หากย้อนกลับไปราว ๆ 2 ปีที่แล้ว ชื่อของ อี้ - แทนคุณ จิตต์อิสระ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎรไทย และเคยเป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ของพรรคประชาธิปัตย์ เรียกว่าโด่งดังในหมู่คนรุ่นใหม่พอสมควร

เพียงแต่เป็นความโด่งดังในเชิง ‘ลบ’ ไปนิด หลังจากมีซีนเด็ดพิพาทระหว่างเขา กับ ‘เพนกวิน’ หรือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่น่าจะทำให้สังคมคนรุ่นใหม่บางกลุ่มมองเขาเป็นศัตรู

อย่างไรก็ตามในวันที่เขาได้มีโอกาสมานั่งคุยกับ THE STATES TIMES เขาบอกแบบเปิดใจว่า ไม่ได้กังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่กลับกันรู้สึกเป็นห่วงอนาคตของชาติกลุ่มนี้มากกว่า

ว่าแต่ ชนวนเหตุ ของเหตุพิพาทคืออะไร?

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2562 ตอนที่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ายื่นหนังสือพร้อมมอบพจนานุกรมภาษาไทยให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการสภาผู้แทนราษฎร และ นายแทนคุณ จิตต์อิสระ คณะทำงาน พร้อมระบุว่า อยากให้นายชวน นำพจนานุกรมไปศึกษาคำว่า ออกเสียงลงคะแนน กับ นับคะแนนใหม่ เนื่องจากมีความแตกต่างกัน พร้อมกับยกตัวอย่างว่า ตนเองเคยทำงานในสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย หากมีการลงคะแนนเสร็จแล้วจะต้องยึดถือผลคะแนนนั้นไม่สามารถนับใหม่ได้ พร้อมระบุว่าก่อนหน้านี้มีความเคารพนับถือนายชวนมาก จึงไม่อยากให้เสื่อมเสีย

แทนคุณ ซึ่งยืนฟังอยู่ จึงได้ขึ้นมาพูด พร้อมระบุว่า ขอคืนพจนานุกรมให้นายพริษฐ์ เนื่องจากมองว่าเป็นคนที่จำเป็นต้องใช้มากที่สุด เพราะยังขาดความเข้าใจในภาษาไทย ย้ำว่า ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรกำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งนายชวนปฎิบัติตามข้อบังคับทุกขั้นตอน และไม่ควรนำข้อบังคับการประชุมของมหาวิทยาลัยมาเปรียบเทียบกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพราะมีกติกาต่างกัน รวมถึงมองว่านายพริษฐ์ไม่ควรพูดพาดพิงบุคคลอื่น หรือ หากจะพาดพิงควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ

แม้วันนั้น แทนคุณ จะพูดทิ้งท้ายว่า ดีใจที่คนรุ่นใหม่สนใจการเมือง แต่เขามองว่าไม่ควรตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใด เนื่องจากระหว่างการแถลงข่าว ข้างเวทีแถลงข่าวมีคนคอยบอกและสนับสนุนให้พริษฐ์แถลงข่าวต่อกับสื่อมวลชน ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย (เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2562) แบบนั้น ทำให้เขาไม่สบายใจกับการกระทำที่เกิดขึ้น

แน่นอนว่า ถ้อยคำและวิวาทะในวันนั้น ถูกมองเป็นการประกาศศึกกับคนรุ่นใหม่บางกลุ่ม จนน่าจะมี ‘กรุ๊ปทัวร์’ ย่อยๆ มาไล่ขยี้ อี้ แทนคุณ กันตั้งแต่วันนั้น

แม้จะถูกตั้งแง่จากคนรุ่นใหม่ตั้งแต่วันนั้น แต่กลับกันในใจของเขาพยายามเฝ้ามองพฤติกรรมของเยาวชน คนรุ่นใหม่ในบริบทที่พัฒนามาเป็นผู้ชุมนุมม็อบคณะราษฏรว่า สิ่งที่พวกเขาทำกำลังตัดบันไดทางลงของตน เพราะเหตุการณ์การชุมนุมกำลังนำพาเด็กๆ ไปจบในสถานที่ที่ไม่พึงประสงค์อย่าง ‘คุก’

และมันก็ดูจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ

เขาเล่าให้ฟังว่า เขาอยากแนะ ‘ทางลง’ ให้กับผู้ชุมนุม ที่ควรทำได้เลยทันที จากการที่กลุ่มผู้ชุมนุมไปไล่กรีดแผลบางอย่างที่มิควรกรีด ตั้งแต่...หยุดการล่วงเกินต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในทุกรูปแบบ ทุกเวที โดยอยากขอร้องให้น้องๆ ที่มีเจตนาดี อยากทำเพื่อบ้านเมืองจริงๆ โดยบริสุทธิ์ใจ ถอนตัวจากทุกการชุมนุมที่มีการจาบจ้วงล่วงละเมิดด้วยถ้อยคำและท่าทีหรือการแสดงออกที่หยาบคาย เสียดสีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และร่วมประณาม หรือเตือนสติผู้ที่กำลังกระทำการจาบจ้วงนั้นอยู่ให้หยุดพฤติกรรมนั้นเสีย

ขณะเดียวกันก็ควรสนับสนุนการมีส่วนร่วมกับกลไกรัฐสภา โดยเลือกแกนนำที่มีเหตุมีผลเป็นตัวแทน มุ่งนำประเด็นที่เป็นไปได้จริงและมีผลต่อประชาชนส่วนรวมจำนวนมาก เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ที่จะนำไปสู่การเสนอข้อชี้แนะและแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง โดยที่ไม่นำเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเงื่อนไข หรือนำไปสู่ความขัดแย้งต่อการทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจทำลายอนาคตของตัวเองและครอบครัว เพราะตอนนี้มีผู้ที่ไม่พอใจในสิ่งที่น้อง ๆ หลายคน ที่อาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คึกคะนอง จากการรับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง จนเริ่มทนไม่ไหวจนและกำลังบานปลายเป็นการปะทะหักหาญกัน

สุดท้าย ควรสื่อสารตรงในข้อสงสัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากน้องๆยังมีข้อเสนอที่ต้องการจะสื่อสารหรือส่งต่อความคิดเห็น เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ขอให้ส่งไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสถาบันโดยตรง ได้แก่ สำนักพระราชวัง สำนักงานองคมนตรี เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ ดูจะเป็นข้อเสนอที่หากไม่มองแบบเอนเอียง ก็ถือเป็นเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้เสรีภาพของน้องๆ ไม่สูญหายไป แต่เป็นการใช้เสรีภาพ ในทิศทางที่สร้างสรรค์อันจะนำมาซึ่งพลังและการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง

“คนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้ผิด แต่พวกเขาต้องรู้จักวิธีการจัดลำดับความสำคัญ บางทีเรื่องใหญ่ของ ‘เขา’ อาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของ ‘ทุกคน’

“ยิ่งไปกว่านั้นการวิพากษ์วิจารณ์ กับด่าก็ไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่าอิสรภาพและเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพในทางการเมือง ทำไปทำมากลายเป็นทำลายเสรีภาพของคนอื่น และเสรีภาพทางความคิดที่ปราศจากความรับผิดชอบ มันก็ไม่ได้ต่างจากคนที่เห็นแก่ตัวคนหนึ่งที่เก่ง ซึ่งเรื่องนี้น่ากลัวที่ผมพยายามอยากให้ทุกคนคิดก้าวออกจากจุดที่ไม่ถูกต้อง

“ผมไม่อยากให้อนาคตของชาติต้องเดินตามเส้นทางจากคนเก่งที่เห็นแก่ตัวชี้ไว้ เราเป็นคนไทย ต้องหาให้เจอว่าควรมีการเมืองแบบของเราอย่างไร อย่าเป็นนักก็อปปี้ที่ซื่อสัตย์ หรือนักบริโภคที่ซื่อตรงจนเกินไป”

ติดตามประสบการณ์เส้นทางการเมืองสไตล์ ‘แทนคุณ จิตต์อิสระ’ และมุมมองคิดที่น่าตามจากมิติการเมือง เศรษฐกิจ และพรรคประชาธิปัตย์เต็มๆ ได้ที่ Contributor EP.8 >> https://www.facebook.com/watch/?v=1074229983079722


อ้างอิง: https://www.thaipost.net/main/detail/82278