เรียกว่าเป็นอีกข่าวดีที่มีเยาวชนไทย ได้ทำการประดิษฐ์เทคโนโลยี เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน อย่างเครื่องดักจับคาร์บอนในอากาศ ที่สามารถแปลงเป็นเชื้อเพลิงได้

ก่อนหน้านี้ Elon Musk เจ้าพ่อรถยนต์ไฟฟ้า มหาเศรษฐี CEO ของ Tesla เคยทวิตข้อความว่าจะสนับสนุนเงินทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3 พันล้านบาท) ให้กับผู้ที่สามารถคิดค้นเทคโนโลยีดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดีที่สุด

โดยล่าสุด Elon Musk ประกาศว่า XPRIZE องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เป็นแพลตฟอร์มการจัดแข่งขันเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับมนุษยชาติ จะเป็นผู้จัดการแข่งขันเฟ้นหาผู้ที่สามารถสร้างเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนที่ดีที่สุด

แม้ทาง XPRIZE จะยังไม่เปิดเผยรายละเอียดจนกว่าจะถึงว่าที่ 22 เมษายน แต่เบื้องต้น XPRIZE ประกาศแนวทางคร่าวๆ ในเว็บไซต์ดังนี้

1.) ทีมที่เข้าแข่งขันจะต้องคิดค้นโมเดลการจัดการคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ และต้องสามารถขยายสเกลของโมเดลการจัดการคาร์บอนให้ได้ถึงระดับกิกะตัน

2.) เป้าหมายของการแข่งขันในครั้งนี้คือ การสร้างวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 10 กิกะตันต่อปีภายในปี 2050

Elon Musk กล่าวในประกาศการแข่งขันว่า “เราต้องการสร้างระบบที่ชัดเจน วัดผลได้จริง สามารถสร้างผลกระทบได้ในระดับกิกะตัน (ระดับพันล้านตัน) และต้องทุ่มเททั้งหมดที่มีเพราะเวลาไม่คอยท่า”

การแข่งขันครั้งนี้จะกินระยะเวลา 4 ปี โดยใน 18 เดือนแรก ผู้เข้าแข่งขัน 15 ทีมสุดท้ายจะได้รับเงินทุนสนับสนุนทีมละ 1 ล้านดอลลาร์ เพื่อต่อยอดเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไปสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้น

ส่วนการแข่งขันในรอบสุดท้าย ผลรางวัลมีดังนี้

• ทีมชนะเลิศจะได้รับรางวัล 50 ล้านดอลลาร์

• ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 จะได้รับรางวัล 20 ล้านดอลลาร์

• ทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 จะได้รับรางวัล 10 ล้านดอลลาร์

• ทีมของนักเรียนนักศึกษา จะได้รับทุนจำนวน 2 แสนดอลลาร์ (25 ทุน)

แน่นอนว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนอย่างมาก แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือ หนึ่งในเด็กไทยที่ถูกจับตามองด้วยจากโครงการนี้

‘แอนโทนี - ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์’ อายุ 15 ปี นักเรียนเกรด 9 ที่โรงเรียนนานาชาติเกนส์วิลล์ เชียงราย เป็นเด็กไทยที่ได้เสนอไอเดียนวัตกรรมต่อ ‘อีลอน มัสก์’ ในการดักจับคาร์บอนในบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่จะช่วยแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศที่ภาคเหนือได้ด้วย

โดยแอนโทนีได้ทำคลิปวิดีโอเผยแพร่ลงบนยูทูบเพื่อเป้าหมายเสนอโครงการดังกล่าว ซึ่งในเนื้อหาของวิดีโอ ได้กล่าวถึง ที่มาของแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องดักจับคาร์บอนของเขาด้วย

“ผมเห็นข่าวที่มัสก์ลงมาช่วยภารกิจ 13 หมู่ป่า ที่ถ้ำขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย และรู้สึกประทับใจในตัวของมัสก์ ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมกู้ภัยได้อย่างรวดเร็ว ผมจึงอยากให้มัสก์ได้เห็นว่า คนไทยสามารถผลิตนวัตกรรมดักจับคาร์บอนได้ ซึ่งเราเห็นความสำคัญของเรื่องมลพิษทางอากาศผ่านปัญหาหมอกควันในภาคเหนือช่วง 2 ปีที่ผ่านมา” (แอนโทนี เผยกับ National Geographic ประเทศไทย)

ภายในคลิปวิดีโอได้อธิบายหลักการทำงานของเครื่องมือนี้ไว้ว่า ในส่วนตัวเครื่องมีกลไกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศให้เป็นก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ และก๊าซออกซิเจน รวมถึงภายในเครื่องมือนี้ยังสามารถดักจับฝุ่นละลอง PM 2.5 ได้อีกด้วย

สำหรับก๊าซไฮโดรเจนที่ได้ สามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงมีเทนและปิโตรเลียม ส่วนก๊าซออกซิเจนสามารถปล่อยคืนสู่ชั้นบรรยากาศได้ โดยปัจจุบันเครื่องมือนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแอนโทนีและคุณลุงผู้เป็นนักประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในอนาคต

คลิกชมคลิป >> video 

 


ที่มา:

https://www.facebook.com/1523107561151019/posts/3425884500873306/

https://brandinside.asia/elon-musk-donate-for-carbon-capture-tech-competition/

https://ngthai.com/envir.../33745/carbon-capture-technology/

https://twitter.com/aphiyachon?s=21

https://www.facebook.com/1523107561151019/posts/3424998934295196/