วทันยา วงษ์โอภาสี สส.พรรคพลังประชารัฐ หนุนนโยบายสร้างเศรษฐกิจใหม่ ระบุ ‘Soft Power’ จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ที่จะช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ ‘BGC Model’ ในการสร้างโอกาสและรายได้ให้กับประเทศ
นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี สส.พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า เมื่อวานนี้นายกฯ ออกมาประกาศนโยบาย BCG Model ที่จะเป็นทิศทางหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาวหลังวิกฤตโควิด-19 ต่อจากนี้ ครั้งแรกได้ยินชื่อย่ออาจเกิดคำถามว่าคืออะไร? แต่เมื่อพลิกดูไส้ในก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ข้อดีในครั้งนี้คือนายกฯ ออกมาประกาศถึงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับในอดีตที่มักจะมีการหยิบหัวข้อต่างๆมาพูดกันอยู่บ่อยครั้งทั้งในรัฐบาล สภา หรือเวทีเสวนาต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หน่วยงานจะต้องมีแผนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้สังคมคาดหวังได้ว่านโยบายดังกล่าวจะนำมาใช้พัฒนาประเทศได้จริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำสวยหรูที่ขายความฝันให้ประชาชน
หนึ่งนโยบายที่อยู่ภายใต้ BCG Model ที่น่าสนใจคือยุทธศาสตร์ที่ 2 “ การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่” หนึ่งในหัวใจสำคัญของนโยบายยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ “ซอฟท์พาวเวอร์” ที่ครั้งหนึ่งเดียร์ได้เคยนำเสนอนายกฯในเรื่องนี้เช่นกัน หนึ่งในรายละเอียดที่นำเสนอนายกฯคือ การจัดตั้งกองทุน “Creative Industries”
เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความคิดสร้างสรรค์สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมผู้ผลิตคอนเทนต์ให้ทัดเทียมต่างชาติ เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยเราติดกับดักระบบทุนนิยมที่รายได้เป็นโจทย์หลักของการผลิตคอนเทนต์ ทำให้ผู้ประกอบการสื่อในแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่สามารถใส่เม็ดเงินต้นทุนการผลิตได้อย่างที่ใจต้องการ จึงกลายมาเป็นต้นตอของปัญหาคุณภาพในการผลิตไม่ว่าจะเป็น Production value หรือกระทั่งการที่เราอยากจะมีบทภาพยนตร์หรือซีรีย์ดี ๆ สักเรื่องเพื่อที่จะนำพาอัตลักษณ์ของคนไทยไปสู่สายตาชาวโลก นั่นยังไม่นับรวมถึงนโยบายอื่นๆที่รัฐต้องเร่งทำ เช่น การสนับสนุนการศึกษาไทยเพื่อป้อนคนเข้าสู่อุตสาหกรรม เพราะ “ซอฟท์พาวเวอร์” คือส่วนหนึ่งของคำตอบในการแก้ไขปัญหา “Digital Disruption” ที่วันนี้กำลังคุกคามธุรกิจและสร้างความวิตกถึงอนาคตเยาวชนไทยในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตที่อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี
เมื่อนายกฯ ประกาศนโยบายที่ชัดเจนแล้ว ความท้าทายก็คือหน่วยงานต้องสามารถดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายได้อย่างรวดเร็วและมีความเข้าใจอย่างแท้จริง หรือเริ่มต้นแบบง่ายๆ เช่น การที่ภาพยนตร์ต่างชาติจะเข้ามาถ่ายทำหนังในไทยสักเรื่อง ขอให้การติดต่อรวมศูนย์แค่ที่เดียวไม่ต้องวิ่งโร่ไปติดต่อทีละ 4 หรือ 5 กระทรวง สร้างความยุ่งยาก เพื่อโอกาสดีๆ เหล่านี้จะไม่เป็นเพียงแค่ความฝันและคำพูดที่ปฏิบัติจริงไม่ได้