เกษตรกระบี่ พาไปชมการผลิตกาแฟขี้ชะมดและการจัดการสวนกาแฟอย่างมืออาชีพ ในงาน Field Day 2564 ที่อำเภอลำทับ

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 เวลา 10.00 น. นายธนากร ชูจิตต์ นายอำเภอลำทับ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2564 มีนายอนุชา ยาอีด เกษตรจังหวัดกระบี่ พบปะพี่น้องเกษตรกรที่มาร่วมงาน และนางสาวจันทร์ฉาย เพ็ญเขตวิทย์ เกษตรอำเภอลำทับ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศูนย์เครือข่าย) หมู่ที่ 3 ตำบลดินแดง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่

นายธนากร ชูจิตต์ นายอำเภอลำทับ กล่าวว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรเกิดความตระหนักในการทำการเกษตร ซึ่งต้องมีการใช้เทคโนโลยีและข้อมูลในการผลิตทางการเกษตร นำไปสู่การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพผลผลิตและเชื่อมโยงตลาด มีการพัฒนาให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ

โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร เป็นแหล่งเรียนรู้ของอำเภอ ดังนั้น การเริ่มต้นปีการเพาะปลูกใหม่ ถ้าเกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสม ในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้ในไร่นาและสวนของตนเองได้ จะทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ หากมีการขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรได้เข้าถึงและนำไปใช้ ก็จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงสังคมก็จะมีแต่ความสุข

นางสาวจันทร์ฉาย เพ็ญเขตวิทย์ เกษตรอำเภอลำทับ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการการเกษตรเพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2564 ในวันนี้ สืบเนื่องมาจากภาคการเกษตรของไทยได้เข้าสู่ฤดูการผลิตใหม่แล้ว  ซึ่งโดยทั่วไปถือว่าวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี  เป็นวันเริ่มต้นปีเพาะปลูก  ดังนั้นเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องมีการใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยมีองค์ประกอบของศูนย์ ได้แก่ เกษตรกรต้นแบบ แปลงเรียนรู้  หลักสูตรการเรียนรู้ และฐานการเรียนรู้ 

อำเภอลำทับได้คัดเลือกพื้นที่ของนายพิศิษฎ์  เป็ดทอง หมู่ที่ 3 ตำบลดินแดง เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรเครือข่าย กลุ่มผลิตกาแฟขี้ชะมด มีเป้าหมายในการพัฒนาเรื่องกาแฟ รวมถึงการทำการเกษตรโดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต

สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ มีดังนี้

1.) เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่

2.) หน่วยงานต่าง ๆ มีการให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจเพื่อสนับสนุนเกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่

3.) เพื่อเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีอยู่ในพื้นที่

กิจกรรมภายในงาน จัดให้มีสถานีเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละสถานี จะมีเนื้อหาที่สอดคล้องกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์/เป้าหมายของการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ   โดยมีจำนวน 5 สถานีเรียนรู้ ดังนี้

      สถานีที่ 1 บริการด้านวิชาการ

      สถานีที่ 2 การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตกาแฟ

      สถานีที่ 3 การจัดการและตกแต่งสวนกาแฟ

      สถานีที่ 4 การปลูกไม้เศรษฐกิจในสวนกาแฟ

      สถานีที่ 5 การเลี้ยงชะมด

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงองค์ความรู้  กิจกรรมทางการเกษตร และการให้บริการด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจากส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่ม/สถาบันเกษตรกร ภาคเอกชน  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในการถ่ายทอดความรู้

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้มีเกษตรกรในพื้นที่อำเภอลำทับ และพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานไม่น้อยกว่า 120 คน ซึ่งเกษตรกรจะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง  โดยยึดหลักพอเพียง ความพอดีกับศักยภาพของตนเอง บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งมีความเอื้ออาทรต่อคนอื่นๆ ในสังคมเป็นประการสำคัญ


ภาพ/ข่าว : มโนธรรม ใจหาญ  รายงาน