ชื่นชม รปภ.ธรรมศาสตร์ ใจเด็ด โดดขวางนักศึกษาพยายามชักธง 112 หน้าอาคารโดมบริหาร ศูนย์รังสิต อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้เสรีภาพในการแสดงออกต้องอยู่ในขอบเขต ไม่ไปละเมิด หรือหมิ่นประมาท ทำให้ผู้อื่นเสียหาย

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr กรณีที่นายชนินทร์ วงษ์ศรี หรือบอล และ น.ส.เบนจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่าแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พยายามนำธงยกเลิก 112 มาขึ้นแทนธงไตรรงค์

แต่ถูก รปภ.ห้ามไว้ ระบุว่า “ได้ดูคลิปที่มีนักศึกษาธรรมศาสตร์ ทั้งหญิงและชาย รวม 4 คน พยายามนำธงแดงมีข้อความยกเลิก 112 ขึ้นบนเสาธงไตรรงค์หน้าอาคารโดมบริหารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ รปภ.หลายคนช่วยกันเจรจาห้ามปรามไว้ได้ แต่กว่านักศึกษาจะยอมก็ต้องถกเถียงกันอยู่นานพอควร เจ้าหน้าที่พยายามอธิบายว่ายอมให้ทำไม่ได้ เพราะต้องเคารพธงชาติไทย และต้องให้เกียรติพระมหากษัตริย์

เหตุผลที่นักศึกษาอ้าง สรุปความได้ว่า “นักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่ง ต้องติดคุกเพราะมาตรา 112 นักศึกษาจึงต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ดังนั้นต้องทำได้ หากทำไม่ได้ ธรรมศาสตร์ก็ไม่มีเสรีภาพจริง ถ้าเอาธงแดงขึ้นแล้วประเทศจะล่มสลาย หรือจะมีใครต้องตายหรืออย่างไร”

นักศึกษาหญิงที่เถียงกับเจ้าหน้าที่เป็นส่วนใหญ่ ดูเหมือนจะเป็นนักศึกษาหญิงคนเดียวกันกับที่ไปชูป้ายเรื่องวัคซีนที่ไอคอนสยามนั่นเอง เหตุผลที่นักศึกษาใช้อ้าง เป็นเหตุผลที่แกนนำม็อบ 3 นิ้ว และผู้อยู่เบื้องหลังใช้กันอย่างฟุ่มเฟือย ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นั่นคือคำว่า “เสรีภาพในการแสดงออก” ซึ่งดูเหมือนจะฝังแน่นอยู่ในสมองของคนกลุ่มนี้แบบที่ไม่มีใครจะโยกคลอนได้เลยว่า เสรีภาพคือการที่เราสามารถจะทำอะไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่การทำผิดกฎหมายหากเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนั้น

ไม่ว่าจะอธิบายกันกี่ครั้งว่า เสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขตเสมอ ก็ไม่สามารถทำให้คนกลุ่มนี้เข้าใจได้เลย ไม่ต่างจากคำว่า “ภาษีกู” ที่พวกเขาเข้าใจว่า ทุกคนมีสิทธิจะทำอะไรก็ได้กับสิ่งของ หรือถาวรวัตถุที่มาจากเงินภาษีของประเทศ เป็นความเข้าใจที่เข้าข้างตัวเองอย่างถึงที่สุด

เรามีเสรีภาพในการแสดงออกก็จริง แต่การแสดงออกนั้นต้องไม่ไปละเมิด หรือหมิ่นประมาท หรือทำให้ผู้อื่นเสียหาย ไม่รู้ว่าใครไปฝังชิปลงในสมองของพวกเขาได้แน่นหนาขนาดนี้ อยากรู้เหลือเกินว่าพ่อแม่ และครอบครัวของพวกเขาเหล่านี้คิดอย่างไร เห็นอย่างไร หากคิดเหมือนกัน เห็นเหมือนกันทั้งครอบครัว ก็น่าเป็นห่วงอนาคตของประเทศมาก หากพ่อแม่หรือครอบครัวไม่ได้เห็นแบบนี้ คิดแบบนี้ ก็น่าสงสารพ่อแม่และครอบครัวของพวกเขาเหล่านี้มาก ต้องกลัดกลุ้ม และไม่มีความสุขแน่ๆ

ต้องขอชมเจ้าหน้าที่ รปภ.ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่รับมือกับสถานการณ์นี้ได้โดยไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่คนแรกที่มาห้ามปราม เป็นเจ้าหน้าที่ที่ผมค่อนข้างจะคุ้นเคย ตั้งแต่ผมยังทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันเวลาไปประชุม เจ้าหน้าที่ผู้นี้ก็จะมาช่วยดูแลเรื่องที่จอดรถให้เสมอ เจอครั้งหน้าเห็นท่าจะต้องขอสัมภาษณ์ และให้รางวัลสักหน่อยเสียแล้วครับ”

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า กลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ใช้วิธีการชักเสาธงเพื่อแสดงออกทางการเมือง เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้ง อาทิ เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2556 นายศรันย์ ฉุยฉาย หรืออั้ม เนโกะ และนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว เคยปลดธงชาติไทยแล้วนำธงดำขึ้นเสาบริเวณตึกโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อไว้อาลัยอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีที่ประกาศหยุดเรียนหยุดสอนหยุดทำงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต่อมาวันที่ 24 ก.พ. 2563 น.ส.สิรินทร์ มุ่งเจริญ หรือเฟลอ นิสิตคณะอักษรศาสตร์ อดีตรองประธานสภานิสิตคนที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแกนนำกลุ่มวิ่งไล่ลุง พยายามนำธงดำขึ้นสู่ยอดเสา อ้างว่าแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อไว้อาลัยแก่กระบวนการยุติธรรม แต่ถูก รปภ.ห้ามไว้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2564 นายพริษฐ ชิวารักษ์, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, น.ส.เบนจา อะปัญ แกนนำกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร 2563 และกลุ่มการ์ดวีโว่ นำโดย นายปิยรัฐ จงเทพ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคอนาคตใหม่ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทายาทกลุ่มไทยซัมมิท ร่วมกันปลดธงชาติไทยแล้วนำธงสีแดงระบุข้อความ 112 มาชักขึ้นแทน หน้า สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ระหว่างที่นายชยพล ดโนทัย หรือเดฟ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาความผิดตามมาตรา 112 และเกิดเหตุชุลมุนแย่งธงคืนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

อนึ่ง พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ผู้ใดกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการเหยียดหยามต่อธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงที่ได้บัญญัติกำหนดลักษณะไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งออกตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ที่มา : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9640000014197

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=4061779217165936&id=100000016923106