนในพื้นที่หาเสียงในช่วงสงกรานต์ ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันสมควรฯพ.ศ. 2561 และฉบับที่ 2 (พ.ศ.2564) เนื่องจากมีมูลค่าเกินกว่า 3 พันบาท ซึ่งขันน้ำพลาสติกดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบราคาที่มีจำหน่ายกันในท้องตลอดทั่วไปราคจะตกอยู่ประมาณใบละ10-29 บาท ดังนั้นการจัดทำขันน้ำของพล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะอยู่ประมาณ 2-9 ล้าน บาท 

ซึ่งระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า “การให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้เกินกว่าจำนวนที่กำหนด ให้นำราคาหรือมูลค่าของเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ไปรวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป” ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมฯ จึงนำความมาร้องเรียนต่อ กกต. เพื่อดำเนินการไต่สวนสืบสวนให้เป็นไปตามครรลองของกฎหมายต่อไป