เพื่อไทยปลุก ปชช.ช่วยกันเอา ส.ว.-พรรคร่วม รบ.ออกไป เชื่อทำ “ประยุทธ์” ไร้เสาค้ำยัน อยู่ต่อไม่ได้ 

วันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่ Think Lab พรรคเพื่อไทย (พท.) มีการจัดเสวนา "วิกฤตเศรษฐกิจ หลังรัฐธรรมนูญถูกคว่ำ ประเทศไทยจะไปต่ออย่างไร ?” โดยมีนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรค พท.และอดีต รมว.พลังงาน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ และอดีต ส.ส.ร.ปี 40 และนายวิโรจน์ อาลี นักวิชาการอิสระ ร่วมเสวนา 

นายพิชัย กล่าวว่า ประชาชนจำนวนมากรู้สึกผิดหวัง หมดหวังเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในสภา เศรษฐกิจไทยจะย่ำแย่และทรุดหนักลงไปอีกเรื่อยๆ เมื่อมีการคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย 3 ปัญหา คือ

1.) ประเทศไทยติดกับดักกับผู้นำที่ขาดความรู้ความสามารถ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วตลอด 6 ปีกว่า และยังคงแสดงความล้มเหลวในการบริหารอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ล่าสุดยังมีงบประมาณที่มีการกู้เงินมากกว่าการลงทุน อีกทั้งยังจัดงบประมาณปี 65 น้อยลงกว่างบประมาณปี 64 ถึง 5.66% ทั้งที่ประเทศต้องการการลงทุนเพื่อการพัฒนา เพราะกลัวถูกด่าว่ากู้มากไป นอกจากนี้เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ต่ำมากไม่มีทางถึง 4% ตามที่ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลโม้ไว้ ล่าสุดแบงค์ชาติคาดว่าจะเหลือประมาณ 3% หรือต่ำกว่าซึ่งเชื่อว่าจะต่ำกว่ามาก สภาวะเงินทุนไหลออกจะมีมากขึ้น ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอีก 

2.) การหาคนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาช่วยงานจะทำได้ยากหรือทำไม่ได้เลย บุคลากรที่บริหารเศรษฐกิจปัจจุบัน ขาดความรู้ความสามารถ ขาดความเข้าใจทางเศรษฐกิจ ได้แต่ขายฝันไม่ต่างจากทีมของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ 

3.) ประเทศไทยหมดความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ มีการกระทำที่สวนกับประชาคมโลก ทั้งการนัดพบกับตัวแทนของเผด็จการทหารพม่าที่เป็นที่น่ารังเกียจของชาวโลก ที่เข่นฆ่าประชาชนอย่างอุกอาจโดยไม่สนใจการต่อต้านของนานาชาติ ปล่อยให้มีการจัดส่งอาหารให้กับเผด็จการทหารพม่า หากมีการแซงก์ชั่นจากนานาชาติเพื่อทำโทษเผด็จการทหารพม่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อาจจะโดนไปด้วย 

นอกจากนี้การปราบผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและมีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ กระทั่งสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ต้องออกแถลงการณ์ประท้วงการกระทำดังกล่าว ซึ่งเป็นข่าวไปทั่วโลกแล้ว ทำให้ภาพลักษณ์ไทยไม่ต่างจากพม่าเลย ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงการค้าการลงทุนในอนาคต ซึ่งไทยมีปัญหาอยู่แล้วจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น จึงอยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกดดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด นำประเทศไทยให้กลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลกได้อีกครั้ง เศรษฐกิจไทยจะฟื้นกลับมาได้อย่างแท้จริง

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีผลในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ถ้าการเมืองมีปัญหา รัฐบาลไม่เข้มแข็ง ถามว่าเศรษฐกิจจะดีได้อย่างไร ดังนั้นรัฐธรรมนูญทำให้เกิดผลดีหรือผลกระทบได้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าสืบทอดอำนาจ เสาที่พยุงอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์คือ ส.ว. 250 คนที่ คสช.เลือกมา และองค์กรอิสระที่ทำให้รัฐบาลอยู่หรือไปได้ ซึ่งที่มาก็มาจาก ส.ว.ที่ตัวเองคัดสรรมาเอง ส่วนพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) หากไม่ร่วม พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ไม่ได้ เพราะในสภาฯ เวลาอภิปราย ต้องมีเสียงครึ่งหนึ่งเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ถูกโหวตไม่ไว้วางใจ หรือเวลารัฐบาลเสนอกฎหมายการเงิน 

หากพรรคร่วมไม่ช่วยยกมือ กฎหมายก็ผ่านไม่ได้ หากคนรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อแล้วประเทศไปไม่ได้ ต้องทำให้เสาค้ำยันหลุดออกไป ทั้ง ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาล ตนมีวิธีง่าย ๆ ให้เสาค้ำยันหลุดออกไป เช่น เวลาที่กฎหมายหรือพระราชบัญญัติผ่านรัฐสภา ให้ ส.ส.เข้าชื่อกันเสนอว่ากฎหมายหรือ พรบ.นั้น ๆ ตราขึ้นมิชอบ หรือมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เพราะ ส.ว.194 คนมาจากกระบวนการสรรหามิชอบ ตนอยากรู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรถึงสถานะ ส.ว. 

นายพงศ์เทพ กล่าวต่อว่า ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นเสาค้ำยัน ประชาชนต้องช่วยกันบอกหัวหน้า กรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ทั้งของพรรค ปชป.และ ภท.ว่าอย่าค้ำยัน พลงอ.ประยุทธ์ เพราะประชาชนทนไม่ไหวแล้ว หากช่วยกันพูดเยอะๆ ทั้งสองพรรคก็คงทนค้ำยันไม่ไหว ก็อาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ส่วนรัฐธรรมนูญที่เสนอให้แก้ไขนั้น การยกร่างแก้ไขทั้งฉบับทำให้องค์กรอิสระหวั่นไหว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ตงิด ๆ เพราะกลัวว่าอาจไม่ได้อยู่ครบวาระ ส่วนโอกาสจะผลักดันให้มี ส.ส.ร.เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญก็ยากเย็นแสนเข็ญ 

ตอนนี้จึงยังไม่เห็นอนาคต ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งอยู่ ประเทศยิ่งแย่ ประชาชนยิ่งลำบาก ตนไม่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีความสามารถทำอะไรดี ๆ หรือตั้งใจทำเพื่อส่วนรวมได้ ทำแต่เพื่ออยู่ในอำนาจต่อ หากประชาชนคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไปแล้วพวกท่านลำบาก ก็ต้องแสดงออกเพื่อให้เสาหยุดค้ำยัน หากมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนต้องบอกให้ชัดว่าพรรคไหนที่ คสช. ตั้งมาอย่าไปเลือก พรรคไหนไปร่วมค้ำยัน คสช.ก็ไม่เลือก ส่วนพรรคไหนที่ตั้งมาเพื่อสนับสนุนการสืบทอดอำนาจก็ไม่เลือก ต่อให้มี 250 ส.ว.อยู่ พล.อ.ประยุทธ์ก็กลับมาไม่ได้

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนมีโอกาสได้พูดคุยกับชาวต่างชาติในงานสถานทูตต่าง ๆ ได้สอบถามเขาว่ามองเราอย่างไร ญี่ปุ่นบอกว่าวันนี้เขามองการลงทุนกับเวียดนาม ทั้งที่บริษัทต่าง ๆ ส่วนใหญ่ในประเทศเราทำกับญี่ปุ่น ทูตเกาหลีก็พูดเช่นเดียวกันว่ามองการลงทุนในเวียดนามเป็นหลัก วันนี้เวียดนามได้การลงทุนจากเกาหลีใต้มากกว่าไทยถึง 3 เท่า หลังการรัฐประหาร รัฐบาลไม่ได้พยายามหาตลาดใหม่เพื่อให้สินค้าไทยไปสู่ตลาดโลก ไม่มีการพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ได้ส่งเสริมธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการการใช้โซเชียลมีเดีย 

กฎหมายต่าง ๆ ที่สร้างความกังวลใจต่อผู้ลงทุน หรือผู้ผลิตแอพพลิเคชั่นว่าจะถูกล้วง การไม่ปรับปรุงหรือพัฒนานี้ตนคิดว่าจะทำให้เราตายจากข้างใน นอกจากนี้รัฐเราไม่มีทักษะ ยุทธศาสตร์ชาติที่มีไม่ได้ช่วยบอกว่าเราจะไปข้างหน้าได้อย่างไร เราต้องกลับมานั่งดูว่าประเทศเราต้องการอะไร แล้วพบว่ากุญแจสำคัญคือรัฐธรรมนูญ เพราะนโยบายต่าง ๆ ที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องมาจากกลุ่มคนที่มีความเข้าใจใกล้ชิดกับประชาชน แล้วรับเอาความต้องการของประชาชนไปขับเคลื่อน แต่วันนี้ประเทศเรากลับขับเคลื่อนโดยระบบรัฐราชการ ความต้องการของประชาชนอยู่ตรงไหนไม่มี 

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า เราต้องกลับมาดูว่ารัฐยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากกว่าความมั่งคั่งอยู่หรือไม่ วันนี้ทั่วโลกเน้นความมั่งคั่งกันหมดแล้ว ต้องถามคนไทยว่าคุณต้องการโตด้วยยุทธศาสตร์อะไร ต้องการพัฒนาไหม ตัวที่จะปลดล็อกทุกอย่างได้คือ รัฐธรรมนูญ เรื่องความมั่นคงควรเป็นลำดับท้ายๆ ถ้าแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วจะแย่ไปอีก การจะค้ำยัน พล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่ในอำนาจต่อไปจะทำให้เขาไม่สนใจความต้องการของประชาชน 

พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจเลยว่าประชาชนต้องการอะไร จะแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างไร การเปลี่ยนแปลงตอนนี้จะรวดเร็วมหาศาลมาก คนยุคใหม่มีองค์ความรู้เยอะมาก อย่าบล็อกเขาไว้ แต่ต้องปล่อยให้เขาได้คิด ได้เติบโต ประเทศจึงจะไปได้ แต่ถ้าคิดเพียงจะค้ำยันอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประเทศจะไปต่อไม่ได้ สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคืออยู่นิ่ง ๆ เพราะวันนี้ภาคธุรกิจเขาพร้อมแล้ว แต่เขาติดขัดที่คุณ