“สุพัฒนพงษ์” โต้! รัฐบาลมีเสถียรภาพไม่มีถังแตก ยันไม่ขึ้นภาษีจาก 7% เป็น 10 % เตรียมดันอุตสาหกรรมใหม่ 4 ประเภท เพิ่มรายได้เข้าประเทศ ตั้งเป้าปี 2573 ไทยเลิกใช้รถน้ำมันใช้รถไฟฟ้าแทน

31 มีนาคม 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึง กระแสข่าวว่ารัฐบาลกำลังถังแตกจนต้องมีการขึ้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7 % เป็น 10 % ยืนยันว่า ขณะนี้ไม่มีสัญญาณใดๆว่ารัฐบาลถังแตก เพียงแต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้มีการรายงานเรื่องความเสี่ยงทางการซึ่งเป็นรายงานประจำปี ที่เป็นครบรอบวาระรายงานเพื่อทราบ ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรที่น่าเป็นห่วง ส่วนเรื่องข้อสังเกตุเรื่องความเสี่ยงถือเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับรายงานประจำปีของบริษัทมหาชนทั่วไป ที่ปรากฎถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ในเรื่องการใช้เงินในช่วงวิกฤตโควิด-19 และพูดถึงรายได้ในการจัดเก็บภาษีในช่วงที่ผ่านมา 

ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงว่ามีการจัดเก็บรายได้ลดน้อยลง เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2564 จะมีการฟื้นฟู โดยในรายงานมีการประเมินความเสี่ยงที่คิดเป็นตัวเลข 2.47 ถือเป็นระดับความเสี่ยงไม่สูงมาก และในเชื่อว่าในอีก 2 ปี สถานการณ์ความเสี่ยงในเรื่องวิกฤตการเงินการคลังของประเทศไทยจะไม่มีเกิดขึ้น ตนไม่เข้าใจว่ามีความกังวลในเรื่องนี้เกิดขึ้น

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงการปรับขึ้นการจัดเก็บภาษีเป็น 10 % ว่า ยืนยันว่าในระยะเวลา 2 ปี เรื่องขึ้นภาษีในเร็ว ๆ นี้ยังไม่มี ไม่ได้มีการพูด ไม่มีข้อเสนอแนะใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่สิ่งที่ ที่ประชุม ครม. เป็นห่วงคือจำนวนประชาชนที่มีอยู่ในระบบภาษียังมีจำนวนน้อย อยากให้กระทวงการคลังไปศึกษาโครงสร้างระบบภาษีให้ประชาชนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้นและรู้ว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ ช่วยเหลือประเทศ และเงินเหล่านั้นกลับมาทำประโยชน์อย่างไร ซึ่งตนก็ยังแปลกใจที่มีข่าวเรื่องขึ้นภาษีและรัฐบาลถังแตกออกมาซึ่งไม่มีสัญญาณใด ๆ ทั้งสิ้น 

ขณะเดียวกัน นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวถึง ในการหาเงินเข้าประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัว อุตสากรรมใหม่ 4 ประเภทที่จะเป็นโอกาสเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในประเทศ และจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการรับนักท่องเที่ยว ได้แก่

1.) อุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น โดยจะเป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าแทนรถน้ำมัน โดยตั้งเป้าในปี 2573 - 2578 ตั้งเป้าประเทศจะเลิกใช้รถประเภทน้ำมันโดยจะใช้รถไฟฟ้าแทน

2.) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่จะปรับเปลี่ยนเป็นอิเล็กทรอนิกส์อัฉริยะ

3.) เมดิคอลฮับ ที่ไทยเก่งในเรื่องการรักษาพยาบาลแต่ยังไม่สามารถผลิตยาได้ จึงต้องทำให้เป็นศูนย์กลาง

4.) อุตสาหกรรมดิจิตอล ที่ไทยเพิ่งเริ่มโดยจะต้องเชิญชวนนักลงทุนเข้ามาลงทุน