ไทยพบผู้ติดเชื้อ 42 ราย กังวลปรากฎการณ์ติดเชื้อในครอบครัว ศบค.กระจายวัคซีน อสม. บุคลากรด่านหน้าแนวชายแดน จับตา ศบค. เล็ก ชง บิ๊กตู่ ขอไฟเขียว ลดวันกักตัว คนเข้าประเทศไทย แบ่งสามกลุ่ม 7วัน - 10วัน - 14วัน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 42 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 24 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 19 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 5 ราย นอกจากนี้ เป็นผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 18 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากเซาท์ซูดาน 2 ราย ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาหรือไม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 28,868 ราย หายป่วยสะสม 27,426 ราย อยู่ระหว่างรักษา 1,343 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 94 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 128,796,905 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 2,815,896 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการหารือกันถึงการติดเชื้อที่ จ.สมุทรปราการ โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นหญิงอายุ 28 ปี ตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 22 มี.ค. จากสอบสวนโรคพบว่า มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 5 ราย และ 1 ใน 5 ราย ติดเชื้อโดยเป็นหญิงอายุ 25 ปี  ซึ่งผู้ติดเชื้อรายที่สองได้ไปสัมผัสคนรอบตัวและคนในครอบครัว ทำให้มีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง โดยมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 6 ราย นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อรายแรกยังแพร่เชื้อไปติดสามีและเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเพื่อนร่วมงานยังได้แพร่เชื้อไปยังน้องสาวและลูกชายอายุ 1 ปี 7 เดือน รวมถึงพี่เลี้ยงเด็ก ปรากฎการณ์การนำเชื้อไปแพร่คนใกล้ตัวและครอบครัวลักษณะนี้เริ่มเห็นต่อเนื่อง เช่นเดียวกับที่ศูนย์กักบางเขนที่ก่อนหน้านี้พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน 

เบื้องต้นมีตำรวจติดเชื้อ 3 นาย และบุคลากรของศูนย์ ที่มีทั้งแผนกครัวที่ต้องปรุงอาหาร บริการอาหารให้กับผู้ถูกกัก ผู้ทำความสะอาด แม่บ้าน คนครัว ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วง จึงทบทวนแผนกระจายวัคซีน โดยจะกระจายวัคซีนไปให้บุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ด้วย รวมถึงสม. บุคลากรด่านหน้าอย่างในพื้นที่ที่มีผู้อพยพข้ามแดนเข้าในขณะนี้ เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่จำเป็นและควบคุมการระบาดในจังหวัด จากเดิมมีการกระจายครอบคลุม 22 จังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยง จังหวัดเศรษฐกิจ จังหวัดท่องเที่ยว จังหวัดแนวชายแดน จึงจะกระจายครอบคลุมไป 52 จังหวัด มีทั้งจังหวัดขนาดเล็ก จังหวัดขนาดใหญ่ จังหวัดขนาดใหญ่พิเศษด้วย นอกจากนี้ วัคซีนล็อตใหญ่จะกระจายให้ครบ 77 จังหวัดในเดือน มิถุนายน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมศบค. ชุดเล็ก เพื่อหาข้อสรุปก่อนขออนุมัติจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผอ.ศบค. และเมื่อได้รับความเห็นชอบจะมีการประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายน ในมาตรการผ่อนคลายการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยมีรายละเอียด ดังนี้ ปัจจุบันผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยต้องกักตัว 14 วัน จากนี้จะมีการกับตัวแยกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน 

ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่งจะมีการกักตัวเพียง 7 วัน หากเป็นชาวต่างชาติจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 14 วันก่อนการเดินทางแล้ว กลุ่มที่สองรับการกักตัว 10 วัน ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนมาแล้วแต่ยังไม่ถึง 14 วันก่อนการเดินทาง หรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบ 2 โดส กลุ่มที่สาม เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีรายงานสายพันธุ์กลายพันธุ์ ซึ่งเป็นรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มนี้จะต้องมีการกักตัวอย่างน้อย 14 วัน เช่น สายพันธุ์ แอฟริกัน บราซิล อังกฤษ หรือในอนาคตอาจมีสายพันธุ์ที่เพิ่มเติมซึ่งต้องติดตามการเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งสามกลุ่มนี้จะมีการนับเวลาของวันเริ่มที่เที่ยงคืนถึง 6 โมงเย็น นั่นหมายความว่าหากเดินทางมาถึงประเทศไทยตอน 6 โมงเย็นก็นับวันเดินทางที่เดินทางถึงเป็นวันที่หนึ่งในการเข้าสู่สถานกักกัน แต่ถ้าเดินทางถึงประเทศไทย 1 ทุ่ม ก็นับวันที่หนึ่งของการกักตัวเป็นวันรุ่งขึ้นหลังจากที่มาถึงประเทศไทย 

นอกจากนี้ มีการทบทวนเรื่องการตรวจค้นหาเชื้อ ต่างชาติก่อนที่จะเดินทางเขาจะต้องมีการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 และยืนยันไม่มีรายงานการติดเชื้อ คือเป็นลบ จึงสามารถเดินทางเข้าประเทศ กลุ่มนี้เราจะตรวจผลโควิด-19 ของเขาครั้งที่หนึ่งในวันที่ 5 - 6 แต่สำหรับกรณีคนไทยที่เดินทางกลับบ้าน ซึ่งคนไทยไม่ได้มีการตรวจโควิด-19 ก่อนเดินทาง ดังนั้น จะมีการตรวจหาโควิดแบบสวอป ตั้งแต่วันแรกที่เดินทางถึงประเทศไทย และมีการตรวจอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 5 - 6 นี่คือกลุ่มกักตัว 7 วัน ส่วนกลุ่มที่มีการกักตัว 10 วันจะมีการตรวจโควิดสองครั้ง ครั้งแรกคือวันที่ 3 - 5 ครั้งที่สองคือวันที่ 9 - 10 กลุ่มสุดท้ายที่มีการกักตัว 14 วัน จะมีการตรวจหาโควิดโดยวิธีการสวอปสามครั้ง ครั้งที่หนึ่งคือวันที่เดินทางถึงประเทศไทยในวันแรก ครั้งที่สองในวันที่ 6 - 7 ครั้งที่สามคือวันที่ 12 - 13 และทุกกลุ่มยังมีกำหนดด้วยว่าจะต้องอนุญาตให้มีระบบติดตามตัวจนครบ 14 วันถึงแม้ว่าจะออกจากสถานกักกันไปแล้ว นี่คือ ข้อสรุปในเบื้องต้นที่จะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีในวันเดียวกันนี้ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนติดตามผลการอนุมัติในวันเดียวกันนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวถามถึงรายชื่อจังหวัดที่จะได้รับวัคซีน ทั่วประเทศมีการบริหารจัดการอย่างไร พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขอเรียนทุกๆคนว่าทุกพื้นที่ทุกจังหวัด ไม่ได้ตกสำรวจศบค. ให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ แต่ด้วยในช่วงแรกปริมาณวัคซีนมีจำกัด ดังนั้น จึงมุ่งเน้นไปยังพื้นที่เสี่ยง ศบค. รับฟังข้อมูลจากทุกพื้นที่ พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ก็จำเป็นต้องระดมวัคซีนเข้าไปช่วยดูแลพื้นที่ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายไปพื้นที่อื่น ขอให้ติดตามรายงานการกระจายวัคซีนโดยกระทรวงสาธารณสุขจะชี้แจงในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ รวมไปถึงการติดตามข้อมูลจากทางเพจสาธารณสุขจังหวัด ไม่ว่าข้อมูลพื้นที่จังหวัดใดบ้าง พื้นที่ไหนบ้าง ต่างก็มีความจำเป็น เพราะนอกจากจะเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้ว ศบค. ยังพิจารณาพื้นที่จังหวัดทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าแนวชายแดน พื้นที่ไหนบุคคลใดจะได้รับวัคซีนก่อนหลังขอให้ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด