บิ๊กป้อมปลื้ม! มาตรการแก้ PM2.5 ฝุ่นลดจากปี 63  เห็นชอบ :โครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี  :โครงการทางหลวงแนวใหม่ จ.ปทุมธานี  มุ่งขยายโครงข่าย  ส่งเสริมการพัฒนาศก. ท้องถิ่น/ประเทศ 

เมื่อ 26 มีนาคม 2564   พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า วันนี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม. ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(กก.วล.) ครั้งที่ 2/2564  โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ,คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รมช.ศธ. ,และ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.กค. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

ที่ประชุม ได้รับทราบผลการดำเนินงาน ตามแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการปีงป.62-63  ซึ่งในปี 63 มีปริมาณซากผลิตภัณฑ์ถึง 428,113 ตัน ทั้งนี้ได้มีหลายหน่วยงานดำเนินการแก้ปัญหาซากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว จำนวน 2 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 11 โครงการ  พร้อมรับทราบความก้าวหน้าการระงับใช้รถ ที่มีมลพิษเกินมาตรฐานตาม พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522  ซึ่ง สตช. อยู่ระหว่างดำเนินการออกกฎกระทรวง ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรับทราบการจัดสรรเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สนับสนุนโครงการจำนวน 69 โครงการเพื่อการบริหารจัดการ ไฟป่าและหมอกควัน ซึ่งทำให้จุดความร้อนสูง (HOT SPOT) ในปี64 ลดลงจากปี63 อย่างน่าพอใจ

ที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ รายงาน EIA โครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ของการทางพิเศษฯ เพื่อเพิ่มโครงข่ายถนนและช่วยส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ ตามเส้นทางพาดผ่าน ด้านตะวันออกของถนนพหลโยธิน และเห็นชอบโครงการทางหลวงแนวใหม่หมายเลข 9 ด้านตะวันตก-จุดตัดทางหลวงหมายเลข 347-จุดตัดทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ด้านตะวันออก-ทางหลวงหมายเลข 352 ของกรมทางหลวง  เพื่อลดปัญหาการจราจรคับคั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล  รวมถึง ยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่นละออง  เนื่องจากยังตรวจพบจุดความร้อน เป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคเหนือ และ ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้ง จากที่ดินจัดสรรให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล และให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดมาตรฐานให้ครอบคลุมที่ดินจัดสรร ทุกประเภท ตามกฎหมายว่าด้วย การจัดสรรที่ดิน

พล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้ ทส.และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการตามโครงการ/แผนงาน ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบรายงาน EIA โดยเร็ว ซึ่งต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับสูงสุด  สำหรับการแก้ปัญหาฝุ่นละออง ขอให้ขับเคลื่อน และยกระดับการดำเนินงาน อย่างต่อเนื่อง ต่อไป  ควบคู่กับการ รณรงค์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชน