อันที่จริงก็ไม่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่ตอนนี้อุณหภูมิด้านอารมณ์ของคนไทย เริ่มร้อนแรงไม่แพ้อุณหภูมิของเชื้อร้ายจากโควิด-19 สักเท่าไรนัก

อันที่จริงก็ไม่อยากจะพูดถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่ตอนนี้อุณหภูมิด้านอารมณ์ของคนไทย เริ่มร้อนแรงไม่แพ้อุณหภูมิของเชื้อร้ายจากโควิด-19 สักเท่าไรนัก

เพราะตอนนี้จะมีการแบ่งซักสังคมออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้เฝ้าระวัง คอยเตือน วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่และภาครัฐ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็คือผู้ลงมือทำงาน

น่าเห็นใจทุกฝ่าย แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้อีกฝ่ายเริ่มรู้สึกถึงการ ‘ล่วงล้ำบทบาท’ กันจนเกินขอบ ก็ทำให้เกิดเรื่องที่ไม่น่าให้เกิด เฉกเช่นกรณีของ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมอผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาให้ข่าวด้านโควิด-19 สายบู๊ที่มีวิวาทะหนักหน่วง ชวนกระซวกไส้ กลุ่มผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การดูแลปัญหาโควิด-19 โดยตรง

นั่นจึงเป็นเหตุให้เกิดประเด็นดราม่า แบบ ‘หมอ’ ไฝว้ ‘หมอ’ เกิดขึ้น โดยไม่นานมานี้ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ รก ระดับ 11 หัวหน้าสำนักวิชาการสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “เราจะควบคุมโรคโควิด 19 ได้สำเร็จ เราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยกัน เราต้องการกำลังใจ มิใช่ต้องการคำวิพากษ์วิจารณ์ที่บั่นทอนจิตใจ สร้างความกลัว ตื่นตระหนก และไม่มีประโยชน์ ครับ

วันนี้ หมออ่านข่าว อาจารย์ธีระ และตลอดเวลาที่ผ่านมา ที่อาจารย์ธีระเขียนผ่านโซเชียลและเป็นข่าว ขอเรียนว่า ไม่สบายใจ และหมอเห็นใจคนทำงาน เห็นใจพี่น้องประชาชน มากๆ ครับ

คนที่ No action talk only สบายมากครับ ไม่ทำอะไร ไม่มีผิด คนทำงาน คนที่อยู่หน้างาน มดงาน นักรบชุดขาว ทั้งเหนื่อย เครียด ผู้บริหารที่บัญชาการเหตุการณ์ ต้องวางแผน คิดรอบด้าน เลือกมาตรการใดๆ ก็ต้องมีบวกและลบ ครับ แต่เราเลือกสิ่งที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับประเทศชาติและประชาชน ครับ

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 10 มกราคม 2564...สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำคือ "ทำในสิ่งที่ควรทำ และอย่าทะลึ่งไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ"

ผมขอตอบอาจารย์ธีระว่า กระทรวงสาธารณสุข ทำทุกสิ่งด้วยความถูกต้อง ถูกหลักวิชาการ ตามมาตรฐาน ด้วยการมีส่วนร่วมของนักวิชาการทั้งใน และนอกกระทรวงสาธารณสุข จนมากำหนดนโยบาย มาตรการ เราประชุม ทำงานตั้งแต่เช้าทุกวัน มดงาน หน่วยปฏิบัติการ

“นักรบชุดขาว” ปฎิบัติการ 24/7 ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ไม่มีวันหยุด ครับ

หมอสงสารชาวบ้านครับ เขียนหรือพูดให้เกิดความตื่นตระหนก เกิดความกลัว มีประโยชน์อะไร ครับ

อาจารย์เขียนแต่ละครั้ง หมอขอให้คิดพิจารณาให้ดี ขอให้ผู้บังคับบัญชาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโปรดช่วยแนะนำตักเตือนอาจารย์ธีระด้วยครับ

ทุกสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการ อยากบอกอาจารย์ธีระ เราคิดถึงปากท้องชาวบ้าน คิดถึงพี่น้องประชาชนมาก่อนเสมอ เราต้องเน้น “ทุกมิติ” มิใช่ควบคุมอย่างเด็ดขาด แต่ชาวบ้านอดตาย ครับ แต่กระทรวงสาธารณสุขเน้น มาตรการที่ถูกหลักวิชาการ คิดในทุกมิติ เช่น ปากท้อง สังคม เศรษฐกิจ ครับ

วันนี้ เราทำงานเป็นทีม สามารถแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย และผู้บริหารรับฟัง ครับ (ไม่จริง แบบที่อาจารย์โจมตี ผมอยากเชิญอาจารย์มารับฟัง มาดูพวกเราทำงาน มิใช่ คิดเอง และเขียนเอง โจมตีการทำงาน ว่า เราขาดความเป็นเอกภาพ สับสน หรือทำงานแบบ "ทราบแล้วเปลี่ยน" การทำงานหรือมาตรการมีความชัดเจน และพร้อมปรับตามสถานการณ์ ครับ

เราไม่เคย “กลับลำ” ตามที่อาจารย์วิจารณ์ แต่มีการปรับเปลี่ยนมาตรการ อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ครับ

หมอขอกำลังใจและความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ในกรณีการดูแลผู้ป่วย เราเป็นหมอ ไม่ว่าคนทำผิด หรือประชาชน เราดูแลทุกคนครับ แต่เรื่อง “ค่ารักษา” เป็นอีกเรื่อง นะครับ

เราดูแลรักษาอย่างดีที่สุด ได้มาตรฐานอยู่แล้วครับ ไม่เคยนำ “เงิน” มาเป็นตัวตั้ง

อาจารย์ธีระ โปรดเข้าใจด้วยครับ สำหรับผู้กระทำผิด เรื่องการคิดค่าใช้จ่ายภายหลัง เป็นไปตามหลักกฏหมายและความถูกต้อง ครับ

กระทรวงสาธารณสุขทราบปัญหา และดูแลคนในมุมมืด ค้นหาเชิงรุก ทำงานด้วยเมตตา จรรยาบรรณแพทย์ตามหลักมนุษยธรรม ครับ

หมอขอยืนยัน การควบคุมโรคโควิด 19 ของกระทรวงสาธารณสุข มีการวางแผน วิเคราะห์สถานการณ์ กำหนดยุทธศาสตร์ และมาตรการ มีการมีส่วนร่วมและขอบคุณอาจารย์จากมหาวิทยาลัย

เรามีการติดตามประเมินผล อย่างเป็นระบบ เราผ่านเหตุการณ์ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี เราจะร่วมกับทุกภาคส่วน และพี่น้องประชาชน ผ่านเหตุการณ์ครั้งนี้ให้ได้ ครับ

ผมขอบคุณความปรารถนาดี อาจารย์ธีระ ครับ หากอาจารย์มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ โปรดเสนอในที่ประชุม หรือส่วนตัวที่ผมก็ได้

เราทุกคนพร้อมรับฟัง ในการทำงานมีผู้แทนทุกภาคส่วนครับ โปรดอย่าวิจารณ์พวกเราในลักษณะนี้เลยครับ

หมอสงสาร เห็นใจ คนทำงาน มดงาน นักรบชุดขาว และผู้บริหารที่อุทิศตน ทุ่มเททำงานครับ...."

@@@ ทั้งนี้เมื่อถูกตอบโต้จาก ‘หมอรุ่งเรือง’ ทางรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้โพสต์เฟซบุ๊กตอบกลับว่า...

“มีคนเอ่ยถึงผมผ่านทางสื่อสาธารณะว่า สื่อให้สังคมกลัวเพราะอะไร ได้อะไรขึ้นมา และการวิพากษ์วิจารณ์ชี้ให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ที่ผ่านมานั้นล้วนเป็นการบั่นทอนจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง

หากใครที่ติดตามอย่างละเอียดลออ จะทราบได้ว่า สิ่งที่ผมทำมาทั้งหมดนั้นยืนบนพื้นฐานของเจตนาดีที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนทุกคนในสังคมไทย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหน้างานทุกคน

ผมเป็นคนทำงานด้านสาธารณสุขมาก่อน ดังนั้นการจะมองว่าอยู่บนหอคอยงาช้างนั้นคงไม่ใช่แน่นอน หากกล่าวเช่นนั้น ต้องบอกว่าท่านไม่รู้จักผมจริง

หนึ่ง ผมนำข้อมูลวิชาการจริงมานำเสนอให้สาธารณะได้ทราบว่าสถานการณ์จริงคืออะไร วิเคราะห์ให้ดูว่าการระบาดของเราเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเป็นเช่นไร อนาคตของเราหากเดินตามรอยเท้าของประเทศอื่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ทำเช่นนี้เพราะต้องการให้คนของเรามีความรอบรู้ รู้เท่าทัน ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น โรคนี้รุนแรงสุดในรอบ 102 ปี ติดไปแล้วกว่า 90 ล้าน ตายไปแล้วเกือบ 2 ล้านคนทั่วโลก หากรู้เท่าทัน จะมีสติ รู้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับอะไร และจะเตรียมตัวรับมือได้

การจะมาบอกว่าขู่ให้คนกลัว ถามตรงๆ ว่ามันน่ากลัวไหม?

ผมคงไม่สามารถหลอกตัวเองให้ทำการเล่าให้มองว่า โรคนี้มันคือหวัดธรรมดา กระจอก เอาอยู่ เป็นแล้วมียารักษาและไม่มีทางตายครับ เพราะผมเชื่อว่าการพูดสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องจริงนั้นเป็นบาปมหันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจทำให้คนประมาท การ์ดไม่เข้มแข็ง ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาปล่อยตัวปล่อยกายปล่อยใจ จนติดเชื้อแล้วตายกันเป็นใบไม้ร่วงได้

โรงเรียนผม Johns Hopkins มีสุภาษิตที่เป็นแรงบันดาลใจของศิษย์เก่าทั้งหลายว่า "Protecting health, Saving lives, Millions at a Time"

แต่ไม่ได้สอนให้ผมตัดสินใจทำแบบยอมรับความเสี่ยงที่คุกคามสุขภาพและชีวิตคนแลกกับเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ระบาดที่รุนแรง

การอ้างถึงปากท้องของคนนั้นเป็นเหตุผลสำคัญยิ่ง พอๆ กับสุขภาพคนครับ แต่ยามที่โรคระบาดรุนแรง มุมมองของผมคือจะไม่ยอมเอาชีวิตคนอื่นมาเดิมพันแลกกับความเสี่ยงเพื่อให้ทำมาหากิน แต่ผมจะหาทางช่วยประคับประคองกันไปในช่วงเวลาสั้นๆ โดยใช้เวลาสั้นๆ นี้หาทางจัดการควบคุมโรคระบาดอย่างเคร่งครัดเด็ดขาด

เพราะผมทราบดีจากการติดตามสถานการณ์ทั่วโลกที่แสดงบทเรียนให้เห็นว่า การสู้แบบแย่บๆ ไม่มีทางน็อคตัวร้ายได้ แต่จะถูกมันน็อคในที่สุด

ผมนั้นยกย่องให้เกียรติคนทำงานหน้าด่านเสมอ ไม่ว่าเค้าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คุณตำรวจ คุณทหาร หรือแม้แต่ประชาชนชาวบ้านที่มาร่วมด้วยช่วยกันสู้กับโรคระบาด หากไม่ได้พวกเราทุกคน ไทยเราคงไม่สามารถผ่านระลอกแรกมาได้อย่างหวุดหวิด และคงไม่สามารถต้านระลอกสองมาถึงบัดนี้

สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นคือ การตัดสินใจเชิงนโยบาย และมาตรการต่างๆ เพราะหากผิดทิศผิดทาง ย่อมจะนำพาให้ทุกคนในสังคมตกอยู่ในภาวะลำบากทั้งระยะสั้นและระยะยาว

การถกแถลงให้เห็นเหตุและผลเชิงวิชาการ และข้อมูลประกอบนั้นคือสิ่งที่ยืนยันชัดเจนในเจตนารมย์ที่จะนำไปสู่การพัฒนา

นโยบายและมาตรการต่างๆ สำหรับสาธารณะนั้น หากมองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลายต่อหลายอย่างที่หากรื้อฟื้นขึ้นมาถาม คงมีคนสงสัยมากมายว่ามีเหตุผลอะไรกันแน่ เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาด ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนแข่งรถ เงื่อนเวลาในการตัดสินใจแบนนักท่องเที่ยว และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า แม้จะมีการอ้างว่านโยบายหรือมาตรการต่างๆ ผ่านกระบวนการกลุ่มที่มีตัวแทนจากที่ต่างๆ มาช่วยกันคิดหรือกลั่นกรองแล้ว ก็มิใช่ว่าจะเป็นนโยบายที่สมควรเสมอไป ดังนั้นหากเราปรารถนาดีต่อทุกชีวิตในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด ก็ย่อมที่จะต้องเปิดใจนำคำวิพากษ์วิจารณ์และคำแนะนำต่างๆ นั้นไปขบคิด และนำไปประยุกต์ใช้ ยิ่งหากเป็นชุดข้อมูลที่แตกต่างจากที่ตนเองมีครับ

จากที่ผ่านมา อยากบอกพวกเราว่า หลายต่อหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบชีวิตของคนในสังคม ได้พยายามช่วย และสู้กันอย่างเต็มที่ตลอดปีกว่าที่ผ่านมา เพื่อหวังประคับประคองประเทศให้พ้นภัยโรคระบาด หลายอย่างได้รับการนำไปใช้เป็นมาตรการ แม้จะไม่ผ่านกลไกปกติก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผ่านพ้นหลายวิกฤติมาได้

ด้วยสภาพปัจจุบัน ที่ใช้มาตรการที่ไม่ได้เข้มแบบล็อคดาวน์ แต้มต่อในการจัดการโรคอย่างสมบูรณ์คงแทบไม่มีครับหากดูจากบทเรียนของต่างประเทศ

สิ่งที่ผมคาดการณ์ว่าอาจเป็นสถานการณ์ในอนาคตที่เราจะเจอ มีดังนี้

1. จะมีการติดเชื้อแฝงในชุมชนทั่วไปได้โดยไม่รู้ตัว และมีจำนวนติดเชื้อต่อวันไปเรื่อยๆ จะเป็นหลักหน่วย หลักสิบ หรือหลักร้อยต่อวันก็แล้วแต่

2. จะมีโอกาสเกิดการระบาดซ้ำระลอกสาม และ/หรือสี่ได้ในระยะ 1-1.5 ปีถัดจากนี้ ขึ้นกับจำนวนติดเชื้อรายวันว่ามากน้อยเพียงใด และการ์ดของพวกเราทุกคนว่าเข้มแข็งหรือไม่

3. ประชาชนจำเป็นต้องป้องกันตัวเสมอ ระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทำงาน ท่องเที่ยว หรืออื่นๆ ใครที่ไม่ป้องกันตัวก็จะติดเชื้อ ป่วย หรือเสียชีวิตได้

4. วัคซีนจะยังไม่สามารถส่งผลให้คุมการระบาดได้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ราว 70% ของประชากรทั้งหมด (ประมาณคร่าวๆ จากสรรพคุณในการป้องกันเฉลี่ยของวัคซีนหลายชนิดรวมกัน ทั้งของจีน ของอังกฤษ และอื่นๆ เช่นจากอเมริกา หลังขึ้นทะเบียนมาจำหน่ายในอนาคต)

5. สำหรับการระบาดระลอกสอง ระบาดซ้ำ ระบาดใหม่ครั้งนี้นั้น ถ้าดูจากบทเรียนต่างประเทศ มีโอกาสที่จะทวีความรุนแรงขึ้นกว่านี้ และอาจไปพีคประมาณต้นถึงกลางเดือนหน้า จึงต้องระมัดระวังกันให้ดี หากใช้มาตรการเข้มข้นเต็มที่ตั้งแต่ตอนนี้จะดีกว่า มิฉะนั้นอาจมีโอกาสสู้ยาวถึงปลายมีนาคม แต่หากไม่เป็นอย่างที่คาด ก็คงจะดีครับ

6. สถานพยาบาลต่างๆ จะรับภาระหนักขึ้นเรื่อยๆ ในการสู้ระยะยาว สำหรับศึกระลอกสองครั้งนี้นั้นจะวัดกันใน 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า ถ้าเสร็จศึกก่อนก็จะดี ถ้ายืดเยื้อ คงจะเหนื่อยมาก

ในขณะที่อนาคต สถานพยาบาลคงต้องเตรียมรับมือกับวิถีใหม่ ที่จำเป็นจะต้องตรวจคัดกรองโรคโควิดในผู้ป่วยในและผู้ป่วยที่จะผ่าตัดทุกราย รวมถึงการตรวจคัดกรองในบุคลากรทุกระดับในสถานพยาบาลเป็นระยะ เพื่อป้องกันการระบาดในสถานพยาบาล เฉกเช่นเดียวกับโรงเรียนแพทย์ ที่จำเป็นต้องตรวจในเหล่านิสิตนักศึกษาแพทย์ พยาบาลและสาขาอื่นๆ ที่มาปฏิบัติงาน นอกจากนี้ผลกระทบต่อระบบบริการโรคอื่นๆ จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก คุณภาพและปริมาณที่จะให้บริการจะได้รับผลกระทบ แม้จะพยายามหาทางเลือกอื่นมาช่วย เช่น เทเลเมดิซีน การส่งยาถึงบ้าน การบริการถึงบ้าน ฯลฯ

ที่แลกเปลี่ยนมาทั้งหมดนั้น อยากจูงใจให้เราช่วยกันสู้เต็มที่ในเวลานี้ ป้องกันตัวอย่าให้ติดเชื้อ ฉุดกราฟการระบาดลงมาให้ได้

ภาพที่อยากเห็นคือ ต่อให้ไม่ประกาศล็อคดาวน์ แต่ทุกคนที่พอไหว ช่วยกันอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ใส่หน้ากาก 100% ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น และรีบไปตรวจหากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ในขณะที่ผู้ประกอบกิจการต่างๆ หากช่วยกันลดความเสี่ยงลงให้เหลือน้อยที่สุดยิ่งดี หากทำได้ในระยะ 2-4 สัปดาห์ถัดจากนี้ เราก็อาจเปลี่ยนภาพอนาคตให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้

อยากให้ประเทศไทยทำได้ครับ

ด้วยรักต่อทุกคน”

อันที่จริงแล้ว ในห้วงเวลานี้ เชื่อว่าทุกคนมองเป้าหมายปัญหาเดียว คือ พิชิตโควิด-19 ให้ได้ เพื่อชีวิตพี่น้องคนไทยทั้งนั้น ส่วนความคิดอาจจะ ‘แตกต่าง’ แต่ยังไงเสียก็ขออย่า ‘แตกแยก’ กันเลยนะคุณหมอ ให้กำลังใจทุกฝ่ายจ้า...


ที่มา: เพจ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ / เพจ Thira Woratanarat