“ศรีสุวรรณ” ร้อง กกต. วินิจฉัย อสม. ลงสมัครเลือกตั้ง พร้อมขอตรวจสอบ ปมผู้สมัครนายกเทศมนตรีอ.พยุหะคีรี นำรูปคนมีชื่อเสียงขึ้นคู่หาเสียง

เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นต่อ กกต.เพื่อให้วินิจฉัยกรณีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) สามารถสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นได้หรือไม่ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ด้วย อสม. หลายคนได้เข้ามาสมัครสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ซึ่ง อสม. ตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขจะได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท และได้รับสิทธิพิเศษอีกมากมายรวมทั้งสิทธิในการเสนอเพื่อรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย ไม่ต่างอะไรกับข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ 

แต่ในพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ได้กำหนดว่า ข้าราชการ พนักงานของรัฐ จะมาสมัครเป็นสมาชิกหรือผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นไม่ได้ แต่ที่ปรากฏทั่วประเทศตอนนี้คือ อสม. ไปสมัครเป็นสมาชิกและผู้บริหารท้องถิ่นกันเยอะ ซึ่งเป็นก็จะเกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันระหว่างผู้สมัครทั่วไปที่ไม่ได้เป็น อสม. เนื่องจาก อสม. ใช้เงินของรัฐมาดำเนินการสร้างปฏิสัมพันธ์ช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด เมื่อมาสมัครเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นก็จะได้เปรียบ ดังนั้น กกต. ผู้ดูแลในเรื่องนี้ควรมีคำวินิจฉัยที่ออกมาให้ชัดเจนว่า อสม. ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ 

นอกจากนี้ยังขอให้ กกต. ตรวจสอบกรณีผู้สมัครนายกเทศมนตรีนำรูปของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครมาขึ้นคู่กับป้ายหาเสียงของตนว่าเข้าข่ายผิด พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 65(1) (5) หรือไม่ โดยพบกรณีดังกล่าวในพื้นที่ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ที่นายอนุรักษ์ พงษ์สาลี ผู้สมัครนายกเทศมนตรี เบอร์ 2 ได้นำรูปของทีมงาน 2 ราย คือนางศศิธร ศรีเพ็ง และนายนคร  พิริยะโภคานนท์ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้สมัคร แต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น และเป็นบุคคลที่นายอนุรักษ์ นำเสนอว่าหากตนได้รับเลือกตั้งก็จะแต่งตั้งทั้งสองคนเป็นรองนายกเทศมนตรี จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายอนุรักษ์ เป็นการหวังจะได้คะแนนจากฐานเสียงของบุคคลทั้งสองมาสนับสนุนให้ตนเองได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี ซึ่งเข้าข่ายเป็นการจัดเตรียมเพื่อจะให้ผลประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้กับตนเองตามมาตรา 65(1) และ ( 5) 

จึงอยากให้กกต.วินิจฉัยทั้งสองประเด็นนี้ให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งสมาชิกและนายกเทศมนตรีเพราะหากเป็นความผิดก็จะได้ตัดสิทธิผู้สมัครก่อนการลงคะแนน ก็จะได้ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในภายหลัง รวมทั้งจะได้เป็นบรรทัดฐานในการลงสมัครและการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยาต่อไป