"โรม" อัด ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จงใจปิดกั้นสิทธิเสรีภาพปชช. ชี้ หากบังคับใช้จะเป็นภัยใหญ่หลวง

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ว่า ดูเผิน ๆ เหมือนจะเป็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือฉบับ พ.ศ. 2540 แต่เมื่อได้อ่านในสาระสำคัญ 16 ข้อ ที่เผยแพร่ออกมา ก็น่ากังวลว่าหากมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ขึ้นมาจริง ๆ ในสถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน 

ตัวอย่างสาระสำคัญที่น่ากังวล เช่น ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฉบับ พ.ศ. 2540 กำหนดว่าข้อมูลข่าวสารของราชการที่ "อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์" จะเปิดเผยมิได้ แต่ในร่างฉบับใหม่นี้ไปขยายอีกว่าแม้กระทั่งข้อมูลที่ “หากเปิดเผยแล้วอาจมีการนำไปใช้ในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์" ก็เปิดเผยไม่ได้ด้วย กล่าวคือจากแค่ตีความในตัวเนื้อหาของข้อมูลเอง กลายเป็นต้องตีความเจตนาของผู้ได้รับข้อมูลด้วยว่าจะเอาไปใช้อย่างไร 

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สอง ข้อมูลที่เมื่อเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ฯลฯ เดิมกำหนดให้ "จะเปิดเผยหรือไม่ก็ได้" โดยชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์สาธารณะ แต่ในร่างฉบับใหม่เปลี่ยนเป็นว่า ข้อมูลความมั่นคงของรัฐด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ฯลฯ จะเปิดเผยมิได้ กล่าวคือจากเดิมต้อง "เปิดเผยแล้วเกิดความเสียหาย" จึงให้พิจารณาชั่งน้ำหนักก่อนว่าจะเปิดเผยหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายอาจเปิดเผยก็ได้ เปลี่ยนเป็นแค่เป็นเรื่องความมั่นคงทางทหาร ต่อให้เปิดเผยแล้วไม่เสียหายก็ห้ามเปิดเผย

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่สาม ในการใช้ดุลยพินิจของหน่วยงานรัฐ เพิ่มเติมเข้ามาว่าหากมีผลเป็นการสร้างภาระจนเกินสมควรแก่หน่วยงานรัฐ หรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หน่วยงานรัฐจะไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้ก็ได้ จากเดิมต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการในการพิจารณาตามความเหมาะสม กลายเป็นโอนอำนาจให้หน่วยงานต้นเรื่องตัดสินได้เอง 

ประเด็นที่สี่ ในการพิจารณาคดีในศาลเกี่ยวกับข้อมูลที่มีห้ามเปิดเผย เดิมกำหนดแค่ว่าจะต้องดำเนินกระบวนการพิจารณาโดยมิให้ข้อมูลนั้นเปิดเผยแก่บุคคลอื่นที่ไม่จำเป็นแก่การพิจารณา แต่ในร่างฉบับใหม่เปลี่ยนมาเป็นบังคับให้ต้องพิจารณาเป็นการลับเท่านั้น กลายเป็นว่านอกจากเรื่องการป้องกันข้อมูลถูกเปิดเผยแล้ว กระบวนการพิจารณาส่วนอื่น ๆ ยังถูกปิดกั้นไม่ให้สาธารณะได้รับรู้ด้วย

“ผมเกรงว่าหากปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้บังคับใช้ได้จริง ๆ ข้อมูลข่าวสารพื้นฐานที่ประชาชนควรรู้ เช่น เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ที่ใช้เงินภาษีประชาชน ก็จะถูกปิดกั้นไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ถึงการใช้จ่ายซื้ออาวุธของกองทัพ ที่อ้างตลอดว่าเป็นไปเพื่อความมั่นคงด้านการทหาร แต่เมื่อได้เห็นรายการที่สั่งซื้อ เห็นตัวเลขวงเงิน ก็บ่งชี้ว่านี่คือการใช้จ่ายที่ไม่คุ้มค่า เกินความจำเป็น หรืออาจเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชันด้วยซ้ำ ลองคิดดูว่าหาก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่ประกาศใช้ เรื่องเหล่านี้จะยังถูกเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้หรือไม่?" นายรังสิมันต์ กล่าว

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ พ.ศ. 2540 ได้เขียนเหตุผลของการมี พ.ร.บ. ดังกล่าวไว้ว่า "ในระบอบประชาธิปไตย การให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวางในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง อันเป็นการส่งเสริมให้มีความเป็นรัฐบาลโดยประชาชนมากยิ่งขึ้น สมควรกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ" 

แต่ใน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับใหม่นี้ยิ่งทำให้เลวร้ายลงไปอีก จากกฎหมายที่เป็นหลักประกันสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กำลังถูกบิดเบือนให้กลายเป็นกฎหมายแห่งการปิดกั้นข้อมูลไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ นอกจากนั้น รัฐบาลยังได้แจ้งอีกว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็น "กฎหมายปฏิรูป" หมายความว่าตามรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล มาตรา 270  ส.ว. จะมีอำนาจเข้ามาร่วมลงมติร่วมกับ ส.ส. ได้ตั้งแต่แรก คงตั้งใจจะเอาให้ผ่านสภาให้ได้จริง ๆ ฉะนั้น ถ้ากฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ขึ้นมาจะเป็นภัยกับประชาชนอย่างใหญ่หลวงแน่นอน ปล่อยไว้ไม่ได้เด็ดขาด