‘ธนกร’ โต้ ‘เพื่อไทย’ ชี้เศรษฐกิจทรุดเพราะโควิด-19 ลั่น ‘บิ๊กตู่’ ทำดีที่สุดแล้ว แจงยิบทุกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจได้แน่ แต่ต้องใช้เวลา แขวะอย่าจ้องแต่จะค้านไปทุกเรื่อง ย้อนเอาเวลาไปประสานรอยร้าวในพรรคก่อนดีกว่า

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ว่าทำเศรษฐกิจทรุดต่อไปอีก 10 ปีว่า พรรคเพื่อไทยเอาเวลาไปประสานรอยร้าวภายในพรรคก่อนจะดีกว่า เพราะหลังจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ลาออกไป ทำให้เกิดรอยร้ายในพรรคถึงขนาดนายพิชัย นริพทะพันธ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไม่เผาผีกับนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย

ตนบอกหลายครั้งแล้วว่าเศรษฐกิจแย่เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกระทบทั่วโลก พล.อ.ประยุทธ์ทำดีที่สุดแล้ว มาตรการเยียวยาต่างๆ ก็สามารถฟื้นเศรษฐกิจได้ แต่ต้องใช้เวลา ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยหลายอย่างรัฐบาลก็ดูอยู่ ไม่ว่าจะเป็น

1.) เร่งปรับโครงสร้างภาษีให้เก็บเงินคนรวยมากขึ้นเพื่อมาช่วยคนจน ในภาวะที่คนจนกำลังลำบากนี้ รัฐบาลได้ศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการจำเป็นต้องอาศัยช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม หลักความเป็นธรรมทางภาษี พิจารณาข้อดีข้อเสีย ขีดความสามารถในแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง และความยั่งยืนทางการคลังประกอบกัน

2.) เร่งหารายได้เข้ารัฐเพิ่มจากทางอื่นนอกจากภาษีนั้น ปัจจุบันมีการดำเนินการหารายได้เข้ารัฐเพิ่มเติมนอกจากรายได้จากภาษีอย่างต่อเนื่อง เพราะคำนึงถึงการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

3.) เร่งปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มราชการ หรือ Digitalization รวมถึงการใช้ระบบบล็อกเชน ซึ่งจะแก้ปัญหาได้หลายอย่าง รวมถึงปัญหาระบบศุลกากรที่นักลงทุนต่างประเทศร้องเรียน ปัญหาการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว รัฐบาลมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบต่าง ๆ เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร ท่าเรือต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

4.) เร่งส่งเสริมให้เกิดแพลตฟอร์มเอกชน เร่งส่งเสริมการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีสมัยใหม่ เร่งสร้างยูนิคอร์น ลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ และ เร่งเก็บภาษีแพลตฟอร์มต่างประเทศ สำหรับการเก็บภาษี Platform ต่างประเทศนั้น รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ จากต่างประเทศ (e-Service)) (ร่างพระราชบัญญัติฯ) โดยรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ ในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ความคืบหน้าล่าสุดร่างพระราชบัญญัติฯ อยู่ระหว่างขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมาย

และ 5.) ลดภาษีที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล รัฐบาลได้ช่วยเหลือโดยการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตราต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว ทั้งที่มีการปล่อยความร้อนสูงกว่าน้ำมันเบนซิน แต่มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า เพื่อสนับสนุนราคาน้ำมันดีเซล นอกจากนี้ การจำหน่ายน้ำมันดีเซลในท้องตลาดมีการนำไบโอดีเซลมาผสมในสัดส่วนต่าง ๆ ซึ่งน้ำมันไบโอดีเซลไม่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลในท้องตลาดถูกลงด้วย

นายธนกร กล่าวด้วยว่า ส่วนนโยบายด้านการเงิน การช่วยเหลือ SMEs ในภาพรวม รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือ SMEs มาโดยตลอด โดยการให้แหล่งเงินต้นทุนต่ำควบคู่ไปกับการกำหนดกลไก ลดความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งกลไกดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการให้ความช่วยเหลือ SMEs ในต่างประเทศ โดย SMEs ที่ได้รับความช่วยเหลือควรเป็น SMEs ที่มีศักยภาพทางธุรกิจ (Commercial Viability) แต่ประสบปัญหาจาก โควิด-19 เท่านั้น

ทั้งนี้ หากภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือ SMEs ทั้งระบบ ซึ่งรวมถึง SMEs ไม่มีศักยภาพหรือ อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้าง ก็อาจส่งผลให้ภาครัฐมีภาระทางการคลังในอนาคตที่มากเกินความจำเป็น และ SMEs กลุ่มที่ไม่มีศักยภาพก็ยังคงจะเสียเวลาและต้นทุนไปกับการดำเนินธุรกิจที่ไม่สามารถอยู่รอดได้แทนการใช้เวลาและทรัพยากรไปกับการปรับเปลี่ยนและเริ่มธุรกิจใหม่ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ดังนั้น การเพิ่มวงเงินค้ำประกันหนี้เสียที่พรรคเพื่อไทยเสนอโดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับกลไกการดำเนินการนั้น อาจไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดสำหรับ SMEs และประเทศโดยรวม เนื่องจากอาจเป็นเพียงการเพิ่มวงเงินของรัฐบาลเพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่สถาบันการเงิน เช่น หากเสนอให้รัฐบาลเพิ่มวงเงินค้ำประกันหนี้เสียอีกร้อยละ 10 ของวงเงินรวมของโครงการ 900,000 ล้านบาท จะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกถึง 90,000 ล้านบาท เป็นต้น แต่ข้อเสนอนั้นไม่มีกลไกที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพเพื่อยืนยันว่า SMEs กลุ่มเป้าหมายแต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากโควิด-19 จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเงินงบประมาณที่รัฐบาลใช้เพิ่ม ดังนั้น ในการเสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันอาจจำเป็นต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อน เพื่อให้แนวทางที่เสนอมาก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศและ SMEs อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณากลไกเพิ่มเติมในการให้ความช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างตรงจุด (Targeted) คุ้มค่ากับเงินงบประมาณ (Cost Effective) และเห็นผลได้จริง (Effective) และเหมาะสมกับสถานะหรือบริบทของ SMEs นอกจากนี้ สำหรับประเด็นเงิน 900,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. Soft Loan และ พ.ร.ก. BSF นั้น หากพรรคเพื่อไทยได้ศึกษา พ.ร.ก. ทั้ง 2 ฉบับแล้ว จะพบว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช้สินทรัพย์ของ ธปท. แต่เป็นเพดานวงเงินที่ ธปท. สามารถใช้อำนาจในฐานะธนาคารกลางเพื่อจัดสรรสภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบการเงิน และนำไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.ก. 2 ฉบับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ข้อเสนออะไรที่เป็นประโยชน์รัฐบาลก็รับฟัง แต่ไม่ใช่ค้านไปทุกเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ทำอะไรก็ผิดไปหมด ตนคิดว่าไม่ถูกต้อง และอยากบอกว่าพล.ประยุทธ์อยู่แล้วประเทศดีขึ้น ไม่ได้อยู่แบบถ่วงความเจริญปล่อยให้มีการทุจริตคอรัปชันเหมือนรัฐบาลในอดีต