วัคซีน Sinovac ยังคงมีปัญหา เมื่อค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการป้องกันโควิด-19 ไม่เท่ากันในหลายประเทศที่นำไปทดสอบใช้ จึงยังเป็นวัคซีนทางเลือกที่ทั่วโลกยังต้องพิจารณา

กลายเป็นข่าวที่ไม่สู้ดีเท่าไร สำหรับทีมพัฒนาวัคซีน Covid-19 ของจีน ที่ผลการทดสอบล่าสุดจากบราซิล ประเทศที่มีกลุ่มทดสอบวัคซีนของ Sinovac มากที่สุด ได้สรุปผลการใช้งานล่าสุดว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกัน Covid-19 เพียงแค่ 50.4% เท่านั้น

ผลลัพธ์ล่าสุดเรียกได้ว่า น่าผิดหวัง ไม่เฉพาะกับชาวบราซิล แต่รวมถึงหลายประเทศทั่วโลก ที่เริ่มตั้งคำถามกับความน่าเชื่อถือของวัคซีนจีน ที่ประธานาธิบดี สี่ จิ้นผิง เคยออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนพัฒนาวัคซีน Covid-19 ให้ชาวโลกได้ฉีดอย่างทั่วถึง และเป็นทรัพย์สินทางปัญญาสาธารณะ

แต่ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้มาจากการทดสอบของสถาบันวิจัย Butantan ในเมืองเซา เปาโล ที่เป็นผู้ผลิต และทดสอบวัคซีนของ Sinovac เน้นว่าผลล่าสุดที่ได้ 50.4% นั้น เป็นผลลัพธ์ที่ได้จากกลุ่มทดสอบที่มีอาการน้อยมาก ซึ่งเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเพิ่งจะออกมาประกาศว่าวัคซีนของ Sinovac ใช้ได้ผลดีถึง 78% กับกลุ่มทดสอบที่มีอาการระดับเบา ถึงปานกลาง แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่มีอาการระดับกลาง ไปจนถึงหนัก วัคซีนตัวนี้ใช้ได้ผล 100%

ยิ่งสร้างความสับสนให้กับคนทั่วไป จนรัฐบาลบราซิลยอมรับว่า ทีมวิจัยควรหาวิธีสื่อสารให้ดีกว่านี้ เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลที่ครบถ้วน เข้าใจง่ายและโปร่งใส

สำหรับวัคซีน Covid-19 จากบริษัท Sinovac Biotech ที่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่ของวัคซีนจากจีน ที่มีข่าวว่าเข้าสู่การทดสอบช่วงท้าย ๆ และน่าจะผลิตออกมาได้ในเร็ว ๆ นี้

นอกเหนือจาก Sinavac ก็ยังมี Sinopharm ที่ได้ทดลองในกลุ่มตัวอย่างในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไปแล้ว และได้ผลถึง 86% ส่วนอีก 2 บริษัทคือ CanSino Biologics ที่ได้ทดลองไปแล้วที่ซาอุดิอารเบีย และ Anhui Zhifei Longcom ที่กำลังทดลองในเฟส 3

ส่วน Sinavac นอกจากจะมีการทดลองใช้ในบราซิลแล้ว ยังมีการทดสอบในตุรกี ที่เพิ่งออกมาบอกว่าวัคซีนตัวนี้ใช้ได้ผลถึง 91.25% และในอินโดนีเซีย ที่ได้ผลลัพธ์ 65.3%

ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่มีความต่างกันมาก จนหลายประเทศที่ได้สั่งซื้อวัคซีนของ Sinovac ไปแล้ว อย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยเราด้วย ก็คงหวั่นไหวกับผลทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนตัวนี้ไม่น้อย

แต่ทั้งนี้การใช้วัคซีน Sinovac ก็มีข้อดีอยู่บางประการที่หลายประเทศใช้ประกอบการพิจารณา เช่น กลไกการทำงานของวัคซีน Sinovac จะใช้เซลล์เชื้อไวรัสที่ตายแล้วนำมาพัฒนาเป็นวัคซีน ซึ่งเป็นเทคนิคการพัฒนาวัคซีนแบบดั้งเดิมที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อย เมื่อเทียบกับวัคซีนจาก Moderna และ Pfizer ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการสกัดเอา mRNA จากเชื้อไวรัส หรือของ AstraZeneca ที่ใช้ DNA สกัดของไวรัส เอามาพัฒนาเป็นวัคซีน ที่ผลข้างเคียงในอนาคตเป็นเรื่องที่ยังคาดเดาไม่ได้

นอกจากนี้ อุณหภูมิที่ใช้ในการจัดเก็บสต็อควัคซีนของ Sinovac ใช้ตู้แช่ที่มีความเย็นเพียง 2-8 องศาเซลเซียส ที่เป็นอุณหภูมิของตู้เย็นปกติ เช่นเดียวกับของ AstraZeneca ซึ่งจะแตกต่างจากวัคซีนของ Moderna และ Pfizer ที่ต้องเก็บในตู้แช่อุณหภูมิติดลบ ตั้งแต่ -20 ถึง -70 องศาเซลเซียส

แต่ทั้งนี้ ก็คงต้องรอบริษัท Sinovac ออกมาอธิบายถึงผลทดสอบต่าง ๆ ที่ผ่านมา และวิจารณญาณของทีมรัฐบาลของเราว่าจะไปต่อกับ Sinovac หรือจะรอ AstraZeneca ที่คิวจองนานมาก หรือจะลองพิจารณาวัคซีนของเจ้าอื่นไว้เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคนไทยในวันวิกฤติเช่นนี้


แหล่งข่าว

https://www.aljazeera.com/.../brazil-trial-finds-efficacy...

https://edition.cnn.com/.../sinovac-covid.../index.html

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-55642648

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-55212787