ดร.อานนท์ เผยเหตุบรรยายเป็นภาษาไทย ทั้งที่ใช้อังกฤษคล่อง บนเวทีดีเบต FCCT เพราะไม่แม่นศัพท์ทางกฎหมาย พร้อมชื่นชมล่ามคนรุ่นใหม่ว่าแปลได้ชัดเจน

ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการจากนิด้า โพสต์ข้อความผ่านเพซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงกรณีมีคนสงสัย เหตุใดไม่บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ บนเวทีดีเบต ‘มาตรา 112’ ที่จัดโดย สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) โดยระบุว่า

ผมพูดภาษาอังกฤษได้คล่องนะครับ คล่องระดับเคยเป็น adjunct assistant professor สอนนักศึกษาปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านบริหารธุรกิจในสหรัฐอเมริกา

แต่ก็ยอมรับว่าให้ไปบรรยายประเด็นทางกฎหมายด้วยภาษาอังกฤษนั้น จะไม่คล่อง เพราะผมไม่ได้เรียนกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษเลย ผมเรียนกฎหมายเมื่อเรียนในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือเมื่อเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์และนิด้าก็เรียนเป็นภาษาไทยล้วน ๆ ส่วนตอนไปเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกาก็เรียนจิตวิทยาและสถิติ ไม่ได้เรียนกฎหมายแต่อย่างใด ยอมรับว่าตัวเองไม่มีวงศัพท์นิติศาสตร์ภาษาอังกฤษเลย จึงไม่มั่นใจว่าจะบรรยายประเด็นทางกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างไร ไม่น่าจะทำได้ fluent มากนัก

แต่ถ้าเอาจริงผมไปนั่งอ่านพจนานุกรมศัพท์นิติศาสตร์ อังกฤษ-ไทย สักเล่ม ผมก็คิดว่าผมพอจะบรรยายประเด็นทางกฎหมายได้ แต่เนื่องจากไม่มีเวลาเตรียมตัว ประกอบกับคุณหมอวรงค์ ก็แจ้งว่าต้องการให้คนฟังหลักที่เป็นคนไทยได้เข้าใจได้โดยง่าย

การสร้าง mental lexicon ศัพท์นิติศาสตร์ภาษาอังกฤษ เลยเป็นอันพับไปก่อน ไว้จะไปหามาศึกษาครับ เมื่อบนเวทีตกลงกันว่าต้องการให้คนไทยได้ฟัง เลยพูดภาษาไทยกัน

ใจจริงก็อยากพูดอังกฤษ เราอาจจะพูดช้าเพราะต้องนึกศัพท์กฎหมายภาษาอังกฤษ แต่ก็น่าจะทำให้เราพูดได้เร็ว โดยไม่ต้องมีล่าม แต่คนไทยจะต้องมาฟังภาษาอังกฤษที่มีศัพท์กฎหมายยากๆ ด้วย (ที่ผมเองคงต้องศึกษาอีกมากเช่นกันก่อนพูด)

เมื่อวานนี้ที่ สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) ผมประทับใจน้องล่ามสด Spontaneous Interpreter มากครับ ได้นามบัตรน้องมาชื่อ อิทธิณัฐ สีบุญเรือง มีความสามารถในการเป็นล่ามสุดในเรื่องที่ยากแสนยาก ใช้ศัพท์เฉพาะทางกฎหมายมากมาย แปลสดเก็บได้ครบทั้งราบรื่นมาก น้องตั้งใจทำงานล่ามสดนี้อย่างดีที่สุด ไม่เคยประทับใจล่ามสดที่เก่งเท่านี้ที่ไหนมาก่อนเลยครับ

ลงเวทีมา รู้สึกประทับใจมาก ต้องมาขอบคุณและชมน้องว่าเก่งจริงๆ น้องเป็นหนุ่มสูง ขาวตี๋ หน้าตาหล่อเหลา บุคลิกดีมาก สำหรับหญิงไทยทั้งหลาย จงปล่อยวางเถิด น้องแนะนำให้ผมรู้จักภรรยาด้วยครับ เป็นสาวสวย สมกันมากๆ ผมยังชมน้องกับภรรยาน้องว่าเก่งมาก ภรรยาน้องบอกว่าเขาตั้งใจทำอาชีพนี้มากและเขาก็เก่งจริงๆ ประทับใจการทำหน้าที่ล่ามสดของน้องอิทธิณัฐมากครับ

ลงเวทีมาท่านทูตสองสามประเทศมาคุยกับผม บอกว่าทำไมผมไม่พูดอังกฤษเลย เพราะผมก็พูดอังกฤษคล่องปรื๋อ ผมก็เรียนไปด้วยเหตุผลข้างต้นว่าไม่รู้ศัพท์นิติศาสตร์ภาษาอังกฤษมากพอ แต่น้องล่ามสดคนนี้คือที่สุด สุดยอดความสามารถที่สุด ประทับใจครับ

ส่วนคู่ดีเบตนั้นแถไปแถมา วนไปวนมา พูดความจริงครึ่งเดียว หรือไม่พูดความจริง หรือสร้างทฤษฎีกฎหมายและรัฐศาสตร์มั่วๆ เยอะแยะจนผมได้แต่ส่ายหน้า ไม่มี legal reasoning เอาเสียเลย น่าแปลกใจมาก ที่สำคัญคือไม่มีหลักวิญญูชนกับหลักสุจริตในฐานะนักกฎหมายเอาเสียเลยในสายตาผม

ปล ขอแถมประวัติน้องล่ามสด ที่แสนจะประทับใจในความสามารถครับ เพิ่งรู้ว่าน้องร้องโอเปร่าด้วยครับ มิน่าเสียงถึงได้เพราะด้วย

อิทธิณัฐ สีบุญเรือง

อิทธิณัฐ มีความสนใจในการร้องเพลงคลาสสิค ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ที่ประเทศเยอรมัน หลังจากกลับประเทศไทย เขาได้เริ่มเรียนการร้องเพลงอย่างจริงจัง กับนักร้องโอเปร่าชาวไทย Sophie Tanapura เมื่ออิทธิณัฐ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาเยอรมัน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากใจรักในเพลงคลาสสิค เขาตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ด้านการร้องเพลงคลาสสิค ที่ the Peabody Conservatory of Johns Hopkins University ภายใต้การเรียนการสอนของ John Shirley-Quirk นักร้องโอเปร่าชาวอังกฤษเสียง Bass-Baritone อิทธิณัฐได้รับทุนการศึกษาจากทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิคในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สนับสนุนการศึกษาดนตรีคลาสสิคและการแสดงดนตรีคลาสสิคของเขา

หลังจากจบการศึกษาจาก Peabody Conservatory อิทธิณัฐก็เข้ารับการฝึกฝนเพิ่มเติม ที่ สถาบัน Franz-Schubert เมือง Baden bei Wien ประเทศออสเตรีย เป็นสถาบันที่เน้นการสอนร้องเพลงโอเปร่าในแบบเยอรมันโดยเฉพาะ ซึ่งเขาได้รับการสอนจากนักร้องโอเปร่าระดับสากลหลายท่าน อาทิเช่น Elly Ameling, Julius Drake, Robert Holl, Rudolf Jansen, Helmut Deutsch, Andreas Schmidt และอีกมากมาย

ผลงานในประเทศไทย เขาร่วมแสดงกับ Metropolitan Opera of Bangkok ในบท ท่านเคาท์ Almaviva จากเรื่อง Le nozze di Figaro, Dr. Blind, Fank จาก Die Fledermaus, Kiilian, Ottokar จาก Der Freischütz สำหรับผลงานในต่างประเทศ อิทธิณัฐ ร่วมทัวร์แสดงคอนเสิร์ตในประเทศอินเดีย ซึ่งสนับสนุนโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อโปรโมทการแสดงดนตรีคลาสสิคจากศิลปินชาวเอเชีย ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา อิทธิณัฐ ได้ร่วมเป็นสมาชิกคณะร้องเพลงประสานเสียง Wittenberg Choir and Baltimore Choral Arts จัดการแสดงโดย Peabody Opera Studio ซึ่งกำหนดการแสดงของเขาในปีนี้ รวมถึงเรื่อง Die Winterreise ของ Franz Schubert อีกด้วย

ปัจจุบัน อิทธิณัฐ อาศัยอยู่ในกรุงเทพ และเรียนร้องเพลงกับคุณสเตฟาน ซานเชส ผู้บริหารของแกรนด์ โอเปร่า ไทยแลนด์ (มีพันธมิตรแจ้งมาว่าคุณสเตฟานเสียชีวิตแล้ว ข้อมูลนี้จากเว็บไม่อัพเดท) อีกทั้ง เขายังร่วมแสดงคอนเสิร์ตมากมาย กับทางบริษัทฯ เช่น Mozart, Schubert, Strauss ณ Goethe Institute ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตออสเตรีย ประจำประเทศไทย, "Music of Love and Devotion" คอนเสิร์ตฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ Royal Cliff Hotels Group, พัทยา เป็นต้น